กนอ. รับลูก "BCG Model" ทิศทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย
รัฐบาลประกาศให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ เช่นเดียวกับนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยใช้แผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย พ.ศ. 2564-2569 นำจุดเด่นและศักยภาพของประเทศไทยในเรื่องของการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถให้มากขึ้น
โดยรัฐตั้งเป้าว่าจะต้องสำเร็จภายใน 5 ปี ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ รวมถึงให้ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความปลอดภัยในด้านสาธารณสุข และจะนำแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้เป็นกรอบการทำงานของงบประมาณปี 2565 ดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย
การนิคมฯ รับโมเดล BCG
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า สำหรับภาคอุตสาหกรรมเองต้องเปลี่ยนแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้มองเพียงผลประโยชน์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้างด้วย
ทั้งนี้ กนอ. ซึ่งมีภารกิจพัฒนาและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนภาคการผลิต และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางฐานการผลิตของอาเซียน ได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยภายใต้โมเดลเศรศฐกิจ BCG ดังนี้
รับมือทรัพยากรขาดแคลน
ภาคอุตสาหกรรมต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนสำคัญในกระบวนการผลิต การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เลือกใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบในการผลิตที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (renewable) เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต ที่จะมีความต้องการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตเพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภค
"มุ่งเน้นการคงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้นาน ส่งเสริมการใช้ซ้ำ และสร้างของเสียในปริมาณที่ต่ำที่สุด"
โดยการให้ความสำคัญกับการจัดการของเสีย ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและซากผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก
แผนการดำเนินงาน
หลักสำคัญของโมเดล BCG คือ ภาคอุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Efficiency) วิเคราะห์ความต้องการการใช้ทรัพยากร วิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและลดของเสียต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ ลดผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมและสังคมชุมชนโดยรอบ
นอกจากนี้ มุ่งให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักการ “Life cycle analysis” และ “Eco design” ผลิตภัณฑ์ง่ายต่อการใช้งานของผู้บริโภค สามารถคัดแยกซากผลิตภัณฑ์ให้สามารถหมุนเวียนกลับมาเป็นวัตถุดิบใหม่ในกระบวนการผลิตได้
รวมทั้ง ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรและแรงงานในท้องถิ่น เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน กระจายรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดชุมชนเข้มแข็ง
จูงใจด้วยสิทธิประโยชน์
ทั้งนี้ การจะปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตข้างต้น จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
• การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยสำรวจและประเมินศักยภาพในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต
• การสนับสนุนงบประมาณ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ภาครัฐอาจจะพิจารณาจัดทำมาตรการร่วมกับ BOI เพื่อให้สิทธิประโยชน์กับผู้ประกอบการที่มีการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต หรือมีข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่างๆ ในการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับการปรับปรุงกระบวนการผลิต
ทั้งนี้ ควรเป็นช่องทางที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ง่าย ลดความซ้ำซ้อน ยุ่งยากในการเตรียมเอกสาร เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก
• ภาครัฐควรพิจารณาประเด็นการลดหย่อนภาษีเงินได้ สำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตหรือผู้บริโภคที่มีการใช้สินค้าที่มีองค์ประกอบของวัสดุที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เพื่อส่งเสริมการเป็น Circular Economy
• พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ให้เอื้อต่อการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร
• การพัฒนาศักยภาพของแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ให้มีความพร้อมกับการปรับตัวเพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ
แผนเดิมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG มีความสอดคล้องกับการดำเนินงานของ กนอ. มีเป้าหมายในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งในปีที่ผ่านมา กนอ. บรรลุการดำเนินงาน 3 โครงการ ได้แก่
1. ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ให้มีคุณลักษณะ อาทิ การปล่อยของเสียเป็นศูนย์หรือเกิดน้อยที่สุด ใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีและได้มาตรฐาน ดำเนินกิจการน่าเชื่อถือ เกื้อกูลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
2. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นำของเสียมาเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าใหม่ พัฒนาเป็น Upcylcing products ซึ่งเป้าหมายต่อไปคือการต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์ได้
3. สนับสนุนเครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรมลดก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ประเมินและสำรวจศักยภาพการลดก๊าซเรือนนกระจกของโรงงาน