“ทีดีอาร์ไอ”ชง 4 แนวทาง หนุนพัฒนา “อีอีซี” ยั่งยืน
การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด และใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรม และปัจจุบันได้มีการต่อยอดเป็นอีอีซี
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล กล่าวว่า ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีความพิเศษโดยเฉพาะทะเลที่มีความกว้างสวยงาม และเชื่อมต่อทั่วทุกภูมิภาค อีกทั้งมีการผลิตก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันออกอ่าวไทย โดยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดให้โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นโครงการที่ใช้ต้นแบบจากญี่ปุ่นที่ใช้พื้นที่ถมทะเลมาขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านขนส่งและอุตสาหกรรม แต่มักเกิดปัญหาตามมาโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม เพราะเมืองอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเร็วกว่าที่รัฐบาลจะตามแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งเดิมมีแผนให้พัทยาเป็นเมืองหลวงภาคตะวันออก แต่ปัจจุบันทำไม่ได้จึงต้องดูแลให้ครบถ้วน โดยมูลนิธิฯ เห็นว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกควรพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งปัจจุบันมีกฎหมายดูแลเฉพาะด้านแล้วจึงน่าจะดีขึ้น
“กฎหมายดูแลทั้งมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม ถือว่ามีครบถ้วน เราจึงเริ่มทำร่วมกับจิสด้าและทีดีอาร์ไอ นำคลังสารสนเทศมาบริหารจัดการอย่างแท้จริง และทีดีอาร์ไอสามารถวิเคราะห์เศรษฐกิจสังคมประเทศ จะเป็นเรื่องจริงหลักฐานจริง วิเคราะห์จริง โดยเฉพาะขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน”
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเริ่มต้นพัฒนาอีอีซีได้ต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยปัญหาสิ่งแวดล้อมได้พยายามแก้ไขมาตลอด โดยการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสังคมรวมถึงประชาชนจะต้องอาศัย 4 ประเด็นหลัก คือ
1.นโยบายระดับชาติ เพราะการเลือกอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมโจทย์ คือ เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมที่เน้นทรัพยากรสู่นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ หรือการเกิดอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ให้เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาคือจะใช้พลังงานสูง ในขณะที่นโยบายการ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หากนำมาใช้ในภาคเกษตรกรรมอาจใช้น้ำเยอะ
2.การบังคับใช้กฎหมาย เป็นเรื่องสำคัญเพราะนโยบายทิศทางสามารถกำหนดได้แต่มีความท้าทายเยอะ ดังนั้น กฎหมายจะเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาผังเมืองต้องมีกฎหมายชัดเจน การจัดการขยะอุตสาหกรรมที่เกินความสามารถบริหารจัดการ แต่หากอนาคต 10 ปีข้างหน้า จะทำให้ขยะตกค้างหมดไป
3.เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ การป้องกันลักลอบทิ้งขยะ โดยที่ผ่านมาใช้ GPS ควบคุมรถสาธารณะเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุป้องกันการวิ่งนอกเส้นทางและควบคุมความเร็ว ดังนั้นต้องศึกษาเพื่อให้ป้องกันโรงงานลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และกรมการขนส่งทางบก ต้องศึกษาหาทางติด GPS
รวมทั้งในด้านของการเก็บข้อมูลควรให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีข้อมูลการปล่อยของเสีย ควรนำมาเชื่อมต่อเข้ากับระบบข้อมูลอื่นเพื่อเป็นข้อมูลระดับชาติ
4.การบูรณาการร่วมกัน ทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม โดยรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลสำคัญทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ ซึ่งต้องกลไกการที่ประชาชนมีส่วนช่วยรายงานแจ้งเบาะแสจะสำคัญมาก และรัฐต้องเปิดรับข้อเสนอแนะแม้รัฐมีข้อมูลที่เป็นทางการ แต่ควรนำเอาข้อมูลประชาชนร่วมพิจารณาด้วย
สำหรับรายงานประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ การพัฒนาอีอีซีเพื่อการพัฒนายั่งยืน โดยเฉพาะด้านสังคม สิ่งแวดล้องและเศรษฐกิจ กรอบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเศรษฐกิจมั่งคั่งต้องกระจายความเจริญในสังคมดังนั้น สุขภาพต้องมาก่อน มุมมองพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและชนบทต่างๆ การเข้าถึงการศึกษาที่ต้องได้รับการพัฒนา ดังนั้น การพัฒนาเพื่อเศรษฐกิจไปได้เร็วต้องนำอุตสาหกรรมมาช่วย
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการขยะที่มีทั้งชุมชนและขยะอุตสาหกรรม จะต้องสร้างจิตสำนึก และนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาร่วมบริหารจัดการ พื้นที่อุตสาหกรรมต้องใช้น้ำ การจัดสรรทรัพยากรน้ำเดิมที่ใช้ภาคการเกษตรการใช้ในภาคอุตสาหกรรมจะต้องดูกลไกการคืนประโยชน์ให้เกษตรกรด้วย
ขยะอุตสาหกรรมในอีอีซี 3 จังหวัด ประกอบด้วยชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีแนวโน้นเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้รั่วไหลออกไปสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนหน่วยงานอาจต้องเข้ามาดูแล แม้จะมีโรงงานกำจัดขยะหรือตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่มขึ้นแต่ไม่พียงพอ
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าทั้ง 3 จังหวัดมีการกำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้อง ในอนาคตจะเอาขยะนี้มาสู่ระบบที่จัดการให้เหมาะสมเรื่อยๆ จากปัญหาโควิด-19 พบว่าขยะติดเชื้อเกิดขึ้นจำนวนมาก ต้องใช้เตาเผาความร้อนสูง และมีโรงงานกำจัดขยะที่ระยองแห่งเดียวที่กำจัดขยะติดเชื้อได้วันละ 3.6 ตัน จากปัจจุบันที่มีขยะติดเชื้อถึง 10-12 ตัน และอนาคตจะมีมากขึ้น
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยกันพัฒนาภาคตะวันออกที่เน้นความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสังคมและประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาประกอบการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจโครงการต่างๆ