กฟผ.ย้ำประมูลขุดขนถ่านหินโปร่งใส 'พีระพันธุ์' เบรกโปรเจกต์ดันค่าไฟแพง

กฟผ.ย้ำประมูลขุดขนถ่านหินโปร่งใส 'พีระพันธุ์' เบรกโปรเจกต์ดันค่าไฟแพง

กฟผ. ชี้ขุดเหมืองแม่เมาะ 7 พันล้านโปร่งใส 'พีระพันธุ์' สั่งเบรกทำค่าไฟแพง ระบุ ITD ขาดคุณสมบัติด้านเครื่องจักรและแผนงานขุดเจาะ

รายงานข่าวระบุว่า จากกรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีคำสั่งด่วนที่สุด ให้ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระงับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดย "วิธีพิเศษ" ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท 

จากการที่ บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SQ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลงานมูลค่าสัญญา 7,170 ล้านบาท ไว้ก่อน หลังจาก อิตาเลียนไทย (ITD) ยื่นอุทธรณ์ขอความเป็นธรรม จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ

แหล่งข่าวจาก กฟผ. เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า หาก กฟผ. ยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้และดำเนินการใหม่ อาจแสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส ที่ต้องการให้ผู้ที่มีข้อเสนอไม่ตรง TOR ได้เสนอราคาใหม่อีกครั้ง โดยไปตัดสิทธิ์ผู้ที่มีข้อเสนอตรงตาม TOR ทำให้มีความเสี่ยงต่อการอุทธรณ์และร้องเรียนจากผู้ที่เสนอราคาที่มีข้อเสนอถูกต้องตามเงื่อนไขใน TOR และส่งเอกสารครบถ้วนตามที่ กฟผ. กำหนด

นอกจากนี้ ยังทำให้ไม่สามารถส่งถ่านหินได้เพียงพอกับความต้องการของการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ ทำให้ต้องลดกำลังการผลิตลง และต้องผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอื่นที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงทดแทน เช่น โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว

อย่างไรก็ตาม การจ้างโดยวิธีพิเศษครั้งนี้เป็นการเชิญชวนบริษัทที่มีประสบการณ์ในงานเนื่องจากเป็นงานที่ต้องจ้างโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่งาน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับของ กฟผ. ซึ่ง ITD เป็นหนึ่งในบริษัทที่ กฟผ. เชิญชวนให้เข้ามายื่นข้อเสนอด้วยวิธีประกวดราคาครั้งนี้ด้วยเช่นกัน 

ทั้งนี้ ทาง ITD มีข้อเสนอและรายละเอียดไม่ตรงตามขอบเขตของโครงการฯ และเงื่อนไขเฉพาะงาน จึงถูกตัดสิทธิ์จากการประมูล อาทิ 

1. เครื่องโม่ดินมีรายงานผลการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรกลหลักไม่ครบตามจำนวนที่เสนอ

2. สายพานลำเลียงดินและเครื่องโปรยดิน ไม่มีแผนการปรับปรุงสภาพ (Reconditioning) ก่อนการทำงาน

3. แบบดำเนินการที่เสนอมาขุดนอกขอบเขตพื้นที่การทำงานที่กำหนด ซึ่งแตกต่างจากแบบแปลนเหมืองที่ กฟผ.กำหนด

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขใน TOR นั้น ผู้เสนอราคาจะต้องเสนอรายงานผลการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรกลหลักซึ่งทำการตรวจสอบสภาพโดย กฟผ. ที่ต้องเชื่อถือได้ พร้อมทั้งแผนการปรับปรุงสภาพของเครื่องจักรกล ดังนั้น กฟผ. จึงถือว่าผู้เสนอราคารายไม่ผ่านการพิจารณาด้านวิชาการ

"ยิ่งไปกว่านั้น ITD ยังมีประวัติความไม่พร้อมของการทำงานในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้ง เมื่อรวมกับ 3 ข้อเสนอที่ไม่ตรงกับ TOR ก็ยิ่งทำให้เป็นข้อมูลสนับสนุนที่ดี ดังนั้น หากโครงการล่าช้าต้นทุนผลิตไฟฟ้าของกฟผ. ก็จะเพิ่มขึ้น ก็จะกระทบกับค่าไฟฟ้าของประชาชนด้วยเช่นกัน" แหล่งข่าว กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกข่าวประชาสัมพันธ์ต่อเรื่องนี้ว่า ขอเรียนแจ้งความคืบหน้าถึงกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีหนังสือสั่งให้ กฟผ. ระงับการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง สัญญาที่ 8/1 ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วเสร็จว่า กฟผ. ได้รับข้อสั่งการแล้ว ขณะนี้ กฟผ. ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกรณีงานจ้างขุด-ขนถ่านหิน ที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 ยึดหลักความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม ตามระเบียบ ข้อบังคับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

โดยปัจจุบันคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ดำเนินการพิจารณาตามคำร้องตามที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ยื่นอุทธรณ์ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และจะเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พร้อมหลักฐานและข้อวินิจฉัย และผู้ว่าการ กฟผ. เพื่อรายงานรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อไป

ทั้งนี้ กฟผ. ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กฟผ. บริหารการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยจะบริหารจัดการเชื้อเพลิงถ่านลิกไนต์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้าและต้นทุนราคาพลังงานของประเทศ