เฟรเซอร์สเสริมแกร่งพอร์ตรีเทลส่ง“สีลมเอจ”กวาดลูกค้าสีลม-คนรุ่นใหม่
ท่ามกลางความท้าทายของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาพรวมเศรษฐกิจแต่เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ มองว่า ยังมีโอกาสให้เล่นได้ ล่าสุดขยายพอร์ต รีเทลเปิด“สีลมเอจ”โครงการมิกซ์ยูสระหว่างออฟฟิศ 12 ชั้น กับรีเทล 7 ชั้น บนทำเลทองหัวมุมถนนสีลม กำหนดเปิดตัวเดือน ก.ย. นี้
ธีรนันท์ กรศรีทิพา รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจรีเทล เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) กล่าวว่าสีลมเอจ เน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ พร้อมเป็นแพลตฟอร์มให้ทุกธุรกิจเริ่มต้นได้ง่าย ด้วยบริการที่ตอบโจทย์ครอบคลุมทุกความต้องการ
โดยชั้น B1 ถึงชั้น 5 และชั้น 7 ออกแบบในธีม Over The Edge เป็นร้านอาหารที่จะเห็นวิวหัวมุมสีลม พระราม 4 และสวนลุมพินี ส่วนขนาดพื้นที่รีเทล 1 หมื่น ตร.ม. ไม่ใหญ่นัก ถือเป็นความท้าทายจากสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้การออกแบบพื้นที่แต่ละส่วนแตกต่างกัน
โซนที่ 2 โซนชอปปิง 4 ส่วน ชั้นแรกใช้ธีม Bling- Bling เป็นสินค้าแฟชั่น แอคเซสเซอรี่ จิวเวลรี่ ชั้น 2 เชื่อมต่อกับสกายวอล์คของ BTS และโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็น Life and Tech ชั้น 3 จะเป็นธีม Grow Up ตอบโจทย์คนที่ต้องการดูแลผิวหน้า ผิวพรรณ ชั้น 4 เป็น Holistic Wellness แพทย์ทางเลือก
ทั้งนี้พบว่าพื้นที่ย่านนี้ วันธรรมดาจะมีจำนวนคนประมาณ 7 แสนคน วันหยุด 5 แสนคน แต่ความโชคดีของสีลมเอจ คือ อยู่ตรงพื้นที่ด้านหน้าสีลม สามารถรองรับคนที่จะเข้าหรือไม่เข้าสีลมได้ ขณะที่ศูนย์การค้าบนถนนสีลมจะมีความท้าทายช่วงเสาร์ อาทิตย์ เพราะออฟฟิศหยุดคนเดินน้อย
และเมื่อลงรายละเอียดกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในย่านนี้มีจำนวน 5 แสนคน มีคนทำงาน 3 แสนคน ขณะเดียวกันมีกลุ่มคนที่มาทำกิจกรรมในสวนลุม ทำให้กลุ่มเป้าหมายของสีลมเอจในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน
ประกอบกับอยู่ใกล้กับรพ.จุฬาฯ จะมีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้มาใช้บริการ รวมทั้งกลุ่มคนเที่ยวกลางคืน ถนนธนิยะ หากศบค. หรือ กทม.อนุญาตให้เปิดสถานที่ท่องเที่ยวได้ลูกค้ากลุ่มนี้ก็จะเข้ารับประทานอาหารได้ส่งผลให้สีลมเอจ เป็นพื้นที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่หลากหลายแตกต่างจากสามย่านมิตรทาวน์ที่เน้นนิสิต นักศึกษาและคนทำงาน ขณะที่สีลมเอจ จะเป็นกลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายและมีกำลังซื้อสูง
“สีลมเอจ เป็นแซนด์บ็อกซ์ หรือพื้นที่ทดลองสำหรับมือใหม่หัดขับให้กับกลุ่มธุรกิจ ผู้ค้ารุ่นใหม่ ที่หาตัวตนเพื่อการเติบโต ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ด้วยค่าเช่าที่ต่ำกว่าราคาตลาด มีความยืดหยุ่นสูงกว่าสามารถคำนวณต้นทุนได้ชัดเจน จากตัวเลขคาดการณ์ว่าจะมีคนเข้ามาใช้บริการ 3-4 หมื่น/ต่อวัน”
ธีรนันท์กล่าวว่าสำหรับโครงการสามย่านมิตรทาวน์ แม้ปีที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็ยังคงรักษาอัตราผู้เช่าไว้ในระดับสูง 98% โดยหลังจากรัฐคลายล็อคดาวน์ ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกวันเฉลี่ย 55,000 คน/วัน ประกอบกับการดำเนินงานเชิงรุก เน้นการจับกระแสอย่างรวดเร็ว แล้วลงมือสร้างกิจกรรมผ่านแคมเปญต่างๆ อย่างทันท่วงที
โดยปีนี้ สามย่านมิตรทาวน์ เตรียมแคมเปญใหญ่ “เรียนทาวน์” ตอกย้ำการเป็นแหล่งอาหารและการเรียนรู้ ดึงกลุ่มคนที่ต้องการพัฒนาทักษะ ความรู้ หลังจากประสบความสำเร็จในการเป็น “คลังอาหาร” พร้อมกับการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง หากสถานการณ์โอมิครอนไม่กระจายวงกว้างหรือยืดเยื้อ มีโอกาสค่าเฉลี่ยทั้งปีจะแตะ 7 หมื่นคน/วัน จากปัจจุบัน 5.7 หมื่นคน
ส่วนการที่สามย่านมิตรทาวน์สามารถผ่านวิกฤติโควิดมาได้ เนื่องจากแนวทางการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ 1. การลื่นไหลไปกับกระแสนิยมแบบเรียลไทม์ ด้วยการตลาดแบบทันท่วงที การปลดล็อคข้อจำกัดและรูปแบบการดำเนินงานแบบเดิม ๆ
2.การใช้ประโยชน์จากสถานที่ ด้วยการพัฒนาพื้นที่ที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นมากขึ้น มุ่งเน้นการสร้างสเปซให้เกิดประโยชน์กับชุมชนเป็นสำคัญ ส่งเสริมบทบาทศูนย์การค้าที่เป็นเดสติเนชัน 3.ยกระดับการใช้เทคโนโลยีในพื้นที่รีเทล เตรียมรองรับการชำระค่าบริการด้วยเงินดิจิทัล ยกระดับคุณภาพการบริการด้วยแอพพลิเคชัน MitrCare โดยล่าสุดร่วมมือกับ KBTG เพิ่มฟังก์ชั่นระบบจัดซื้อ หรือ E-Catalogue อำนวยความสะดวกขั้นสูงสุดให้แก่ร้านค้าตลอด 24 ชม.
และ 4.ส่งเสริมสุขอนามัยของผู้ใช้บริการและป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยการคงความเข้มงวดในการคัดกรองผู้ใช้บริการ การรักษาระยะห่าง การบังคับสวมหน้ากาก และการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนด
“หัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จในยุคที่ธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายและ ความไม่แน่นอน คือการทลายทุกข้อจำกัด และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์อยู่เสมอ ด้วยการปรับกลยุทธ์และแผนการตลาดอย่างทันท่วงที” ธีรนันท์กล่าว