ตลาดหุ้นปีวัวป่วน… เซียนใหญ่ ‘รวย’ โกยกำไรถ้วนหน้า!!!
“4รายใหญ่” เปิดพอร์ต 2564 โกยกำไร “ปีวัวป่วน” ตามทิศทางดัชนี “ต้นปี-ปลายปี” ปิด “รีเทิร์น” 14.37% แนะธีมลงทุน “ปีเสือ” (2565) เปิดประสบการณ์แสวงหาผลตอบแทน "นอกบ้าน" เซียนรุ่นลายคราม “เสี่ยยักษ์” แย้มปีนี้ดีเดย์ลุยหุ้นต่างประเทศ !
ปีที่แล้ว (2564) “ขี่วัวป่วน” วิ่งราว SET INDEX เก็บของถูก สะท้อนผ่านดัชนีต้นปีถือเป็น “จุดต่ำสุด” (New Low) ของปีอยู่ที่ระดับ 1,466.98 จุด (29 ม.ค.2564) ขณะที่ ดัชนีทำ “จุดสูงสุด” (New High) ของปี 2564 ระดับ 1,660.27 จุด (30 ธ.ค.2564) โดยปี 2564 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นกว่า 193.29 จุด ! เท่ากับว่าเล่นหุ้นปี 2564 เป็น “กำไร!!” โดยสร้าง “ผลตอบแทน” (รีเทิร์น) ให้นักลงทุนคิดเป็นกว่า 14.37% !!
กราฟดัชนี SET INDEX
ดังนั้น ปี 2565 ที่คนไทยตั้งความหวังว่าเป็น “ปีเสือทอง” เศรษฐกิจกลับมาทยอยฟื้นตัว แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 อาจจะยังไม่จบและคงเป็นหนึ่งใน “ปัจจัยป่วน” ที่สำคัญที่สุดในอีกหลายปัจจัย เช่น เรื่องของอัตราเงินเฟ้อ สภาพคล่องทางการเงิน และ สงครามเย็น ระหว่างสหรัฐกับจีน เป็นต้น
ทว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกได้รับฟังและรับทราบเกี่ยวข้องกับโควิด-19 มาจนชินและชาแล้ว สอดรับกับสถานการณ์ที่เหล่านักลงทุนหน้าใหม่ ๆ เป็นล้านราย ๆ แห่กันเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างที่ “ไม่เคยปรากฏมาก่อน”
และก่อน “ฮันนีมูน” ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กันต่อในปีเสือทอง ! “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek”สอบถามนักลงทุนรายใหญ่ระดับแนวหน้า ถึงผลตอบแทนลงทุนในปี 2564 ต่างพากัน “โกยกำไร” เข้ากระเป๋าไม่น้อย !! แม้ว่าในรอบปี 2564 นิยามการลงทุนเต็มไปด้วย “ความผันผวน” จากปัจจัย “ป่วน” นอกบ้าน และ ในบ้าน ทั้ง P/E สูง บรรยากาศมัว ความกลัวซ่อนภายใน
“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” นักลงทุนรายใหญ่ แบบเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ วีไอ เล่าให้ฟังว่า ผลตอบแทนลงทุนปี 2564 ในตลาดหุ้นไทย “เท่าตลาด” แต่ทว่าผลตอบแทนลงทุนตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นเวียดนามกลับสร้างรีเทิร์น (กำไร) ระดับสูงถึง 50% ของพอร์ตลงทุน ดังนั้น ในปี 2565 อาจจะมีโอกาสเพิ่มสัดส่วนลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
“การลงทุนในตลาดหุ้นปัจจุบันไม่จำเป็นลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างเดียว เราต้องหาตลาดที่สร้างผลตอบแทนที่ดี แม้ว่าการลงทุนในต่างประเทศจะต้องใช้เวลาศึกษาธุรกิจมากกว่าตลาดหุ้นไทย หรือ ต้องระวังเรื่องค่าเงินบ้าง แต่รีเทิร์นที่ได้กลับมาก็คุ้มค่า”
สำหรับ “กลยุทธ์” การลงทุนปี 2565 “ดร.นิเวศน์” บอกว่า ยังมองหุ้นกลุ่ม “ขนาดใหญ่” (Big Cap) เนื่องจากมีความทดทานต่อวิกฤติต่างๆ แม้ผลการดำเนินงานไม่ได้ดีมาก แต่ก็ถือว่าไม่แย่มาก และมีการจ่ายเงินปันผลในระดับที่ดีต่อเนื่อง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาหุ้นในกลุ่มขนาดใหญ่ยิ่งเฉพาะใน SET 50 ราคาหุ้นไม่ค่อยปรับตัวขึ้นมากเหมือนหุ้นขนาดกลาง และยังมีระดับ P/E ต่ำอีกด้วย เช่น กลุ่มธนาคาร (แบงก์) ที่มีผลประกอบการยังเติบโต
จากการสำรวจการครอบครองหุ้นของ “ดร.นิเวศน์” พบว่า ปี 2564 มีหุ้นในพอร์ตลงทุนหลากหลายตัว เช่น บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAFS จำนวน 5,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.78% บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW จำนวน 10,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.60%
บมจ. มูราโมโต้ อีเล็คตรอน (ประเทศไทย) หรือ METCO จำนวน 120,000 หุ้น คิดเป็น 0.57% บมจ. ควอลิตี้เฮ้าส์ หรือ QH จำนวน 250,000,000 หุ้น คิดเป็น 2.33% และ บมจ. บริษัท ทุนธนชาต หรือ TCAP จำนวน 14,000,000 หุ้น คิดเป็น 1.20%
“เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง” นักลงทุนเจ้าของพอร์ตระดับ “พันล้านบาท” ที่มีสไตล์ลงทุนแบบTechnical เล่าให้ฟังว่า สำหรับผลตอบแทนพอร์ตลงทุนปี 2564 “ชนะตลาด” ซึ่งในปี 2564 ผลตอบแทนตลาดประมาณ 14%
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน “เสี่ยป๋อง” ยังให้ลงทุนอย่าง “ระมัดระวัง” ยังแนะนำลงทุนในกลุ่ม “หุ้นขนาดใหญ่” (Big Cap) เนื่องจากเป็นหุ้นกลุ่มที่มีสภาพคล่องในระดับสูง โดยการลงทุนจะเป็นลักษณะการกระจายลงทุนในหุ้นหลากหลายตัว เนื่องจากในปี 2565 แนวโน้มเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น โดยมีทั้งกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี , กลุ่มธนาคาร (แบงก์) , กลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศ แต่ปัจจุบันการลงทุนก็มีปรับลดพอร์ตลงทุนลงบ้าง เพราะตลาดมีเหตุการณ์เข้ามากระทบทั้งดีและไม่ดีเต็มไปหมด
จากการสำรวจการครอบครองหุ้นของ “เสี่ยป๋อง” พบว่า ในปี 2564 มีหุ้นในพอร์ตลงทุนที่ปรากฏในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียง 2 ตัว คือ บมจ. เอสทีพี แอนด์ ไอ หรือ STPI จำนวน 10,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.62% และ บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม หรือ ITEL จำนวน 8,00,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.64%
“เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์” นักลงทุนรายใหญ่ เล่าให้ฟังว่า สำหรับผลตอบแทนในการลงทุนปี 2564 พอร์ตลงทุน “เท่าตลาด” เนื่องจากการลงทุนในหุ้นไทยไม่ง่าย ตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวน เพราะมีปัจจัยกระทบค่อนข้างเยอะ แม้ว่าในปี 2564 ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นมา แต่เป็นการขึ้นมาจากการเก็งกำไรล้วนๆ
ขณะที่ข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามากระทบดัชนีหุ้นเป็นระลอกๆ สะท้อนผ่านการเกิดขึ้นของโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เข้ามาระบาดในประเทศไทยอย่าง สายพันธุ์ “อัลฟา” (Alpha) “เบต้า” (Beta) “เดลตา” (Delta) และล่าสุด “โอมิครอน” (Omicron) สร้างความปั่นป่วนทั้งไทยและทั่วโลก หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งอย่างรวดเร็ว
จากการสำรวจการครอบครองหุ้นของ “เสี่ยยักษ์” พบว่า ในปี 2564 มีหุ้นในพอร์ตลงทุนหลากหลายตัว เช่น บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM จำนวน 349,802,957 หุ้น คิดเป็น 2.29% บมจ. เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ หรือ ETC จำนวน 32,477,400 หุ้น คิดเป็น 1.45%
บมจ. เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น หรือ PACE จำนวน 284,965,300 คิดเป็น 1.98% บมจ. โปรเอ็น คอร์ป หรือ PROEN จำนวน 10,758,500 หุ้น คิดเป็น 3.40% บมจ. คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ หรือ QTC จำนวน 12,214,000 หุ้น คิดเป็น 3.58%
“โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง” อดีตนายกสมาคม นักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ “วีไอ” เล่าให้ฟังว่า สำหรับผลตอบแทนการลงทุนในปี 2564 “ชนะตลาด” โดยพอร์ตลงทุนมีการกระจายลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันพอร์ตลงทุนในหุ้นไทยคิดเป็น 70% และอีก 30% ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ
สำหรับ กลยุทธ์ลงทุนในปี 2565 แนะนำเน้นลงทุนหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโต ราคาหุ้นไม่แพงมาก ส่วนหุ้นที่ควรระมัดระวังลงทุน “หุ้นเล็ก” ที่ราคาปรับตัวขึ้นมาแบบหวือหวาไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ
ขณะที่การกระจายพอร์ตลงทุนตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดหุ้น จีน , ฮ่องกง , เวียดนาม ซึ่งปรับพอร์ตลงทุนมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากตลาดหุ้นต่างประเทศราคาถูกกว่าหุ้นไทย และสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าหุ้นไทยมาก ยิ่งเฉพาะในตลาดหุ้นประเทศเวียดนามที่สร้างผลตอบแทนมากว่าตลาดหุ้นไทย 15-20% ซึ่งปัจจุบันในพอร์ตมีหุ้นเวียดนามประมาณ 10 ตัว หลักๆ เป็นหุ้นในธุรกิจแพคเกจจิ้ง ,ธุรกิจผลิตน้ำประปา ,ธนาคาร (แบงก์)
จากการสำรวจการครอบครองหุ้นของ “โจ-อนุรักษ์” พบว่า ในปี 2564 มีหุ้นในพอร์ตลงทุนหลากหลายตัว เช่น บมจ. โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ หรือ GSC จำนวน 6,268,000 หุ้น คิดเป็น 2.51% บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง หรือ TPCH จำนวน 4,260,700 หุ้น คิดเป็น 1.06% และ บมจ. ไทยโพลีคอนส์ หรือ TPOLY จำนวน 20,650,000 หุ้น คิดเป็น 3.61%
“กูรู” ฟันธงตลาดหุ้นปี 2565 “ขาขึ้น”
“ทอม-ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด บอกว่า สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยปี 2565 เชื่อว่าเป็น “ขาขึ้น” โดยหลักได้ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แม้จะมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่เชื่อว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะไม่รุนแรงเท่าการแพร่ระบาดระลอกแรก
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังได้ปัจจัยหนุนจากแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เป็นขาขึ้น โดยคาดว่ากำไร บจ. ปี 2565 จะเติบโต 12% สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีหน้าที่คาดว่าจะเติบโต 4% ซึ่งกำไร บจ. ที่เติบโตจะส่งผลบวกให้ดัชนี SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันราว 10-12% หรือมีโอกาสปรับขึ้นทดสอบระดับ 1,800 จุด
สำหรับปัจจัยเสี่ยงภาวะเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 3 ครั้งในปี 2565 เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจำกัด เพราะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยจากระดับ 0% ในปัจจุบัน รวมถึงเป็นปัจจัยลบที่สะท้อนไปในราคาหุ้นแล้ว นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังไม่มีความเสี่ยงภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยนโยบายยังมีแนวโน้มทรงตัวต่ำ
“โดยรวมแล้วสภาพแวดล้อมค่อนข้างเอื้ออำนวย เพราะเป็นประเทศที่มีจุดขายเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งคาดจะเห็นการฟื้นตัวปีหน้า รวมถึงไม่มีความกังวลภาวะเงินเฟ้อ จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวเด่น (Outperform) และมีโอกาสเห็นกระแสเงินลงทุน (ฟันด์โฟลว์) ต่างชาติกลับเข้ามาลงทุน ซึ่งระดับแสนล้านก็มีความเป็นไปได้”
“กิจพณ ไพรไพศาลกิจ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ประเมินตลาดหุ้นไทยปี 2565 จะสดใสที่สุดในช่วง 4-5 เดือนแรก โดยได้ปัจจัยหนุนจากกระแสเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะเป็นภูมิภาคที่คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมา Outperform โดยประเมินเป้าหมายดัชนีปีหน้ามีโอกาสทดสอบ 1,820 จุด จากสมมติฐานอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E Ratio) ที่ 18.5 เท่า กำไรต่อหุ้น (EPS) 98 บาท
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะถูกผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าและเป็นความเสี่ยงเงินทุนไหลออก
สำหรับการลงทุน แนะนำซื้อหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศและได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มประกัน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มค้าปลีก โดยแนะนำใช้จังหวะย่อซื้อในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งคาดว่าตลาดจะปรับฐานจากความกังวลโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และการครบกำหนดของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)