จาก "หมูเด้ง" สู่ "หมอ(คาง)ดำ" บทเรียนเขย่าระบบนิเวศและเศรษฐกิจ
นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “หมูเด้ง” ลูกฮิปโปแคระจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวของไทย แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า จริงๆ แล้วสวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีฮิปโปแคระนับสิบตัว โดยหมูเด้งเป็นลูกตัวที่ 7 ของแม่ฮิปโปแคระที่นี่
แต่ด้วยอานุภาพแห่งโลกออนไลน์ หมูเด้งจึงกลายเป็นกระแสระดับ global supermeme หรือที่สุดของมีมในโซเชียล รวมไปถึงสื่ออื่นๆ ทั่วโลกเลยทีเดียว
ไม่เว้นแม้แต่โพลวัดความนิยมผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่มีการแซวผู้สมัครทั้งสองว่าคะแนนรวมกันยังไม่ถึง 10% ส่วนหมูเด้งได้เกือบร้อยเต็ม
สำหรับฮิปโปแคระพ่อแม่ของหมูเด้งนั้น ไทยได้รับจากสวนสัตว์สิงคโปร์เมื่อราวปี 2545 แต่ถิ่นกำเนิดที่แท้จริงอยู่ในทวีปแอฟริกา ทวีปเดียวกับฮิปโปโปเตมัส ญาติห่างๆ ที่มีขนาดต่างกันถึง 10 เท่า และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยทางธรรมชาติทวีปเดียวของฮิปโปทั้งสองประเภท
ย้อนไปเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว เจ้าพ่อค้ายาเสพติดชื่อก้องโลก ปาโบล เอสโกบาร์ (Pablo Escobar) ได้นำเข้าฮิปโป 4 ตัว พร้อมกับสัตว์นานาชนิดทั้งสิงโต เสือชีตาห์ เสือโคร่งและนกกระจอกเทศ มาไว้ในสวนสัตว์ส่วนตัวในบ้านพักของเขาที่ประเทศโคลอมเบีย
หลังจากเขาถูกวิสามัญฆาตกรรมในปี 2536 ทางการโคลอมเบียได้เข้าไปจัดการกับสัตว์ป่าเหล่านั้น ยกเว้นเจ้าฮิปโป 4 ตัวที่มีขนาดใหญ่และดุร้าย เจ้าหน้าที่ก็เลยปล่อยเลยตามเลยทิ้งไว้แบบนั้น จนกระทั่งพวกมันย้ายไปตั้งถิ่นฐานบริเวณแม่น้ำมักดาเลนา (Magdalena) ซึ่งอยู่ใกล้บ้านของเอสโกบาร์
จากวันนั้นจนวันนี้ ฮิปโปของเอสโกบาร์ได้ขยายพันธุ์จาก 4 กลายเป็นเกือบ 200 ตัว และประมาณการว่าน่าจะแตะ 500 ตัวในอีก 25 ปีข้างหน้า
ประเด็นอยู่ที่ ฮิปโปเป็นสัตว์ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในน้ำและขับถ่ายปริมาณมากถึง 20-25 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งมูลของมันประกอบด้วยสารไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ที่ทำให้พืชน้ำและสาหร่ายขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
จนเกิดปรากฏการณ์ “สาหร่ายสะพรั่ง” (Eutrophication) ซึ่งเป็นมลภาวะจากธาตุอาหารพืชที่ทำให้ออกซิเจนในน้ำของแม่น้ำมักดาเลนา ลดลงจนถึงจุดที่สิ่งมีชีวิตในน้ำ เช่น ปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ไม่สามารถอยู่รอดได้
นอกจากนี้ บรรดาไม้น้ำและหญ้าก็ถูกฝูงฮิปโปบริโภคไปเป็นจำนวนมาก จึงเกิดการแย่งอาหารของสัตว์อื่นในบริเวณนั้น จนลุกลามไปถึงปัญหาด้านการถดถอยของความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity)
ฮิปโปแห่งโคลอมเบียจึงกลายเป็นวาระของโลก บรรดาองค์กรสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าระหว่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลหลายๆ ประเทศ ต่างเรียกร้องให้มีมาตรการแก้ไขปัญหานี้ ห
นึ่งในสาเหตุสำคัญเป็นเพราะแม่น้ำที่ไม่มีพรมแดน ทำให้ปัญหาที่เกิดในแม่น้ำมักดาเลนาส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังแหล่งน้ำในประเทศข้างเคียงอย่างเลี่ยงไม่ได้
เรื่องสัตว์ต่างถิ่นรุกรานระบบนิเวศสำหรับกรณีฮิปโปนี้ ไม่ต่างอะไรกับปัญหา ปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) พันธุ์ปลาต่างถิ่นที่มีต้นกำเนิดจากทวีปแอฟริกา ที่ข้ามทวีปมาสร้างความปวดหัวให้พี่น้องชาวไทยอยู่ในเวลานี้
ปลาหมอคางดำกลายเป็นประเด็นร้อนที่สร้างความกังวลต่อระบบนิเวศน้ำจืดและอุตสาหกรรมประมงของไทย หลังจากที่ถูกนำเข้ามาเพาะเลี้ยงในไทย เนื่องจากเป็นปลาที่เติบโตได้เร็ว ทนต่อสภาวะน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ
และยังสามารถปรับตัวกับแหล่งน้ำที่เปลี่ยนแปลงได้ดี แต่จากการควบคุมที่ไม่เข้มงวด ทำให้ปลาหลายตัวหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และก่อให้เกิดปัญหาหลายประการที่ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
ด้วยความที่ปลาหมอคางดำเป็นนักล่าที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก และพืชน้ำ รวมถึงแทบไม่มีศัตรูธรรมชาติในระบบนิเวศของไทย จึงเปิดโอกาสให้พวกมันสร้างความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำธรรมชาติได้อย่างมาก
และทำให้ปลาพื้นถิ่นของไทยในหลายพื้นที่ลดลงอย่างน่าตกใจ สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำแห่งชาติรายงานว่า หลายพื้นที่ที่มีการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำ ส่งผลให้ปลาพื้นเมืองลดลงกว่าร้อยละ30
กรณีในลักษณะเดียวกับปลาหมอคางดำไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น หากมองให้ใกล้ตัวเราสักหน่อย เราจะเห็นกรณีการทำบุญด้วยการปล่อยสัตว์สู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
โดยเฉพาะการ “ปล่อยปลาหน้าเขียง” ที่เชื่อกันว่า การนำปลาที่กำลังจะถูกฆ่าเพื่อไปทำอาหารไปปล่อย คือการช่วยชีวิตอย่างยิ่งใหญ่และส่งผลบุญอันใหญ่ยิ่งกลับมายังผู้ปล่อย
รวมถึงการปล่อยสัตว์ตามตำราแก้เคล็ดต่างๆ ด้วยการเลือกชื่อสายพันธุ์ที่จะปล่อยให้เข้ากับปัญหาที่ตนกำลังประสบอยู่ หรือชื่อที่เชื่อว่าเป็นสิริมงคล โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมระหว่างสายพันธุ์ที่ปล่อยกับสถานที่ปล่อย รวมถึงบางครั้งและบางคนก็ปล่อยปลาทีละจำนวนมาก
พฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้หน่วยงานรัฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ และบรรดานักอนุรักษ์ต้องออกโรงเตือนอยู่เสมอ ว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศในระยะยาว
เนื่องจากหลายกรณี สัตว์ที่นำไปปล่อยเป็นสัตว์ต่างถิ่น (Invasive species) และเป็นสัตว์นักล่าที่สามารถรุกรานและเขมือบสัตว์น้ำพื้นถิ่นที่มีความสำคัญต่อแหล่งน้ำนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น บรรดาลูกสัตว์น้ำของสัตว์เศรษฐกิจพื้นถิ่นและสัตว์หายาก หรือสัตว์ขนาดเล็กที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ขนาดใหญ่ในพื้นที่นั้น
ปรากฏการณ์ปลาหมอคางดำ รวมถึงธรรมเนียมการปล่อยสัตว์ลงน้ำในสังคมไทยข้างต้น ก็คล้ายกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากฮิปโปในโคลอมเบีย แต่ด้วยความที่ปลาหมอเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก จึงมีจำนวนมหาศาลและขยายอาณาเขตของปัญหาไปไกลกว่าฮิปโปมาก
ปัญหาของปลาหมอคางดำจึงซับซ้อนและต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อแก้ไขอย่างยั่งยืน
แต่ถึงแม้จะยากแค่ไหน ก็หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้ ตั้งแต่แนวทางการควบคุมการเพาะเลี้ยงอย่างเข้มงวด โดยหน่วยงานรัฐควรมีมาตรการตรวจสอบและติดตามฟาร์มเลี้ยงปลาทุกชนิดที่มีศักยภาพในการทำลายระบบนิเวศอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกันการฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการเพาะพันธุ์ปลาพื้นถิ่นเพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศได้
ข้อมูลจากกรมประมงระบุว่า โครงการปล่อยพันธุ์ปลาพื้นถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถเพิ่มจำนวนปลาพื้นถิ่นได้กว่าร้อยละ20 ในช่วง3 ปีที่ผ่านมา
และท้ายสุด การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อค้นหาวิธีการในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำ อย่างการใช้สารเคมีเฉพาะที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือการใช้วิธีทางชีวภาพอย่างเร่งด่วน ก็จำเป็นต้องนำมาปรับใช้โดยเร็ว
ก่อนที่ปลาหมอคางดำจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหารของไทยในอนาคต.