เปิดยุทธศาสตร์ “ดาว” นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
“ดาว” บริษัทด้านแมททีเรียลส์ ไซแอนซ์ ของสหรัฐได้ประกาศเป้าหมายความยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2538 และดำเนินการมาถึงปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 3 (2559-2568) เพื่อให้ฐานการผลิต 106 แห่ง ใน 31 ประเทศ เดินไปในทิศทางเดียวกัน
รวมถึง “กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย” ที่เริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยมาตั้งแต่ปี 2510 จนเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิค
ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเข้าสู่ปีที่ 55 ลงทุนกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ โดยมี 14 โรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเอเซียและนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก ผลิตภัณฑ์หลัก อาทิ วัสดุประสิทธิภาพสูงและสารเคลือบผิว เคมีภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน พลาสติกบรรจุภัณฑ์และพลาสติกชนิดพิเศษ
สำหรับสินค้าที่ผลิตมีตลาดสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อาคารและโครงสร้างพื้นฐาน ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สีและสารเคลือบผิวและสารยึดติดและสารกันรั่วซึม
ในขณะที่สินค้าที่ผลิตในไทย คือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดโพลิเอทิลีน โพลิสไตรีน อีลาสโตเมอร์ ผลิตภัณฑ์โพลิยูริเทน และสไตรีนบิวทาไดอีน เลเทกซ์ รวมกว่า 100 ชนิด และมีสินค้านำเข้ากลุ่มดาวจากต่างประเทศ เช่น ตัวทำละลาย เคมีภัณฑ์เพื่อก่อสร้าง ซิลิโคน และพลาสติกชนิดพิเศษ
ในรอบปีที่ผ่านมาดาวได้เปิดตัวสินค้าใหม่หลายรายการ อาทิ นวัตกรรมเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนชนิดพิเศษ ที่ทำให้พลาสติกมีความแข็งแรงทนกว่าเม็ดพลาสติกทั่วไป ลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกลง 18% มีความเหนียวและแข็งแรงขึ้น 1 เท่าตัว และรีไซเคิลได้ 100% ลดโลกร้อน พัฒนาเป็นถุงบรรจุภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด อาทิ ถุงรีฟิล ถุงใส่อาหารแห้ง ถุงใส่อาหารสัตว์
"การลดคาร์บอนเป็นศูนย์ รัฐบบาลไทยมีนโยบายมุ่งสู่กรีนคาร์บอน คนยุคใหม่หันมาจะซื้อสินค้าที่ผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอน ผู้ประกอบการจะต้องคำนึง ถ้าเมืองไทยไม่ปรับสินค้าจะส่งออกต่างประเทศไม่ได้ ดาวได้ดันสินค้าที่ช่วยลดโลกร้อน หยุดขยะพาสติกและนำกลับมาใช้ใหม่"
ส่วนทิศทางการก้าวสู่ "สังคมคาร์บอนต่ำ" ส่งผลชัดเจนต่อผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น รถ EV ปัญหาคือเรื่องของแบตเตอรี่ โดยดาวได้ใช้ "นวัตกรรมซิลิโคน" นำความร้อนประสิทธิภาพสูงประกอบชุดแบตเตอรี่ EV ช่วยระบายความร้อน มีน้ำหนักเบาทนความร้อนและความชื้นสูง ไม่ลามไฟ มีความยืดหยุ่นและลดแรงกดในการประกอบชิ้นงาน ลดต้นทุนการแก้ไขชิ้นงาน และลดปริมาณก๊าซคาร์บอนที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง สนับสนุนผู้ประกอบการแบตเตอรี่ยานยนต์ในประเทศไทยให้เติบโตอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและปัญหาขยะพลาสติกส่งผลให้ดาว โฟกัสไปที่สาเหตุ คือ 1.การต่อต้านโลกร้อน 2.การหยุดขยะพลาสติก 3.การส่งเสริมวงจรรีไซเคิล
การดำเนินการดังกล่าวได้พยายามบริหารจัดการคาร์บอน จึงนำไปสู่นวัตกรรมเพื่ออนาคตและการเข้าสู่ Circular Economy ส่วนที่สำคัญสุด คือ โรงงาน ซึ่งดาวมีโรงงานสร้างเทคโนโลยี อาทิ มาบตาพุด สามารถลดคาร์บอนได้ 1 ล้านตัน ปีที่ผ่านมาลดก๊าซคาร์บอนจากการผลิตและขนส่ง 1 แสนตัน และใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนนำไปเป็นคาร์บอนเคดิตส่งขาย ทั้งนี้ ประเทศไทยมีขยะพลาสติก 2 ล้านตันต่อปี
“เรามีห้องทดลองที่ต่างประเทศ เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่แทรกเข้ามาในผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เช่น เสื้อผ้านักกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา โดยใช้สีที่มีนวัตกรรมเข้าไปช่วยย้อมผ้า เพราะปกติการย้อมผ้าต้องใช้พลังงานสูง แตเราใช้อุณหภูมิเดียวกับห้อง และลกหารใช้น้ำล้างสีลง 90%”
อีกหนึ่งความภูมิใจ คือ นวัตกรรม “ถนนพลาสติก” โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนใช้งาน อาทิ นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี รวมถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกรมทางหลวงชนบท ได้เข้ามาร่วมศึกษาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานการนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตด้วย อีกทั้ง สหรัฐ อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ ได้นำไปใช้และลดขยะเทียบเท่าพลาสติกกว่า 50 ล้านถุง
ทั้งนี้ ถนนที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลในความยาว 1 กิโลเมตร ที่มีหน้ากว้างถนน 6 เมตร จะใช้ขยะพลาสติก 3 ตัน หรือถุง 900,000 ใบ ปัจจุบันทำถนนพลาสติกไปแล้ว 7.7 กิโลเมตร สร้างคุณค่าได้รวม 23 ตัน
นอกจากนี้ ดาวได้ขยายกำลังการผลิตขยาย "โรงงานโพรพิลีนไกลคอล" ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย อำเภอบ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจากอุตสาหกรรมการแต่งกลิ่นและรสชาติ ผลิตภัณฑ์สุขอนามัยส่วนบุคคล อาหาร และยา ซึ่งมีการเติบโตมากกว่าดัชนีมวลรวมภายในประเทศ (GDP) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 จะสามารถผลิตโพรพิลีนไกลคอลได้เพิ่มขึ้น 80,000 ตันต่อปี รวมเป็น 250,000 ตันต่อปี กลายเป็นโรงงานผลิตโพรพิลีนไกลคอลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ทั้งนี้ ในการผลักดัน "อุตสาหกรรมสีเขียว" ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มองว่า ผู้ผลิตมีความตั้งใจที่จะลดคาร์บอน ซึ่งการที่ภาครัฐพยายามช่วยส่งเสริมทำให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้น เชื่อว่าอนาคตอันใกล้ลูกค้าแต่ละรายที่ใช้วัสดุต่างๆ จะวิ่งหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรีน ผู้ผลิตต่างผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า
“สิ่งสำคัญ คือ รัฐควรเปลี่ยนกฎหมายบางกฎหมาย ที่ใช้มามากกว่า 20 ปี โดยเฉพาะขยะพลาสติก ที่ไม่สามารถขนออกมารีไซเคิลได้ที่ถูกจำกัดความคำว่าขยะ แต่รัฐกลับให้นำเข้าขยะต่างประเทศแทนที่ใช้ขยะในประเทศไทยมาบริหารจัดการ”