รู้จักผู้บริโภค “ชอบอวด” ขุมทองแบรนด์ เพิ่มโอกาสการตลาด

รู้จักผู้บริโภค “ชอบอวด”  ขุมทองแบรนด์ เพิ่มโอกาสการตลาด

โลกของการตลาดไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้บรรดานักการตลาดต้องหมั่นสังเกต และศึกษากลุ่มเป้าหมายว่าแต่ละปีแต่ละช่วงมีเทรนด์อะไรที่มาแรง

เป็นประจำทุกปีที่นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ต้องทำงานวิจัยการตลาดก่อนจบการศึกษา จึงมีเทรนด์ที่มาพร้อมกับกลยุทธ์การตลาดน่าสนใจ ให้นักการตลาด แบรนด์สินค้าและบริการนำไปปรับใช้ ซึ่งล่าสุดงานวิจัย “BRAGGER MARKETING รู้ก่อนใครได้ใจคนชอบอวด” ถูกหยิบมานำเสนอให้รู้ว่าผู้บริโภคยุคดิจิทัล ชอบ “อวด(ของ)ดี” ให้โลกรู้เสมอ

อัจฉรา รุจิระพงค์ นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หัวหน้าทีมวิจัย นิยามการ ผู้บริโภคชอบ “อวด” ผ่าน 3 คำ ได้แก่ “อ : อำนาจ” ซึ่งเป็นการแสดงตัวตนตามธรรมชาติ และสัญชาติญาณของมนุษย์ เพื่อให้เห็นว่าตนเองมีอำนาจเหนือคนอื่นนั่นเอง พร้อมยกตัวอย่างผู้นำเกาหลีเหนือ “คิม จ็อง-อึน” ที่มักแสดงแสนยานุภาพทางทหารให้โลกประจักษ์ด้วยการยิงทดสอบขีปนาวุธเป็นระยะๆ

พฤติกรรมผู้บริโภค “ชอบอวด” ที่เป็นไวรัลก่อนหน้านี้ต้องยกให้ Fallingstar Challenge ที่เหล่าศิลปิน เซเลบริตีคนดังเกาะเทรนด์แรงโชว์ออฟการล้มจูบพื้นอวดรวย โดยมีข้าวของกระจัดกระจาย ซึ่งผู้ที่ชอบอวดเลือกล้มจากรถหรู และมีสินค้าแบรนด์เนมตกบนพื้นมากมาย

ส่วน “ว : วัดสถานะ” พฤติกรรมหนึ่งของคนชอบอวด เพราะต้องการสะท้อนว่าตนเองมีสถานะดีกว่าคนอื่น ตัวอย่าง กระแสผู้บริโภคชาวจีน ชื่นชอบการโพสต์เครื่องสำอางยี่ห้อดัง ราคาแพงระยับจำนวนมากลงบนสื่อออนไลน์ เพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่ามีสิ่งนี้ ใช้แบรนด์นี้อยู่ และ “ด ดูจี” คือการอวดเพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าตัวเองดูดีในสายตาผู้อื่น โชว์ไลฟ์สไตล์ที่เหนือกว่าคนอื่น เช่น เศรษฐีดูไบที่นิยมเลี้ยงเสือชีตาห์ ซึ่งเป็นสัตว์หายาก เพียงเพื่อต้องการประดับบารมี เป็นต้น

รู้จักผู้บริโภค “ชอบอวด”  ขุมทองแบรนด์ เพิ่มโอกาสการตลาด

อัจฉรา รุจิระพงค์

ในไทยนักศึกษาซีเอ็มเอ็มยู ยังวิจัยลงลึกถึงพฤติกรรมผู้บริโภคชอบอวด จากกลุ่มตัวอย่าง 810 คน ผ่านการตอบแบบสอบถามออนไลน์และสัมภาษณ์เชิงลึก โดยกลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นเพศหญิง 62.7% เพศชาย 24.7% เพศที่มีหลากหลาย(LGBTQ+) 12.6% ยังแบ่งเป็นเจเนอเรชันเบบี้ บูมเมอร์ 2.9% เจนเอ็กซ์ 11.2% เจนวาย 66.8% และเจนซี(Z) 19% โดยพบว่าผู้บริโภคชอบอวดจะมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การอวดแบบเปิดเผย (BRAGGER) หรือเป็นผู้ที่ชอบอวดแบบจริงจัง สื่อตรงไม่อ้อมค้อม โดยคนที่รู้สึกไม่มั่นคงมีแนวโน้มที่อวดแบบเปิดเผยค่อนข้างมาก และ2.การอวดแบบถ่อมตน (HUMBLE BRAGGER) เป็นการอวดที่ไม่เหมือนอวด อวดแบบมีทักษะ เพราะไม่ต้องการให้คนหมั่นไส้ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีการอวดแบบถ่อมตัวในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคที่อวดแบบถ่อมตัว กลับไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป เนื่องจากถูกมองว่ามีความสามารถน้อย เพราะใช้วิธีอวดแบบถ่อมตัวและดูไม่จริงใจ แต่ผู้บริโภคในสังคมไทยมีแนวโน้มชอบการอวดแบบถ่อมตนค่อนข้างมาก

ส่วนแรงขับเคลื่อน ที่ทำให้เกิดการอวด มาจากบุคลิกภาพ 2 แบบ คือ 1. ผู้ที่ชอบแสดงตัวตน (Self-Presentation) พยายามนำเสนอตนเองและ 2. ผู้ที่มีความมั่นใจในตัวเอง (Self Esteem) ผู้ที่เคารพและเห็นคุณค่าในตนเอง เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองทำ คนเหล่านี้มักตั้งโพสต์แบบสาธารณะ แสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี โดยไม่คิดเล็กคิดน้อย

 

รู้จักผู้บริโภค “ชอบอวด”  ขุมทองแบรนด์ เพิ่มโอกาสการตลาด นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริโภค LGBTQ+ มีแนวโน้มที่จะอวดมากกว่าเพศอื่นๆ เพราะชื่นชอบการแสดงออกสูง ส่วนเจนซี ชอบอวดมากว่าเจนอื่นๆ เนื่องจากเกิดในยุคที่มีอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี มีความชำนาญในการเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างสะดวก และผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างระดับรายได้ 15,000 – 25,000 บาท มีแนวโน้มที่จะอวดมากกว่าระดับรายได้อื่นๆ เพราะ “กว่าจะเก็บเงินซื้อสินค้าและบริการได้ ไม่ใช่ง่ายๆ นะ พอได้มาแล้วก็อยากโชว์บ้าง ให้คนอื่นเห็นว่าเราก็มีนะ” และผู้ที่ชอบแสดงตัวตน มีแนวโน้มที่จะอวดมากกว่า เช่น ถ้าได้รับของขวัญจากแบรนด์ดังจะโพสต์แน่นอน เพราะบางครั้งต้องการเป็นจุดสนใจ

ส่วนสื่อออนไลน์ที่ผู้บริโภคนิยมใช้มากที่สุดเพื่อโชว์ออฟ คือ อินสตาแกรม บอกเล่าไลฟ์สไตล์กินข้าวที่ไหน กินกาแฟที่ไหน แต่งตัวอย่างไร โดยคอนเทนต์ที่คนชอบอวดมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. สินค้าแบรนด์เนม 2. การบริการที่รู้สึกประทับใจ และ3. ไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวัน

การรีวิวหรือแชร์ (Post & Share) บนโลกออนไลน์ ยังพบว่ากลุ่ม LGBTQ+ มีแนวโน้มที่จะรีวิวหรือแชร์มากกว่าเพศอื่นๆ หากประทับใจเลือกที่จะแชร์ บอกต่อ เช่นเดียวกับเจนซีมีแนวโน้มที่จะรีวิวหรือแชร์ มากกว่าเจนอื่นๆ รวมถึงผู้มีระดับรายได้ 15,000 – 25,000 บาทจะรีวิวหรือแชร์มากกว่าระดับรายได้อื่นๆ เช่นกัน โดยสิ่งที่ชอบโพสต์และแชร์มากที่สุด คือ ท่องเที่ยว 33% ของกินของใช้ 25.5% ร้านอาหาร ร้านกาแฟ 19.2% ข่าวสารทั่วไป 10.8% เทคโนโลยี 4.8% และการลงทุน 4%

สำหรับกลยุทธ์การตลาดเจาะใจคนชอบอวด หรือ BRAG STRATEGY ที่นักการตลาดนำไปต่อยอดได้ ประกอบด้วย B : Brandname กลยุทธ์จับกลุ่มผู้เลิฟสินค้าแบรนด์เนม เพราะผู้บริโภคต้องการอวดสินค้าแบรนด์เนมที่มีราคาสูง เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกสถานะทางสังคม เช่น การอวดรถหรุ รับประทานอาหาร ดังนั้น แบรนด์สามารถเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ นำเสนอความคุ้มค่า และใช้วิธีการสื่อสารที่สะท้อนถึงความสำเร็จในชีวิต เจาะกลุ่มเป้าหมาย

รู้จักผู้บริโภค “ชอบอวด”  ขุมทองแบรนด์ เพิ่มโอกาสการตลาด R: Restaurant สร้างโมเมนต์ประทับใจ ถ่ายเก็บไว้อวดพร้อมบันทึกความทรงจำ เมื่อผู้บริโภคนิยมแชร์ในช่วงที่มีความสุข ทานอาหารอร่อยๆ บรรยากาศที่ดี ทางร้านควรจัดทำเมนูและการตกแต่งร้านที่สวยงามให้ลูกค้าสามารถถ่ายรูปและโพสต์ลงโซเชียลได้ สร้างความยากในการเข้าถึง ไม่ได้ทานได้ง่ายๆ เช่น โอมากาเสะ เชฟเทเบิล การได้รับการรับรองจากสถาบันที่มีชื่อเสียง เช่น มิชลินสตาร์ ฯ

A: Accommodation ที่พักบริการประทับใจ เพื่อให้อวด-รีวิว-แชร์ ผู้บริโภคมักอวดหรือบอกต่อเมื่อได้รับการบริการจากที่พักอย่างดี ถือเป็นการแสดงอำนาจ บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าผู้อื่น ธุรกิจที่พักอาศัยหรือธุรกิจโรงแรม จึงควรมีจุดถ่ายรูปตามธีมเทศกาลต่างๆ จัดกิจกรรมตามสิ่งที่กำลังเป็นกระแส มอบสิทธิพิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้าพรีเมียมที่จะได้รับการบริการเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป และให้ความสำคัญกับรีวิวในแพลตฟอร์มจองโรงแรมที่พักต่างๆ ตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เช่น โรงแรม เดอะ เพนนิลซูลา กรุงเทพฯ รองรับเทศกาลจุดพลุเคาท์ดาวน์ปีใหม่ที่ไอคอนสยาม เป็นต้น

ปิดท้ายที่ G: Gym อวดรูปร่างที่ดีจากความพยายามของตนเอง เพื่อโชว์ออฟว่าตนเองดูดีในสายตาผู้อื่น จึงต้องทำให้ตัวเองมีสไตล์หรือมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นด้วยรูปร่างที่ดีเพราะพยายามเอง ทั้งนี้ ธุรกิจฟิตเนสต้องติดตามกระแสที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอยู่เสมอ และดึงแบรนด์ให้มีส่วนร่วมกับกระแสตลอดเวลา สร้างเทรนด์การออกกำลังกาย หรือการปั้นหุ่นในฝัน โดยทางฟิตเนสอาจสร้างชาเลนจ์เพื่อให้เกิดกระแสไวรัล (Viral) ในโลกออนไลน์ เป็นต้น