ส่องยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุค Next Normal

ส่องยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุค Next Normal

ยุค "Next Normal" กับเทรนด์ที่เปลี่ยนไปในอนาคต สะท้อนยุทธศาสตร์ทิศทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมชวนน่าติดตาม

เทรนด์สำคัญในอนาคตที่เกิดจากพฤติกรรมและทัศนคติที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังวิกฤติโควิด-19 นิยามคำว่า "Next Normal" โดยบทความของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปของยุค Next Normal คือการใช้เทคโนโลยี บริการดิจิทัล และแพลตฟอร์มออนไลน์ในชีวิตประจำวันเพื่อความสะดวกสบาย การใส่ใจเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยด้านสุขอนามัย รวมทั้งการคำนึงถึงผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

Next Normal มุมมองเอกชน
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทำให้มีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ นำไปสู่การปรับตัวให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ เมื่อเกิดเทรนด์ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การทำงานทางไกล การใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น

นายสุรชา อุดมศักดิ์ รองประธาน ธุรกิจเคมิคอลล์ เอสซีจี และดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นบทเรียนครั้งสำคัญให้องค์กรเรียนรู้การรับมือกับปัญหาและปรับตัวได้ไว ซึ่งโควิด-19 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องรับมือกับปัญหาสำคัญ อาทิ Supply Chain Disruption ทำให้ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมต้องกลับมาพิจารณาเรื่องต้นทุน ปัญหาสิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน และการใช้เทคโนโลยีในการทำงานระยะไกล

นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า กลไกการตลาดและกฎระเบียบในเวทีโลกจะมีการผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ของสหภาพยุโรป ที่จะมีการคิดค่าปรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสินค้า ทำให้ภาคอุตสาหกรรมส่งออกที่ใช้พลังงานในการผลิตมีต้นทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงประกาศสัญญาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนเวที COP26

สู่การกำหนดทิศทางอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดกรอบทิศทางนโยบาย และมาตรการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ พร้อมมุ่งเน้นอุตสาหกรรมสำคัญในปี 2565 ดังนี้

1. เกษตรสร้างมูลค่า ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนในปี 2570 และเป็น 1 ใน 10 ของผู้ส่งออกอาหารโลก ควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยมีเป้าหมายให้มูลค่าของสินค้าเกษตรแปรรูปและผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 3% และเพิ่มสัดส่วน GDP ภาคการเกษตรให้โตเฉลี่ย 3.8%

โดยส่งเสริมการพัฒนาและใช้วัตถุดิบและผลิตผลทางการเกษตรเชื่อมโยงสู่กระบวนการแปรรูปในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มูลค่าสูง โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน อาทิ การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ติดตามผลิตภัณฑ์ระหว่างขนส่งและยืดอายุของอาหารและสินค้าเกษตรในบรรจุภัณฑ์ 

รวมทั้ง สนับสนุนอุตสาหกรรมภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยการยกระดับสถานประกอบการสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy รวมไปถึงการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ตลอดจนวิธีการกำกับดูแลสถานประกอบการ เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล

2. อุตสาหกรรมชีวภาพ กำหนดเป้าหมายผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 โดยเป้าให้มีขยายตัวได้ 10% โดยสนับสนุนให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจชีวภาพ เช่น ชีวเคมีภัณฑ์ วัสดุชีวภาพ ชีวเภสัชศาสตร์ เวชสำอาง นวัตกรรมอาหารชีวภาพ

นอกจากนี้ยังผลักดันให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมชีวภาพตลอดห่วงโซ่มูลค่า เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพ แปรรูปอาหาร แปรรูปชีวมวลเทคโนโลยี ชีวภาพด้านการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่เหมาะสม ให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการพัฒนากำลังคนให้เชี่ยวชาญและเป็นกำลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพในปัจจุบันและอนาคต สร้างความมีส่วนร่วมของชุมชนในการเฝ้าระวังและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการลงทุน วิจัยและพัฒนา เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขยายธุรกิจ

3. การแพทย์ครบวงจร ตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ขยายตัวได้ 5% ต่อปี เนื่องจากอุตสาหกรรมการแพทย์มีศักยภาพและมีความสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ สอดคล้องกับแผนการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub โดยมุ่งเป้าหมายระยะยาวให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียนภายในปี 2570

ด้านการพัฒนาด้านบริการทางการแพทย์ ส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การบริการสุขภาพ เช่น การแพทย์ทางไกล การแพทย์แม่นยำ เทคโนโลยีชีวภาพด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ยา

รวมทั้งให้มีการจัดทำฐานข้อมูลที่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพทุกมิติการบริการ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ทันสมัย มีคุณค่าและมีมูลค่าเพิ่มสูง โดยส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ทันสมัยมาใช้ในประเทศ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ที่สามารถรองรับความต้องการในประเทศและต่างประเทศ 

นอกจากนี้ การสนับสนุนในด้านเครื่องมือแพทย์ อาทิ การรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ของไทยให้เทียบเท่าสากล การส่งเสริมการตลาดและการลงทุน ให้เกิดการใช้อุปกรณ์การแพทย์ที่ผลิตในประเทศมากขึ้น มาตรการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาสู่การผลิตเชิงพาณิชย์มากขึ้น และมาตรการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศและปัจจัยสนับสนุน อาทิ การสร้างบุคลลากร ผู้เชี่ยวชาญ การให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อการยื่นขอใบอนุญาติ  

4. บริการดิจิทัล ข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้ขยายตัวได้ 5% ต่อปี โดยมีมาตรการส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมทั้งจากในและต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งระบบแบบครบวงจร ยกระดับความสามารถของผู้ผลิต ผู้พัฒนา และผู้ออกแบบและสร้างระบบของไทย ให้มีความสามารถในการแข่งขัน เช่น การสร้างและบริหารห่วงโซ่มูลค่าระดับโลกการจัดหาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และอุปกรณ์อย่างเพียงพอ การบริหารจัดการองค์กร การตลาด และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการสร้างโมเดลในการทำธุรกิจใหม่ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการนำบุคลากรต่างชาติที่มีทักษะและความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม ตลอดจนกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption ให้เรียนรู้ทักษะใหม่และปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้

5. อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เพื่อตอบรับทิศทางการพัฒนาของตลาดยานยนต์โลก รวมทั้งการดำเนินไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 เพื่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า Zero Emission Vehicles หรือ ZEV จำนวน 725,000 คันต่อปี หรือ 30% ของการผลิตรถยนต์ภายในปี 2573 

โดยมีมาตรการสำคัญ ดังนี้ ส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นตลาดจากการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม 17 รายการ จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าในปี 2564 จะประกาศมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และมาตรฐานการประจุไฟฟ้าได้รวม 97 มาตรฐาน 

นอกจากนี้ ยังปรับปรุงระเบียบเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ส.ค. 2564 ให้มีการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (ZEV) มาใช้ในราชการแทนรถยนต์เดิมที่หมดอายุการใช้งาน และการจัดซื้อจัดจ้างใหม่

6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2569 ขับเคลื่อนผ่าน 3 กลไกหลัก คือ การกระตุ้นและส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ มีมูลค่าการลงทุน 1.16 แสนล้านบาท นำมาใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ซึ่งมีการดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพไปแล้ว 210 กิจการ ตรวจรับรองเครื่องจักรอีกกว่า 100

โครงการและมาตรการยกเว้นภาษีอากรสำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนประกอบหุ่นยนต์ การพัฒนาผู้ผลิตเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ พัฒนา System Integrator (SI) ในประเทศรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม และการจัดตั้ง Center of Robotic Excellence หรือ CoRE เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากร รองรับเครือข่ายอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 

ในปี 2565 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับสถบันคุณวุฒิวิชาชีพและสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย มีแผนการยกระดับผู้ผลิตและพัฒนาหลักสูตรผู้ประกอบการให้มีความพร้อม รวมถึงแผนพัฒนาแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 โดยให้ CoRE ทำหน้าที่บริการลักษณ์ One Stop Service โดยการบูรณาการทุกหน่วยงานในกระทรวง เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ

7.อุตสาหกรรมพืชกัญชง ขับเคลื่อนกัญชงสู่ Hemp Hub of ASEAN ในปี 2570 โดยมีแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของอาเซียน คาดว่าจะสร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจไทยไม่น้อยกว่า 1% ของจีดีพีการผลิตหรือ 40,000 ล้านบาท จากกลุ่มเป้าหมาย อาหารและเครื่องดื่ม อาหารสัตว์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วัสดุก่อสร้าง กระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษ โดยมีการบูรณาการความร่วมมือกับหลายภาคส่วนที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกัญชง 

โดยมีมาตรการส่งเสริม ดังนี้ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่กัญชง โดยเน้นพัฒนาต้นแบบจากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมให้มีการผลิตและแปรรูป ส่งเสริมการตลาดในรูปแบบดิจิทัลมาร์เก็ต เพิ่มช่องทางการจำหน่าย และการสร้างปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการประกอบการ อาทิ กฎระเบียบ และข้อบังคับ ตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ดำเนินการ