สรุป 9 ปรากฏการณ์โลกธุรกิจ ก่อนก้าวข้ามปี 64

สรุป 9 ปรากฏการณ์โลกธุรกิจ ก่อนก้าวข้ามปี 64

เป็นประจำทุกปีที่ภาคธุรกิจต้องทบทวนเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อใช้เป็น “บทเรียน” ในการก้าวข้ามสู่ปีใหม่ 2565 มีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไข เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในปีต่อๆไป หรืออนาคต

ทั้งนี้ กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ชวนสรุปปรากฏการณ์ปีวัวที่แสนจะดุดัน เพราะเป็นอีกปีที่

“วิกฤติโรคโควิด-19” ระบาดยังคงสร้างผลกระทบ ก่อบาดแผลให้ผู้บริโภค ภาคธุรกิจมากมาย ทว่า ในทุกวิกฤติ ยังมี “โอกาส” ซ่อนอยู่ โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ที่ “ทุนหนา” ย่อมได้เปรียบในการขยับขยายธุรกิจ เจาะขุมทองใหม่ๆ เสริมแกร่งในอนาคต

สำหรับ 9 เหตุการณ์สำคัญในโลกธุรกิจฉบับย่อ ดังนี้

ธุรกิจกระทบหนัก รอวันฟื้น

1.อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาที่เกิดโรคระบาด ทำให้หลายประเทศต้อง “ล็อกดาวน์” ปิดบ้านปิดเมืองเพื่อสกัดไวรัส รวมถึงประเทศไทย ซึ่งต่อให้มีการเปิดประเทศ แต่ในภาวะไวรัสคุกคามโลก ผู้คนไม่อยากเดินทาง แต่ละชาติก็ปิดประตู ไม่ให้คนของประเทศตนเองไปโน่นมานี่เช่นกัน

แน่นอนผลกระทบที่ตามมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงกลายเป็นหนึ่งในเซ็กเตอร์ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด โรงแรมที่พัก “ไร้เงา” ผู้คน ห้องพักที่เคยมียอดจองสูง อัตราเข้าพัก 60% 70% ไปจนถึงเต็ม ต้องหายวับไปกับตา ตัวอย่าง บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ซึ่งมี “วัลลภา ไตรโสรัส” เป็นแม่ทัพใหญ่ เคยฉายภาพธุรกิจโรงแรม ที่เคยมีอัตราการเข้าพัก 80% เมื่อเจอโรคระบาดฉุดอัตราการเข้าพักดำดิ่งเหลือ 1% เท่านั้น ส่วนผลประกอบการไม่ต้องพูดถึง เพราะบรรทัดสุดท้ายยังขาดทุนหลัก “พันล้านบาท”

อีกบิ๊กคอร์ป คือบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ที่มีโรงแรมกว่า 500 แห่ง ในกว่า 65 ประเทศทั่วโลก จำนวนห้องพักกว่า 75,000 ห้อง และติด 1 ใน 20 ของยักษ์ใหญ่ธุรกิจโรงแรมโลก(Global Player) บาดแผลจากโควิดฉกรรจ์มาก เพราะตัวเลข “ขาดทุน” ยังคงสะสมเพิ่มขึ้น โดยปี 2563 บริษัทขาดทุนแล้วกว่า 21,000 ล้านบาท ส่วน 9 เดือน ปี 2564 ขาดทุนอีกกว่า 11,000 ล้านบาท การปรับตัวเพื่ออยู่รอดไม่เพียงพอ แต่ยังเขย่าพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ ตัดขายโรงแรมหลายแห่ง เพื่อ “เพิ่มสภาพคล่อง” และ “ลดภาระหนี้” ด้วย

 

สรุป 9 ปรากฏการณ์โลกธุรกิจ ก่อนก้าวข้ามปี 64

แผนลดฝูงบิน บางกอกแอร์เวย์ส

ไม่ใช่โรงแรมที่กระอักเลือด แต่ธุรกิจ “สายการบิน” ก็เจ็บไม่แพ้กัน และเป็นการเจ็บที่ยังไม่จบเสียที เห็นได้จากผลการดำเนินงานที่แบก “ขาดทุน” บักโกรก เช่น บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด(มหาชน) หรือแอร์ เอเชีย ปี 2563 ขาดทุนกว่า 4,700 ล้านบาท แต่งวด 9 เดือน ปี 2564 ขาดทุนเพิ่มเป็นกว่า 5,600 ล้านบาท ส่วนสถานการณ์การบินในประเทศผ่านบริษัทลูกอย่าง บริษัท ไทยแอร์ เอเชีย เฉพาะไตรมาส 3 มีผู้โดยสารเพียง 79,767 คน หรือลดลงถึง 96% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมการท่องเที่ยวไทยนั่นเอง ที่ผู้คนเดินทางกันน้อยลง กักตัวอยู่บ้านกันหวังหยุดเชื้อเพื่อชาติ

ฟากบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ปี 2563 ผลประกอบการขาดทุนกว่า 5,200 ล้านบาท งวด 9 เดือน ปี 2564 ขาดทุนเพิ่ม 8,400 ล้านบาท การอยู่ท่ามกลาง Red Zone ทำให้ต้องรัดเข็มขัด ระดมหาเงินทุนเสริมสภาพคล่อง จึงมีแผนจะให้เหลือ 30 ลำในปี 2565 จากมี 38 ลำ “ลดกำลังพล” หรือพนักงานอีกเล็กน้อยให้สอดคล้องกับจำนวนงาน เป็นต้น

การล็อกดาวน์แสนยาวนาน

2.ผับ บาร์ สถานบันเทิง ฯ ธุรกิจที่ถูกทิ้งไว้กลางทาง หากจะกล่าวถึงธุรกิจที่เป็นจำเลยและถูก “ล็อกดาวน์” ยาวนานข้ามปี หนีไม่พ้นผับ บาร์ สถานบันเทิงต่างๆที่มีบริการจำหน่าย “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคขาดสติ หยิบแก้วชนกัน ผลักกันดื่ม กลายเป็นต้นตอของ “คลัสเตอร์” การแพร่ระบาดไวรัสมรณะได้

ทว่า ผลกระทบของการปิดไม่ให้กิจการทำมาค้าขายไม่ได้จำกัดวงแค่ผู้ประกอบการเหล้าเบียร์ หรือเจ้าของร้าน พนักต้องขาดรายได้เท่านั้น แต่เกิดเอฟเฟกต์เป็น “โดมิโน่” เมื่อนักดนตรี ศิลปินที่ตระเวนสร้างเสียงเพลง ความสุขจำนวนมากต้อง “ว่างงาน” ไม่มีเงินตามไปด้วย

ทั้งนี้ 1 ตุลาคม ผับ บาร์ สถานบันเทิงฯเริ่มกลับมาเปิดร้านรับลูกค้าได้ แต่ยังห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยอดขายยังไม่กลับมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย ร้านดังอย่าง “ชงเจริญ” ยอดขายหายราว 70% หรือร้านชอคโกแลตวิลล์ ที่เคยทำเงินหลัก “หลายร้อยล้านบาท” เมื่อกลับมาเปิดร้าน คาดหวังยอดขายเพียงหลัก “สิบล้านบาท” เท่านั้น

3. โรงภาพยนตร์จอดำยาวนาน 158 วัน เป็นอีกธุรกิจที่เหมือนเป็นหน้าด่านของการถูกล็อกดาวน์ เพราะทันทีที่รัฐผวาคลัสเตอร์การแพร่ระบาดโรคโควิด โรงภาพยนตร์จะถูกสั่งให้หยุดบริการแก่ลูกค้า ทว่า ปี 2564 การล็อกดาวน์ยาวนานขึ้น เมื่อผู้ประกอบการที่มีโรงหนังในพื้นที่สีแดงเข้มต้องจำใจ “จอดำ” ถึง 158 วัน ครั้นกลับมาเปิดให้บริการ ยังต้องเข้มกับมาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้การขายตั๋วทำได้ 75%

สรุป 9 ปรากฏการณ์โลกธุรกิจ ก่อนก้าวข้ามปี 64

อย่างไรก็ตาม การปิดโรงหนังกว่า 5 เดือน ทำให้หนังที่จ่อคิวรอฉายมีจำนวนมาก พอไตรมาสสุดท้าย จึงเห็นทัพหนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวู้ดตบเท้าเข้าโรงทุกเดือนเฉลี่ย 30 เรื่อง เรียกว่าทุกวันมีหนังใหม่ให้ดู แต่ผู้บริโภคตามดูไม่ทัน กลายเป็น Happy problem ทั้งฝั่งผู้ประกอบการและคนดู

4.ร้านอาหารห้ามเปิดไดอิน ใครจะคาดคิดว่าธุรกิจร้านอาหารมูลค่า 4 แสนล้านบาท จะกระเทือน เพราะแม้เกิดโรคโควิด-19 ระบาด ร้านังเปิดให้บริการได้ เว้นตอนล็อกดาวน์ ห้างปิด ร้านอาหารที่มีสาขาในห้างต้องดำเนินการตาม

ทั้งนี้ เดือนมิถุนายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศฟ้าผ่าห้ามร้านอาหารนั่งกินที่ร้าน ให้ซื้อกลับบ้านได้เท่านั้น จึงเกิดเสียงสะท้อนสนั่นโซเชียลโดเฉพาะฝั่งผู้ประกอบการ เพราะถือเป็นการปิดประตูทำมาหากินไปร่วม 2 เดือน

ส่อง “โอกาส” บน “วิกฤติ”

ท่ามกลางวิกฤติที่ยาวนาน สถานการณ์อันมืดมิดของใครหลายคน แต่สำหรับคนที่ไม่ยอมจนแต้มต่อปัญหา พยายามมอง “โอกาส” ให้เจอ ยังมีเสมอ แน่นอนว่าพิษสงของโรคระบาดที่แรงรอบ “ร้อยปี” สร้างความเสียหายให้ภาคธุรกิจ หลายองค์กรจึง “ฉีกตำรา” ความรู้ ความสำเร็จเดิมๆ เพื่อหาทางเอาตัวรอด การปรับตัว พลิกโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย

สำหรับธุรกิจที่เป็นดาวเด่นอย่างมากในปี 2564 “เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ” หรือฟังก์ชั่นนอลดริ้งค์ ยังพอฝ่ากระแสโตได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำผสมวิตามิน(Vitamin Water) วิตามินซีแบบช็อต เป็นต้น

5.เดลิเวอรี ดาวรุ่งพุ่งแรง ฮอตสุดๆสำหรับบริการส่งอาหารถึงบ้านหรือเดลิเวอรี เมื่อช่องทางออฟไลน์ปิดตัว ออนไลน์ จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย สั่งปุ๊บ! ไรเดอร์ พร้อมมาส่งถึงหน้าประตูบ้าน หน้าร้านอาหาร ท้องถนนคึกคักไปด้วยไรเดอร์หลากแบรนด์ ส่วนการเติบโตปี 2562 ตลาดเดลิเวอรีมีมูลค่า 35,000 ล้านบาท พอปี 2564 เติบโตก้าวกระโดดเท่าตัวแตะ 70,000 ล้านบาท ส่วนปี 2565 ส่งสัญญาณขยายตัวต่อ

สรุป 9 ปรากฏการณ์โลกธุรกิจ ก่อนก้าวข้ามปี 64

ทว่า ความร้อนแรงของเดลิเวอรี ยังมีโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการต้องรับมือนั่นคือค่าการตลาดต่างๆหรือ GP ที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ จนหลายรายต้องถอดร้านออกจากออนไลน์

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจครัวกลางกลางนอกห้าง หรือครัวเมฆหมอก(Cloud Kitchen/ Ghost Kitchen) ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะคือหนึ่งในโมเดลที่เป็นทางออกช่วยให้อยู่ร้านของร้านอาหารที่มีสาขาในห้าง แต่โดนสั่งล็อกดาวน์ห้ามให้บริการนั่งทานในร้านหรือไดอิน

6.คริปโตเคอร์เรนซี ปลดล็อกศักยภาพธุรกิจ โลกเคลื่อนสุ่ยุคดิจิทัลเต็มใบขึ้นเรื่อยๆ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ยังทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆที่ทรงพลังต่อการขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น หนึ่งในนั้นต้องยกให้สินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซีประเภทต่างๆ

ในไทยหลายองค์กรธุรกิจรุกคืบเกาะกระแสสินทรัพย์ดิจิทัล และค่าที่เนื้อหอมคอนข้างมาก หนีไม่พ้น “บิทคับ” ที่มี “ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งล่าสุดเป็นเศรษฐีใหม “อายุน้อยพันล้าน” เรียบร้อย หลังจากเอสซีบี เอ็กซ์ ส่ง บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) ลงทุนในบิทคับ ออนไลน์ ด้วยการถือหุ้นสามัญ 51% คิดเป็นมูลค่า 17,850 ล้านบาท

นอกจากนี้ บรรดานักธุรกิจรุ่นเก๋า องค์กรยักษ์ใหญ่อื่นยังเดินหน้าผนึกบิทคับ ต่อยอดธุรกิจอีกเพียบ เช่น กลุ่มเดอะ มอลล์ ผนึกกำลังตั้ง บิทคับ เอ็ม สร้างดิจิทัลคอมมูนิตี้ และเปิดรับคริปโตฯ 7 เหรียญ แลกสินค้า บัตรกำนัลต่างๆ,จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่หันมาลุย NFT เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจเพลง เอาใจแฟนคลับให้ซื้อสินค้าและบริการมากมายหนุนศิลปินคนโปรด

และไม่ได้มีเพียงบิทคับ ที่ฮอต เพราะซิปเม็กซ์ แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ได้จับมือกับพาร์ทเนอร์แกรมมี่ เสริมศักยภาพธุรกิจ , เอสเอฟ ซีเนม่า ผนึก “เจ เวนเจอร์ส” รับ JFIN Coin แลกตั๋วหนังฯ การตื่นตัวและไม่ยอมตกขบวน มีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นบาร์บีคิวพลาซ่า, ไอแอม ผู้บริหารธุรกิจไอดอลบีเอ็นเค48 ฯ ต่างเข้าสู่การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน NFT คริปโตเคอร์เรนซีมาต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ

ที่ต้องจับตาต่อต้องยกให้ จักรวาลนฤมิตหรือ โลกเมตาเวิร์ส ที่จะสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมสื่อโฆษณา โดยค่ายสื่อ เอเยนซี มองว่าจะช่วยสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตมหาศาล และพลิกโฉมหน้าการสื่อสาร การทำตลาดให้ล้ำไปอีกขั้น

ขุมทองของเศรษฐี กระเป๋าหนักซื้อกิจการ

 กี่ยุคสมัยใครที่มีสายป่านยาว ยังคงสาวธุรกิจมาอยู่ในมือ เสริมแกร่งอาณาจักรยิ่งขึ้น ปี 2564 ค่ายทุนหนา เดินเกมซื้อหุ้น ควบรวมกิจการ ยังมีให้เห็น บิ๊กดีลเงินหนา การติดอาวุธครั้งสำคัญ หรือการตัดใจขายกิจการเพื่อรักษาธุรกิจหลัก(Core Business) หาเงินเสริมสภาพคล่องมีให้เห็นมากมาย

7.ทรูควบรวมดีแทค เขย่าบัลลังก์เอไอเอส บนสังเวียนธุรกิจโทรคมนาคม การสื่อสารถือเป็นตลาดที่มีผู้เล่นน้อยราย (Oligipoly) นับในมือเห็นจะมีบิ๊กเนมอย่าง “เอไอเอส-ทรู-ดีแทค” ครองตลาด ทว่า ล่าสุด เกมเปลี่ยน เมื่อ “เทเลนอร์ กรุ๊ป” ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ DTAC แจงไกลจากกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ถึงการหารือกับ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” (เครือซีพี) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)หรือ TRUE ในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่เท่าเทียมกัน หรือ Equal Partnerships

 เมื่อ 2 แบรนด์ผู้ไล่หลัง “เอไอเอส” กำลังจะสร้างความแข็งแกร่งมากขึ้น บัลลังก์ผู้นำย่อมมีความสั่นสะเทือน ทำให้เบอร์ 1 ต้องทำแคมเปญสื่อสารการตลาดยกใหญ่ ตอกย้ำจุดเด่นทั้งด้านคุณภาพสัญญาณ เครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วไทย สารพัด ซึ่งการเดินเกมรุก ยังจัดทัพพรีเซ็นเตอร์ มาช่วยสร้างความเชื่อมั่น เป็นแม่เหล็กดึงฐานลูกค้าไว้

สรุป 9 ปรากฏการณ์โลกธุรกิจ ก่อนก้าวข้ามปี 64

8.บิ๊กดีลแสนล้าน “เซ็นทรัล” ซื้อกิจการ “เซลฟริดเจส” แม้ภาพรวมค้าปลีกที่เป็นร้านกายภาพ(Physical)ถูกมองเป็นขาลงเพราะ “ออนไลน์” จะทรงอิทธิพลตต่อการชอปปิงปลายนิ้วมากขึ้น ทว่า ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกเมืองไทยอย่าง “เซ็นทรัล” ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ยังคงเดินหน้าตอกย้ำการเป็นผู้เล่นรีเทลระดับโลก ด้วยการปิดดีลส่งท้ายปีเก่า 2564 ควักเงินก้อนโตรว 4,000 ล้านยูรโร หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท ซื้อห้างสรรพสินค้า 18 แห่งในยุโรป เช่น อังกฤษ ไอร์แลนด์ จากอาณาจักร “เซลฟริดเจส”

กลุ่มเซ็นทรัล ไม่ได้ซื้อกิจการห้างค้าปลีกแค่ในต่างแดน เพราะกลางปีสร้างความฮือฮามาแล้ว เมื่อบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) เข้าซื้อกิจการของบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)หรือ SF ซึ่งพัฒนาศูนย์การค้าเมกาบางนา, เจ.อเวนิว และลา วิลล่า ฯ ซึ่งบิ๊กดีลในประเทศใช้เงินไม่หลัก “หมื่นล้าน” เพื่อครองหุ้น 96.89% ในเอสเอฟ

ส่วนดีลใหญ่อื่น มีทั้งยักษ์พลังงาน “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” ควักเงินกว่า 48,000 ล้านบท ซื้อหุ้นอินทัช(INTOUCH)เพิ่ม 23.32% จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 42.25% นอกจากนี้ เอสซีบี ยังใช้เงินกว่า 17,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นบิทคับ ออนไลน์ เป็นต้น ภาพเหล่านี้จะเห็นว่าเศรษฐี นักธุรกิจ นักลงทุนผู้มั่งคั่ง ยังเบ่งอาณาจักรให้ใหญ่กว่าเดิม ท่ามกลางหลายธุรกิจที่ซวนเซ

โตเกียว โอลิมปิก ฟุตบอลยูโร คืนความสุขคนไทย

ปี 2564 ไม่ใช่มีแค่วิกฤติ ช่วงเวลาเลวร้าย ทำให้ผู้คนหดหู่ไปเสียรอบด้าน แต่เรื่องราวดีๆ มีให้เสพสร้างความกระชุ่มกระชวยให้หัวใจอยู่ไม่น้อย

9.กีฬาเยียวยาทุกสิ่ง มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่าง “โตเกียว โอลิมปิก 2020” ที่เลื่อนมา 1 ปี เพราะโรคโควิด-19 แต่การจัดอีเวนท์โลก ภายใต้ข้อจำกัดของชาติเจ้าภาพ “ญี่ปุ่น” สามารถสร้างเรื่องราว ความประทับใจให้เกิดขึ้นตั้งแต่วินาทีที่พิธีเปิดเริ่มขึ้น

ญี่ปุ่นนำเสนอ “พิกโตแกรม” อีกครั้ง หลังจากชาติเจ้าภาพได้ขึ้นครั้งแรกในมหกรรมโอลิมปิกปี 1964 เกิดเป็นโมเมนต์ดีๆให้คนทั้งโลกจดจำ

สรุป 9 ปรากฏการณ์โลกธุรกิจ ก่อนก้าวข้ามปี 64

ความสุขไม่ได้มีแค่นั้น เพราะกีฬาสุดยิ่งใหญ่ครั้งนี้ นักกีฬาไทยอย่าง “เทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” สามารถคว้าเหรียญทองจากกีฬาเทควันโด ซึ่งทำให้คนไทยทั้งประเทศมีความสุข และภาคภูมิใจกับนักกีฬาอย่างมาก ทั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงนักกีฬาที่คว้าเหรียญมาครองเท่านั้นที่สร้างสุขให้คนไทย แต่ตัวแทนนักกีฬาทุกคน ก็ทำให้คนไทยได้แสดงพลัง เชียร์ทุกคนอย่างเต็มที่ เป็นการระเบิดพลังความสุข หลังจากหดหู่เพราะโรระบาดมานาน

ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2020 เป็นอีกหนึ่งความสุข เพราะเดิมทีรายการกีฬาใหญ่ แมทช์หยุดโลกนี้ คนไทยเกือบพลาดไม่ได้รับชม แต่มี “เศรษฐีขี่ม้าขาว” อย่าง “โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์รองเท้า “แอโร่ซอฟท์” ควักเงินกว่า 300 ล้านบาท คว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจากสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ “ยูฟ่า” มาได้ในวินาทีสุดท้าย ก่อนดวลแข้งนัดแรก

ผลงานครั้งนี้เศรษฐีใจดี ได้ร่วมกับ พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึง “ทรูวิชั่นส์”ในการจัดทัพไปเจรจากับยูฟ่า นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลยูโร ช่วยคืนความสุขให้คนไทยไม่พอ งานนี้ เจ้าของแบรนด์แอโร่ซอฟท์ ได้ใจคนไทยพอสมควร ยิ่งกว่านั้น รองเท้าที่ห่างหายการทำตลาดไปนาน ได้เวลายึดนทีทองโฆษณาไปด้วย แต่เวลาที่งวดทำให้การสร้างสรรค์งานโฆษณาออกมาอย่างง่าย กับบทเพลง เชียร์ยูโร..แอโร่ซอฟท์...เชียร์ยูโร จนติดปากไปพักใหญ่ด้วย

พ้นปีวัวแล้ว มาลุ้นต่อว่า “ปีเสือ” จะสร้างปรากฏการณ์อะไรให้โลกธุรกิจบ้าง ต้องติดตาม!