เปิดแผน 'คมนาคม' สู้คดีเขากระโดง พลิกกฎหมายเอาผิด 'กรมที่ดิน'

เปิดแผน 'คมนาคม' สู้คดีเขากระโดง พลิกกฎหมายเอาผิด 'กรมที่ดิน'

“คมนาคม” สั่งทีมกฎหมายเดินหน้าสู้คดี “เขากระโดง” เปิด 10 หลักฐานชี้ชัดเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์การรถไฟ เตรียมงัด ม.157 ฟ้อง “อธิบดีกรมที่ดิน” พร้อมลุยตรวจสอบสัญญาเช่าที่ดินรายบุคคล หลังก่อนหน้านี้ประชาชนเคยทำสัญญาเช่าจากการรถไฟ เชื่อเป็นหลักฐานสำคัญ

KEY

POINTS

  • “คมนาคม” สั่งทีมกฎหมายเดินหน้าสู้คดี “เขากระโดง” เปิด 10 หลักฐานชี้ชัดเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์การรถไฟ สมัยสร้างแนวเส้นทางนครราชสีมา – อุบลราชธานี เมื่อปี 2462
  • เตรียมพลิกกฎหมายสู้ 3 กรณี ฟ้องม.157  “อธิบดีกรมที่ดิน” พร้อมลุยตรวจสอบสัญญาเช่าที่ดินรายบุคคล และจ่อเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง หากไม่เพิกถอนโฉนด 
  • ระบุหลักฐานสำคัญประชาชนเคยทำสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟ จึงเป็นหลักฐานที่ยอมรับได้ว่าที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์โดยการรถไฟฯ และผู้อาศัยนั้นเป็นเพียงผู้เช่า จึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินทับซ้อนได้

กระทรวงคมนาคม สั่งทีมกฎหมายเดินหน้าสู้คดีเขากระโดง โดยยึดเอกสาร 10 ชิ้น ที่ชี้ชัดเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตั้งแต่สมัยการสร้างแนวเส้นทางนครราชสีมา-อุบลราชธานี เมื่อปี 2462 และประเด็นสำคัญที่ถูกจบตา คือ ม.157 ที่กระทรวงคมนาคมจะเอผิดกับอธิบดีกรมที่ดิน กรณีไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล

รฟท.มีหลักฐานประกอบและยืนยันกรรมสิทธิ์ ซึ่งได้ชี้แจงไปยังอธิบดีกรมที่ดินเพื่ออุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิที่ดินเขากระโดง โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถยืนยันว่าที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินของการถไฟแห่งประเทศไทย ตามกฎหมาย นอกเหนือจากแผนที่ปี 2539 ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ถึง 10 ประเด็น ประกอบด้วย

1.พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจาก นครราชสีมา-อุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462

2.พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างวันที่ 28 ส.ค. 2463

3.พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตทางรถไฟแผ่นดิน ต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี วันที่ 25 พ.ย.2464

4.พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างวันที่ 7 พ.ย.2464

5.พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494

6.พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างวันที่ 22 ธ.ค.2465

7.หนังสือกรมรถไฟแผ่นดิน เลขที่ ค.อ. 508/67 ลงวันที่ 24 พ.ย.2467

8.กรมรถไฟแผ่นดิน สายโคราช-อุบล แผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรำ กิโลเมตร์ 375+650 มาตรา 1 : 40000

9.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 – 876/2560 และที่ 8027/2562 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563

10.คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566

เปิดแผน \'คมนาคม\' สู้คดีเขากระโดง พลิกกฎหมายเอาผิด \'กรมที่ดิน\'

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่ รฟท.ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน เพื่ออุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิที่ดินเขากระโดง เรื่องนี้เป็นขั้นตอนปฏิบัติที่กระทรวงคมนาคมจำเป็นต้องทำเพื่อชี้แจงถึงรายละเอียดหลักฐานการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ 

รวมทั้งเรื่องนี้กรมที่ดินควรปฏิบัติตามคำสั่งของศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่พิจารณาแล้วว่าที่ดินเขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ ดังนั้นเมื่อกรมที่ดินวินิจฉัยต่างจากคำตัดสินของศาล การรถไฟฯ ก็มีความจำเป็นต้องโต้แย้ง

“กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย และทางการรถไฟฯ พิจารณาข้อมูลทุกด้านเพื่อพิสูจน์การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีการออกโฉนดทับซ้อน ส่วนเรื่องแนวทางทางกฎหมายที่กระทรวงฯ จะดำเนินการหลังจากนี้ ปัจจุบันฝ่ายกฎหมายกำลังศึกษาอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนนี้” นายสุริยะ กล่าว

ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการพิจารณาอยู่ 3 ประเด็น คือ 

1.แนวทางการฟ้องร้องดำเนินคดีตาม ม.157 กับอธิบดีกรมที่ดิน ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรัฐ หากอธิบดีกรมที่ดินไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกให้กับประชาชนในพื้นที่ทับซ้อน 

2.หาข้อมูลเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าที่ดิน หรือการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ทับซ้อนของผู้ครอบครองรายบุคคล เพื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับสัญญาเช่าที่ดินทั้งหมด

3.ฟ้องศาลปกครอง กรณีที่กรมที่ดินไม่เพิกถอนโฉนดตามพิพากษาของศาล

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีข้อมูลยืนยันได้ว่าการรถไฟฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินเขากระโดง ซึ่งรายละเอียดหลักฐานได้ชี้แจงไปยังอธิบดีกรมที่ดินแล้ว โดยมีรายละเอียดถึง 20 หน้า มีข้อมูลประกอบทั้งส่วนของที่มาของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 

ซึ่งการรถไฟฯ ได้รับตั้งแต่ปี 2462 เพื่อก่อสร้างทางรถไฟหลวงต่อจาก นครราชสีมา-อุบลราชธานี รวมไปถึงรายละเอียดของคำพิพากษาศาลต่างๆ ที่เคยพิจารณาเกี่ยวกับข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนนี้

ส่วนกรณีของการยุติข้อพิพาทนี้ มีความเป็นไปได้ในการหารือกับประชาชนเพื่อทำสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ หรือไม่นั้น นายสุริยะ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องในอนาคต การทำสัญญาเช่าเป็นรายบุคคลเป็นเรื่องที่ปัจจุบันกระทรวงฯ ยังไม่ได้พิจารณา เพราะปัจจุบันต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำตัดสินของกระบวนการทางกฎหมาย ตามที่ศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ดำเนินการก่อน

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยว่า ขณะนี้นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เสนอเรื่องเข้าสู่อนุกรรมการกฎหมายฯ ของการรถไฟฯ เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการที่เป็นธรรม เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของราชการ และข้อกฎหมาย เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับประเด็นการออกโฉนดทับซ้อนบริเวณเขากระโดง 

โดยขอให้อนุกรรมการกฎหมายฯ เสนอแนวทางการดำเนินการเข้าสู่คณะกรรมการ (บอร์ด) รถไฟเพื่อทราบ และเพื่อที่จะได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป

ส่วนกรณีที่จะมีการฟ้องมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรัฐ หากกรณีอธิบดีกรมที่ดินยังไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลฯ ให้เพิกถอนนั้น ปัจจุบันการรถไฟฯ มองว่าต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการตามกฎหมายหากพิจารณาแล้วเห็นว่า เจ้าพนักงานของกรมที่ดิน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถือเป็นอาญาแผ่นดิน โดยรัฐเป็นผู้เสียหาย

แต่หากกรมที่ดินปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯ ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกทับซ้อนในบริเวณเขากระโดง เบื้องต้นการรถไฟฯ ได้วางกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ไว้ โดยให้ประชาชนสามารถขอเช่าที่ดินบริเวณดังกล่าวในหลายรูปแบบ อาทิ การเช่าสำหรับอยู่อาศัย การเช่าสำหรับทำการเกษตร หรือการเช่าสำหรับเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า การรถไฟฯ มั่นใจว่าที่ดินเขากระโดงที่มีข้อพิพาทอยู่นั้นเป็นที่ดินที่การรถไฟฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะพื้นที่เหล่านี้เป็นที่ดินที่มีพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้แก่การรถไฟฯ เป็นเนื้อที่ 5,083 ไร่ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาให้เป็นที่ดินของการรถไฟฯ

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า จากหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งหมดนั้น แสดงให้เห็นแล้วว่าการรถไฟฯ เป็นผู้ริเริ่มเข้าไปยังพื้นที่เขากระโดง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างทางรถไฟ และได้มีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ชัดเจนแล้ว 

ดังนั้นที่ดินในบริเวณเขากระโดงจึงถือเป็นกรรมสิทธิ์โดยการรถไฟฯ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา ยังมีประชาชนในพื้นที่อาศัยนั้น ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากการถไฟฯ เพื่อขออยู่อาศัย ดังนั้นสะท้อนได้ว่าการรถไฟฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ไม่เช่นนั้นเหตุใดจึงเคยมีสัญญาเช่า และมีการจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กับการรถไฟฯ

โดยปัจจุบันการรถไฟฯ ยังคงมีหลักฐานบันทึกการประชุม เรื่อง ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2513 ซึ่งมีการระบุในรายละเอียดทำสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟฯ โดยมีรายละเอียดระบุว่า วันนี้ได้มีการประชุมร่วมกันโดยมี นายชัย ชิดชอบ, นายประสิทธิ จุลละเกศ, นายยุกต์ เจียรพันธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รถไฟ โดยมีผู้ว่าการการรถไฟฯ ในสมัยนั้นเข้าร่วมประชุมด้วย

ซึ่งผลของการประชุมเป็นที่ตกลงกันบางส่วนว่านายชัย ชิดชอบ และจำเลยอื่นๆ จะไปทำยอมความที่ศาล โดยยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ และไม่ขอต่อสู้คดีต่อไป อีกทั้งนายชัย ชิดชอบ ขออาศัยที่ดินพิพาทจากการรถไฟฯ และการรถไฟฯ ตกลงยินยอมให้อาศัย ซึ่งจะทำสัญญาอาศัยกันต่อไป ซึ่งหลักฐานการประชุมนี้ จึงเป็นหลักฐานที่ยอมรับได้ว่าที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์โดยการรถไฟฯ และผู้อาศัยนั้นเป็นเพียงผู้เช่า จึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินทับซ้อนได้