“อีอีซีดี” หนุนลงทุนสีเขียว มั่นใจเอกชนเช่าเต็มพื้นที่
EEC จะเป็นพื้นที่นำร่องของประเทศไทยในการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งรวมถึงเป็นพื้นที่รองรับการพัฒนาที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยได้มีการกำหนดแผนพัฒนา “เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย” หรือ EECd หรือ Digital Park Thailand ให้เป็นส่วนหนึ่งของ EEC
ทั้งนี้ EECd จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมและ นวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค มุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนธุรกิจดิจิทัลควบคู่กับการสร้างสรรค์ นวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมดิจิทัลไทย รวมถึงยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีไปสู่ “อุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่” (New S-Curve Digital Industry) รวมถึงเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีดิจิทัล
โดยมุ่งเน้นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดการร่วมผลิตและแบ่งปันการใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสนามทดลองนวัตกรรมดิจิทัล เช่น การทดสอบต้นแบบอุปกรณ์และระบบซอฟต์แวร์ในสภาพแวดล้อมจริงก่อนนำไปใช้งาน
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ (Thailand Digital Valley) ในพื้นที่ EECd จะเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค เอื้อต่อการลงทุน และช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการลงทุนไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์จะเชื่อมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโลก ทั้งในกลุ่มIoT, Data Science, AI, Robotics, 5G และ Cloud เข้ากับการพัฒนาสตาร์ทอัพดิจิทัลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ก่อนนำไปสู่การทดสอบ ทดลองก้าวเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์โดยการพัฒนาเบื้องต้นขณะนี้แบ่งเป็นเป็น 3 อาคารหลัก ประกอบด้วย
1.อาคาร depa Digital One Stop Service เป็นอาคารหลังแรกที่สร้างแล้วเสร็จโดยจะเป็นพื้นที่ให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน รวมทั้งเป็นพื้นที่ทำงานสำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพ บริษัทด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นศูนย์ประสานงานของสำนักงานดีป้าสาขาภาคตะวันออกที่ใช้พื้นที่น้อยที่สุด โดยเปิดให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกตามพันธกิจของดีป้าอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เดือนม.ค.2564 เป็นต้นไป ด้วยงบประมาณก่อสร้างรวม 20 ล้านบาท
2.อาคาร Digital Startup Knowledge Exchange Centre เพื่อศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้ จะมีพื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ และไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ ถือเป็นตึกรวบรวมกลุ่มดิจิทัลสตาร์ทอัพ เนื่องจากมีโควิด-19 ผู้รับผิดชอบโครงการจึงได้ขยายเวลาการก่อสร้าง 90 วัน จากปกติจะต้องส่งงานภายเดือน ธ.ค.2564 จะเน้นเปิดให้สมาร์ทพื้นที่สีเขียว อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ด้วยงบประมาณก่อสร้างที่ 110 ล้านบาท บนพื้นที่ 4,500 ตารางเมตร โดยจะพร้อมเปิดให้บริการในช่วงเดือน มี.ค.2565 พร้อมใช้งานถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรที่เป็นอุปสรรคอีก
“ตอนนี้เริ่มมีบริษัทเอกชนเข้ามาขอเช่าพื้นที่เต็มหมดเรียบร้อยแล้ว อาทิ ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เฮาท์, บริษัทที่เกี่ยวกับดิจิทัลมีเดีย, บริษัทออกแบบที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ชิป หรือกลุ่มฮาร์ดแวร์, บริษัทสตาร์ทอัพ 4 บริษัท”
นอกจากนี้ มีศูนย์ 5G แอปพลิเคชั่น ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ AIS โดยใช้พื้นที่นำเสนอเทคโนโลยี 5G เพื่อให้บริการใน EEC ดังนั้นตึกนี้จะเป็นช่องทางการต่อยอดให้ “กลุ่มธุรกิจสีเขียว” พร้อมเป็นเซอร์วิส โพรไวเดอร์ ให้บริการสมาร์ทซิตี้
3.อาคาร Digital Innovation Centre ที่จะเป็นศูนย์นวัตกรรม ใช้งบประมาณก่อสร้าง 1,200 ล้านบาท บนพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร เป็นตึกที่ใหญ่ที่สุดเป็นหัวใจที่เรียกว่าดิจิทัลอินโนเวชั่นที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างตามทีโออาร์ 600 วัน โดยลงนามสัญญาต้นเดือน พ.ย.2564 จะครบกำหนดก่อสร้างเดือน พ.ย.2567 เบิกเงินงวดแรกไปแล้ว 10% เป็นเงิน 110-120 ล้านบาท
สำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผลักดันในอีอีซี รวมทั้งดีป้าจะร่วมผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลทั่วประเทศด้วยใน 5 กลุ่ม คือ
1.ซอฟต์แวร์จะผลักดันให้สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหรือขับเคลื่อนบนแพลตฟอร์มของเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ เช่น คลาวด์ บล็อกเชน และ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ
2.ฮาร์ดแวร์จะสนับสนุนให้พัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะ ซึ่งเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย
3.ดิจิทัลคอนเทนต์ซึ่งภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยปี 2563 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 26.55% มีมูลค่าอุตสาหกรรม 39,332 ล้านบาท ได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมเกมที่ขยายตัวต่อเนื่อง แบ่งสัดส่วนรายได้จากตลาดส่งออก 70% และตลาดในประเทศ 30% ครอบคลุมแอนิเมชัน ภาพยนตร์ เกมและบิ๊ก ดาต้า ซึ่งภาครัฐมีแผนผลักดันเพื่อให้ธุรกิจนี้ขยายตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยจะเติบโตต่อเนื่องอีก 3 ปี โดยจะมีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 49,649 และ 59,136 ล้านบาท ในปี 2564-2565 ซึ่งมูลค่าอุตสาหกรรมอาจพุ่งถึง 72,703 ล้านบาท ในปี 2566
"สำหรับมีปัจจัยหนุนมาจากตลาดเกมที่ประเมินว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นมากจากการระบาดของโควิด-19”
4.อุปกรณ์โทรคมนาคม หรือ ดาวเทียม ซึ่งปัจจุบันไทยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อยู่แล้วจึงผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวได้
5.ดิจิทัลเซอร์วิสซึ่งที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ ดีป้า ได้นำไปใช้อย่างมีความคุ้มค่าและได้กระจายงบประมาณลงสู่พื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อพี่น้องประชาชนคนไทย (People First)