เปิดแผนลงทุนคมนาคม 2565 หัวหอกดันเศรษฐกิจ 1.4 ล้านล้าน
คมนาคมลุยลงทุน 1.4 ล้านล้านบาท หวังชูโครงสร้างพื้นฐานเป็นหัวหอกสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ อัดโครงการใหม่ 24 โครงการ ขยายมอเตอร์เวย์ เพิ่มโครงข่ายระบบราง
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ตลอดปีที่ผ่านมา นอกจากเป็นผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิต ปัญหาด้านเศรษฐกิจก็หนีไม่พ้น เพราะส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก เครื่องจักรที่ยังพอเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างงานประมูลภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐาน จึงถือเป็นพระเอกในปีที่ผ่านมา
กระทรวงคมนาคมประกาศชัดทิ้งท้ายในปี 2564 ก่อนจะก้าวเข้าสู่ปี 2565 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และยืนหยัดเป็นหัวหอกกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2565 อย่างต่อเนื่อง โดยกางแผนลงทุน 37 โครงการ เม็ดเงินรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท มีโครงการลงทุนใหม่ถึง 24 โครงการ วงเงินกว่า 9.74 แสนล้านบาท
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงรายละเอียดของแผนลงทุนในปี 2565 โดยระบุว่า ในปี 2565 กระทรวงฯ จะสานต่อนโยบายเดิมที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง พร้อมผลักดันโครงการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด 37 โครงการ วงเงินลงทุน 1.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการลงทุนต่อเนื่อง 13 โครงการ วงเงิน 5.16 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 24 โครงการ วงเงิน 9.74 แสนล้านบาท
ในส่วนของโครงการลงทุนใหม่ที่กระทรวงฯ จะผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการประกวดราคาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2565 แบ่งเป็น โครงการทางถนน 12 โครงการ วงเงิน 2.81 แสนล้านบาท อาทิ
1.โครงการมอเตอร์เวย์ M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงิน 5.60 หมื่นล้านบาท
2.โครงการมอเตอร์เวย์ M5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 2.78 หมื่นล้านบาท
3.โครงข่ายเชื่อมต่อ M6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา กับ ทล.32 วงเงิน 4.7 พันล้านบาท
4.โครงการมอเตอร์เวย์ M7 ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ วงเงิน 2.95 หมื่นล้านบาท
5.โครงการมอเตอร์เวย์ M8 สายนครปฐม-ชะอำ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ วงเงิน 5.17 หมื่นล้านบาท
6.โครงการทางพิเศษ ขั้นที่ 3 สายเหนือ N1 และ N2 วงเงิน 3.78 หมื่นล้านบาท
ขณะที่โครงการทางบก มีจำนวน 1 โครงการ คือ โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม วงเงิน 1.36 พันล้านบาท ส่วนโครงการทางราง 5 โครงการ วงเงิน 6.24 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 8.53 หมื่นล้านบาท 2.โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทาง บ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 6.79 หมื่นล้านบาท
3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท 4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.24 แสนล้านบาท และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท
ส่วนโครงการทางน้ำ 2 โครงการ วงเงิน 7.56 พันล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการแนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง วงเงิน 6.11 พันล้านบาท และ 2.โครงการพื้นฟูชายหาด วงเงิน 1.44 พันล้านบาท และโครงการทางอากาศ 4 โครงการ วงเงิน 5.94 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 1.58 หมื่นล้านบาท 2.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 3.68 หมื่นล้านบาท 3.ท่าอากาศยานชุมพร วงเงิน 3.25 พันล้านบาท และ 4. ท่าอากาศยานระนอง 3.55 พันล้านบาท
นอกจากนี้ โครงการลงทุนต่อเนื่อง 13 โครงการ วงเงิน 5.16 แสนล้านบาทที่จะเกิดการผลักดันต่อในปี 2565 อาทิ มอเตอร์เวย์ M82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงมหาชัย-บ้านแพ้ว วงเงิน 3.22 หมื่นล้านบาท, โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย วงเงิน 2.86 พันล้านบาท, โครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง รวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท
อีกทั้งในปี 2565 กระทรวงฯ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติส่วนต่อขยายรถไฟไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางรางของ สปป.ลาว - จีน โดยขณะนี้ออกแบบแล้วเสร็จอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในปี 2565 เปิดใช้บริการได้ในปี 2571
รวมถึงจะมีการผลักดันรถไฟไทยจีน ระยะที่ 3 ช่วงหนองคาย - เวียงจันทร์ ระยะทาง 16 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างไทย - สปป.ลาว - จีน ในอนาคต โดยที่ผ่านมาได้มีการหารือสามฝ่ายระหว่าง ไทย - ลาว - จีน ระดับอธิบดีเพื่อหารือในประเด็นแนวทางการเชื่อมโยงโครงการรถไฟ ไทย - จีน กับโครงการรถไฟ ลาว - จีน เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาการขนส่งทางรางที่ยั่งยืน และผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคอาเซียน