อุตฯ การบินปรับทัพฝ่าพิษโควิด ชูกลยุทธ์ “พาร์ทเนอร์” ฟื้นรายได้
อุตสาหกรรมการบินพร้อมใจกางกลยุทธ์ “พาร์ทเนอร์” ลุยวิกฤตโควิด-19 “การบินไทย” ลั่นเดินหน้ายั่งยืน ต้องจับมือแอร์ไลน์เชื่อมเส้นทางบิน ทอท.รับปี 2565 ท้าทาย พยุงผู้ประกอบการในห่วงโซ่ เดินหน้าเพิ่มรายได้นอนแอโรว์
นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉายภาพถึงการถอดบทเรียนโควิด -19 สู่แผนฝ่าวิกฤตในปี 2565 โดยระบุว่า หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากว่า 2 ปี การบินไทยซึ่งเป็นสายการบินที่มีเส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศ เมื่อมีการประกาศปิดน่านฟ้า ผลกระทบโดยตรงคือการขนส่งผู้โดยสารกลายเป็น 0 แต่กลับพบว่ามีโอกาสในการเพิ่มรายได้เกิดขึ้นจากการขนส่งสินค้า กลายเป็นการภาพรวมธุรกิจที่มีการเติบโตในลักษณะตัว K คือ ผู้โดยสารลดลงแต่คาร์โก้กับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี จากทิศทางรายได้ที่ปรับตัวในลักษณะตัว K ทำให้การบินไทยปรับแผนดำเนินธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการหาลูกค้าเพื่อเพิ่มรายได้จากการขนส่งสินค้า เนื่องจากการบินไทยยังคงต้องให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศ เพื่อรับส่งผู้โดยสารคนไทยกลับบ้าน ทำให้มีค่าใช้จ่ายทำการบินจำนวนมาก หากเทียบกับปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการ จึงต้องปรับกลยุทธ์เน้นหารายได้จากการขนส่งสินค้า
นอจกากนี้ โควิด-19 ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น จากการทำความสะอาดเครื่องบินและการฉีดวัคซีนพนักงาน จากเดิมที่ต้นทุนเหล่านี้ไม่มากนัก โดยเฉพาะการทำความสะอาดเครื่องบินเดิมจะทำในเที่ยวบินสุดท้ายของวัน แต่ปัจจุบันต้องทำทุกเที่ยวบิน เรียกว่าโควิดเป็นผลกระทบมากมายมหาศาล ทำให้การบินไทยต้องกลับมาทบทวนความจำเป็นของการปรับลดฝูงบินเพื่อลดต้นทุน
“สองปีที่ผ่านมาเป็นเวลานานแต่เราถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัว แม้ว่าธุรกิจการบินต้องอาศัยรายได้ผสมผสานสองฝั่ง ทั้งการเดินทางขาเข้าและขาออก แต่เมื่อเปิดประเทศดีมานด์ขาเข้าเพิ่มขึ้น แต่ขาออกยังไปไม่ได้ แต่การบินไทยเราปรับตัวยังคงบินอยู่ โดยหารายได้ขาออก คือการขนส่งสินค้า ทดแทนขาออกของผู้โดยสารที่ไปไม่ได้”
อย่างไรก็ดี การบินไทยมองว่าสิ่งที่สายการบินปรับตัวรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 อนาคตแน่นอนว่านอกจากการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อทำความสะอาดเครื่องบิน ปรับฝูงบินให้เหมาะสมแล้ว อุตสาหกรรมการบินจะเริ่มเปลี่ยน หลังจากนี้จะเห็นการลดจำนวนเครื่องและกลายเป็นการส่งต่อเที่ยวบินกันมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนบริหารจัดการ สายการบินจะทำตัวเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) เป็น "พาร์ทเนอร์" เพื่อส่งต่อผู้โดยสารกัน
ขณะเดียวกัน จากพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อบริการบนเครื่องบินที่ต้องลดการสัมผัสและเว้นระยะห่าง ทำให้บริการด้านการบินหลังจากนี้ สายการบินต้องเพิ่มมาตรการลดการสัมผัสบนเครื่อง การเสิร์ฟอาหารอาจเปลี่ยนแปลงไป และปรับลดบริการที่ไม่ตอบสนองความต้องการ อาทิ บริการหนังสือพิมพ์บนเครื่องบิน เป็นต้น
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. หนึ่งในผู้ให้บริการท่าอากาศยานหลักในไทย ออกมาระบุถึงการปรับตัวจากบทเรียนโควิด-19 ด้วยว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ ทอท.ขาดทุน และเป็นผลให้ต้องเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) เพื่อขอวงเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท ทำให้เห็นว่าแม้เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีความแข็งแรงงทางการเงิน ก็ยังขาดทุนในระยะเวลาอันรวดเร็ว และคาดว่าจะยาวนาน เพราะห่วงโซ่อุปทานที่หายไปต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
อย่างไรก็ดี สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ออกมาประเมินว่าอุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวในปี 2-3 ปีข้างหน้า ทอท.มองว่าการฟื้นตัวดังกล่าวจะเป็นการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสาร แต่ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาอีกนานในการฟื้นตัวทางธุรกิจ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของการบินล้มหายไป
“ตอนนี้สิ่งที่ ทอท.ทำคือการรักษาห่วงโซ่อุปทานที่เหลืออยู่ไม่ให้ล้มหายไปอีก อย่างเช่นผู้ประกอบการในสนามบิน จากเดิมสัญญาการเช่าพื้นที่ทำธุรกิจที่มีมากถึง 2,500 สัญญา แต่ขณะนี้เลิกสัญญาไปแล้วกว่า 900 สัญญา หากโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะแย่ลงอีก ทำให้ ทอท.เราได้ขขยายมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไปจนถึงเดือน มี.ค.2566”
ทั้งนี้ ในปี 2565 ถือเป็นปีท้าทายของอุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินได้เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดโควิด-19 ทำให้ต้องปรับตัวใหม่อย่างหนัก ต่อไปนี้จะยืมจมูกคนอื่นหายใจเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว จากเดิมที่ ทอท.มีรายได้จากกิจการการบินเป็นหลัก ต้องปรับตัว เน้นพึ่งพาตัวเอง หารายได้จากกิจการที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการบิน (Non Aero) เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มแล้วทั้งในส่วนของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การพัฒนา AOT Digital Platform ที่จะมีการขายสินค้าจากสนามบินพันธมิตรด้วย