ซีพี ชนะคดี ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งทำเกษตรกรเป็นหนี้
ซีพี ชนะคดีส่งท้ายปี ศาลพิพากษาทั้งจำทั้งปรับ ผู้บริหารสถาบันธรรมาภิบาลไทย ฐานหมิ่นประมาทซีพี คดีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูนครปฐม ได้รับผลกระทบจากคอนแทรคฟาร์มมิ่ง
รายงานข่าวจากสำนักยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2564 เปิดเผยว่า ตามที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอัครกฤษ นุ่นจันทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันธรรมาภิบาลไทย เป็นจำเลยในข้อหา “หมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2563
จากกรณีที่นายอัครกฤษ นุ่นจันทร์ กล่าวหาซีพีเกี่ยวกับการทำธุรกิจเกษตรพันธสัญญาของ บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) โดยอ้างว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ไก่ ต.หนองงูเหลือม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ได้รับผลกระทบจากเกษตรพันธสัญญาจนต้องล้มเลิกโครงการและมีหนี้สิน
จากการสืบพยานของศาลอาญากรุงเทพใต้ พบว่า ซีพีไม่มีพฤติกรรมในการเอาเปรียบเกษตรกรจนมีภาระหนี้สินจากการทำเกษตรพันธสัญญาตามที่จำเลยกล่าวอ้างในพื้นที่ ต.หนองงูเหลือม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม แต่อย่างใด
และตามที่จำเลยป่าวประกาศ ทั้งการอ่านข้อความแถลงการณ์ตามหนังสือร้องเรียน และถ่ายทอดสดการแถลงข่าวผ่านทางช่องทางแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กของจำเลย ในขั้นตอนการสืบพยาน ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้จำเลยนำสืบว่า จำเลยแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่พบว่าไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้องเสียก่อน คำพยานของจำเลยไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือติชมด้วยความเป็นธรรมจึงมีความผิดตามฟ้อง
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้พิพากษาแล้วว่า นายอัครกฤษ นุ่นจันทร์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 จำคุก 2 เดือนและปรับ 40,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี และให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาฉบับย่อพอได้ใจความในหนังสือพิมพ์จำนวน 5 ฉบับ จำนวน 3 วันติดต่อกัน
อนึ่ง บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ฟ้องร้องตัวแทนสถาบันธรรมาภิบาลไทย เพิ่มเติมอีก 3 คดี ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง, เกษตรพันธสัญญาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคเหนือ และการรับซื้อวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์