"พลังงาน" เสนอประมูลม.ค.นี้ สำรวจ3แปลงปิโตรเลียมอ่าวไทย
กรมเชื้อเพลิงฯ เร่งเสนอคณะกรรมการปิโตรเลียมชงเปิดประมูล 3 แปลงสำรวจปิโตรเลียมอ่าวไทยภายในเดือนม.ค.นี้ หวังดันรายได้ให้ประเทศ ชี้ปี2564 นำส่งรายได้กิจการปิโตรเลียมกว่า 34,200 ล้านบาท
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างเตรียมเสนอแผนการเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งใหม่จำนวน 3 แปลงบริเวณในอ่าวไทย ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ได้แก่ 1. แปลง G1/63 พื้นที่ A และแปลง G1/63 พื้นที่ B รวมพื้นที่ 8,197 ตารางกิโลเมตร. 2. แปลง G2/63 พื้นที่ 15,030 ตารางกิโลเมตร และ 3. แปลง G3/63 พื้นที่ A และแปลง G3/63 พื้นที่ B รวมพื้นที่ 11,646 ตารางกิโลเมตร แก่คณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณา ก่อนจะนำเสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอพร้อมออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจภายในเดือนมกราคา2565 หลังจากได้เลื่อนการเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบดังกล่าวนี้ที่ปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี และได้เริ่มคลี่คลายลงและปลายปีที่ผ่านประเทศไทยได้บริหารจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ดี เมื่อมีการเปิดประเทศช่วงปลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างให้ความสนใจ ดังนั้น จึงเล็งเห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่จะปิดประมูลได้แล้ว
“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคาดหวังว่าพื้นที่แปลงสำรวจและผลิตดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ปัจจุบันจะเริ่มมีปริมาณน้อยลงไปเรื่อยๆ ให้เพิ่มขึ้นมาได้ เพื่อที่จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ และทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง เพราะราคาพลังงานนำเข้าจะสูงกว่ามาก และคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนในการสำรวจขั้นต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ลงนามสัมปทานปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L1/64 ในเขตจังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร กับบริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด รวม 78.90 ตารางกิโลเมตร ในเขตจังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร ซึ่งการได้ผู้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการสร้างความต่อเนื่องในการจัดหาปิโตรเลียมภายในประเทศได้ โดยในเบื้องต้นคาดว่าแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวจะสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 300-400 บาร์เรลต่อวัน และสามารถทดแทนมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี
โดยในช่วง 3 ปีแรกของการสำรวจจะมีการลงทุนขั้นต่ำภายในประเทศ และผลประโยชน์พิเศษที่รัฐจะได้รับ รวมประมาณ 4.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 130 ล้านบาท และหากสามารถพัฒนาแหล่งและผลิตปิโตรเลียม ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวได้ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ท้องถิ่นต่อไป โดยปี2564 ที่ผ่าน กรมฯ ได้นำส่งรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมรวมมูลค่ากว่า 34,200 ล้านบาท
รายงานข่าวระบุว่า ปี 2563 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ถือเป็นหน่วยงานระดับกรมที่นำส่งรายได้เข้ารัฐ เป็นอันดับ 4 ของประเทศ ที่สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 55,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่จัดเก็บได้จากธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยแบ่งเป็นค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ประมาณ 36,400 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ประมาณ 12,000 ล้านบาท และอื่นๆ อาทิ เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ เงินโบนัสลงนาม เป็นต้น อีกประมาณ 7,100 ล้านบาท และยังมีภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากร อีกกว่า 7 หมื่นล้านบาท