5 นโยบายพลังงาน 'ระส่ำ' 'พีระพันธุ์' ค้านวาระร้อน
5 นโยบายพลังงานระส่ำ “พีระพันธุ์” เบรก "ประมูลไฟสะอาด-กฟผ. ขนถ่านหินแม่เมาะ-สรรหาบอร์ด กกพ.-เก็บภาษีคาร์บอนน้ำมัน" คลัง ยันเก็บภาษีกระทบไม่มาก ประชุม กพช.เครียดถกคุณสมบัติผู้ร่วมรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน นายกฯ สั่งเดินหน้าเร็วที่สุด หนุนดึงลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์
ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งเบรกหลายโครงการ และมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับหลายนโยบายด้านพลังงาน ประกอบด้วย
1.ระงับการสรรหากรรมการสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานให้ระงับการสรรหาไปก่อนจนกว่าจะแจ้งให้ราบ
สำหรับการสรรหาครั้งนี้เพื่อทดแทนกรรมการที่ครบวาระ 4 คน โดยระบุว่าปรากฏเหตุอันสมควรที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงานแทนตำแหน่งที่ว่างลง
2.ระงับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดยทำหนังสือด่วนที่สุดให้ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระงับการดำเนินการ ซึ่งเป็นการเสนอวิธีพิเศษในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท ของบริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SQ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลงานมูลค่าสัญญา 7,170 ล้านบาท
การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึหลังจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ยื่นอุทธรณ์ขอความเป็นธรรม จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ
3.การเก็บภาษี Carbon Tax ในเชื้อเพลิงน้ำมัน โดยที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้ยกตัวอย่างน้ำมันดีเซล ภาษีสรรพสามิตตามปริมาณ 6.44 บาท/ลิตร และเมื่อปรับเป็นภาษีสรรพสามิตเมื่อปรับให้มี Carbon Price 6.44 บาท/ลิตร (รวมภาษีคาร์บอน 0.55 บาท) โดยกระทรวงพลังงานเห็นว่าเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน
4.การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา โดยเห็นว่าการเจรจาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องหาทางออกกรณีบริษัทต่างชาติได้รับสัมปทานต่อเนื่อง เช่น เชฟรอน
5.ระงับประมูลรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน Feed-in Tariff เฟส 2 กำลังการผลิต 3,600 เมกะวัตต์ กลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม โดยต้องเปิดประมูลเป็นการทั่วไปแทนการให้สิทธิผู้ยื่นประมูลเฟส 1 ซึ่งได้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีให้ความระงับการประมูล และการประมูลมีการโต้แย้งจากบุคคลภายนอก
วันที่ 26 พ.ย.2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งแรก โดยบรรยากาศตึงเครียดใช้เวลานาน 3 ชั่วโมง ซึ่งที่ประชุมได้หารือหลักเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ถูกสั่งระงับการประมูล
ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ สั่งทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์แล้ว โดยการรับซื้อไฟฟ้า 2,100 เมกะวัตต์ ต้องเปิดประมูลเป็นการทั่วไปแทนการให้สิทธิ์ผู้พลาดจากการประมูลรอบแรก ส่วนที่เหลือ 1,400-1,500 เมกะวัตต์ ต้อง Open-Bid หรือประมูลเป็นการทั่วไป
“นายกฯ-พีระพันธุ์”ความเห็นต่างเรื่องพลังงาน
ทั้งนี้ หลังการประชุม กพช.แจ้งยกเลิกการแถลงข่าวผลการประชุม และเปลี่ยนเป็นการส่งข่าวแจกให้ผู้สื่อข่าว โดยที่ผ่านมานายพีระพันธุ์ ไม่เคยแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี หรือ น.ส.แพทองธาร
ขณะที่การประชุม กพช.ในช่วงแรก นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีการหาข้อมูลพูดคุยกับทีมงานคิดว่าทำได้ดีมากอยู่แล้ว โดยเรื่องพลังงาน ขอให้ดูราคาเพราะมีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และเป็นต้นทุนหลายอย่าง
รวมทั้งจากการร่วมประชุมในต่างประเทศให้ความสนใจพลังงานสะอาดมากจึงอยากให้โฟกัสมากขึ้น ทั้งการลงทุนเพื่อให้ประโยชน์ และการขยายพลังงานสะอาดขอให้ทำตามแผนที่วางไว้อย่างรวดเร็ว
ขอให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์และการคัดเลือกพลังงานหมุนเวียนให้เสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะการขายพลังงานโดยตรง (direct PPA) ให้ดูราคาที่แข่งขันได้ และทราบว่ามาเลเซียมีราคาค่อนข้างแพง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไทยแข่งขันได้และจะดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น
เผย“พีระพันธุ์”เห็นต่างรัฐบาลเพื่อไทย
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การทำงานร่วมกันในรัฐบาลระหว่างนายกรัฐมนตรีและนายพีระพันธุ์ไม่ราบรื่นนัก เพราะนโยบายพรรคเพื่อไทยต้องการเดินหน้าด้านพลังงาน ทั้งการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ตามกรอบ MOU44
ทั้งนี้นายพีระพันธุ์ แสดงความไม่เห็นด้วยและบอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง ทั้งที่กระทรวงพลังงานเป็นกระทรวงหลักเมื่อเข้าขั้นตอนการหารือเพราะมีปริมาณปิโตรเลียมจำนวนมาก
ส่วนประเด็นประมูลรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกกะวัตต์ กระทบแผนการดึงการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์จากต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่ต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเงื่อนไขการลงทุน โดยการทำให้ล่าช้ากระทบแผนดึงการลงทุนของรัฐบาล
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีและทีมงานตั้งคำถามถึงการทำงานของนายพีระพันธุ์ จากกรณีที่ระงับการดำเนินการของคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งที่การแต่งตั้งกรรมการสรรหาได้ผ่าน ครม.แล้ว และตอนที่นายพีระพันธุ์ อยู่ใน ครม.ไม่คัดค้านเรื่องนี้ แต่ออกมาคัดค้านระงับการทำงานจนทำให้การสรรหาล่าช้า
“คลัง”ชี้ภาษีคาร์บอนกระทบไม่มาก
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ที่มีแผนเสนอ ครม.ปลายปี 2567 แต่มีประเด็นกระทรวงพลังงานไม่เห็นด้วย ว่า เรื่องนี้ไม่น่ามีการคัดค้านเพราะว่าไม่ได้มีผลกระทบมาก มีผลกระทบเพียงเล็กน้อย คิดว่ากระทรวงพลังงานไม่น่าจะคัดค้านในเรื่องนี้
รายงานข่าวระบุว่า กรมสรรพสามิตได้จัดทำรายละเอียดภาษีคาร์บอนไว้แล้ว โดยใช้โมเดลของญี่ปุ่นที่มีการรวมภาษีคาร์บอนไว้ในภาษีสรรพสามิต โดยกรมสรรพสามิตยืนยันว่าระยะแรกไม่มีผลกระทบทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เช่น น้ำมัน
เหตุผลเบรกสรรหา กกพ.-ประมูลไฟฟ้า
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระงับการสรรหากรรมการ กกพ.เพราะต้องการให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ โดยเฉพาะในประเด็นที่เคยอยู่ในบริษัทพลังงานที่อาจมีผลต่อการทำงานในหน้าที่ กกพ.
ส่วนการประมูลรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ต้องการให้มีการเปิดกว้างสำหรับผู้ยื่อนเข้าประมูล โดยข้อกำหนดเดิมเป็นการให้สิทธิ์ผู้ยื่นประมูลในเฟส 1 สามารถเสนอเข้าประมูลในเฟส 2 ได้
นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ เคยออกมาระบุว่าไม่ได้มีปัญหาในการทำงานระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แต่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับแนวทางการทำงาน
แนะไม่เก็บภาษีคาร์บอนกับน้ำมัน
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาษี Carbon Tax นั้น ประเทศใหญ่ๆ อย่างอเมริกา และยุโรปไม่ได้ไปเก็บในน้ำมัน ดังนั้น หากต่างชาติเก็บแบบไหนไทยก็ควรเก็บแบบนั้น เพราะจะไปก่อให้เกิดการเก็บภาษีซ้อน ซึ่งหมายความว่า หากประเทศไทยเก็บภาษี Carbon Tax แล้วประเทศอื่นก็จะมาเก็บอีกไม่ได้ ถือเป็นสัญญาระหว่างประเทศ ดังนั้น การคิด Carbon Tax ของไทยที่จะเอาให้ไปอยู่ในน้ำมันถือว่าคนละเรื่องกัน
นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ อาจมองผลกระทบราคาน้ำมันแม้จะไม่มากก็ตาม แต่ควรไปเน้นเก็บสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่สูง หากเกินกว่าพิกัดก็จะเก็บภาษีชิ้นนั้นแพงกว่าที่อื่น
ด้วยประเทศไทยก็ต้องคิดเรื่องการผลิตสินค้าที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่ต่ำ แต่จะไปเก็บในน้ำมัน ซึ่งแม้กำลังจะพูดเรื่องเดียวกันแต่คนละวิธี ซึ่งคำถามว่าถ้าเรามี Carbon Tax ที่เก็บจากน้ำมันจะมีภาษีสรรพสามิตซ้ำซ้อนได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะไม่ได้ให้เครมจากสหภาพยุโรปด้วยซ้ำเพราะคนละเรื่องกัน
สำหรับการแก้ปัญหาคือ ควรลดภาษีนิติบุคคลและเอาภาษีที่เก็บมาเป็น Carbon Tax จะก่อให้เกิดการแข่งขันด้านการผลิตสินค้าที่ลดคาร์บอน ซึ่งการคิดมี 2 ประเภท คือ สินค้าคาร์บอนต่ำและองค์กรคาร์บอนต่ำ ดังนั้นมาตรการการบังคับใช้กติกาใหม่ของยุโรปในการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) ที่เป็นตัวบังคับทุกองค์กรให้ต้องทำ หากไม่ทำคะแนนองค์กรจะลดลงด้วย
“ไทยคิดจะเก็บภาษีคาร์บอนในน้ำมันจึงผิดไม่ใช่หลักสากล และเก็บซ้ำซ้อนไม่ได้ แม้จะเป็นขั้นตอนการกีดกันการค้าแบบหนึ่งแต่ในขณะเดียวกันก็จะไปโยงเรื่องของการเก็บภาษีซ้อน ตอนนี้รัฐมนตรีมุ่งทุกวิธีทางเพื่อทำให้น้ำมันราคาถูก เพราะต้องลดภาระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 24 พ.ย. 2567 ติดลบ 85,997 ล้านบาท และเงินกู้อีกรวม 105,333 ล้านบาท จึงมองว่าอย่ามาแตะเรื่องของน้ำมัน จึงไม่เห็นด้วยที่จะเอาภาษี Carbon Tax มาอยู่ในน้ำมัน”