เว้นภาษีคริปโทฯ เอกชนหวังบูมตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
เอกชนแนะรัฐบาลออกบทเฉพาะกาลยกเว้นการจัดเก็บภาษีคริปโทฯ เพื่อบูมตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย “เศรษฐา” ยอมรับเป็นตลาดใหม่ จำเป็นต้องดูแลเท่าเทียมตลาดหุ้น “จิรายุส” ชี้ให้นับเป็นหลักทรัพย์เพื่อยกเว้นภาษี ด้านตลท.ประกาศเปิดกระดานเทรดไตรมาส 2 แบงก์ชาติเข้มแบงก์พาณิชย์ห้ามถือครองคริปโทฯ
นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้ที่เกิดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี เพื่อให้เกิดการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้เติบโต เหมือนเช่นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“บัญชีที่เทรดคริปโทฯปัจจุบันที่กระโดดไป 3 ล้านกว่าบัญชีแล้วนับช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาโตขึ้น 2-3 เท่า ชัดเจนว่าเป็นเทรนด์ของโลกรุ่นใหม่ ซึ่งเราจะต้องยอมรับให้ได้และต้องอยู่กับมันไป”
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่มีการเก็บภาษีเป็นประเด็นฮอตที่ทุกคนพูดคุยกันอยู่ ขอแสดงความเห็นตรงนี้ว่า เรื่องการเก็บภาษีการเทรดคริปโทฯ ต้องย้อนไปพูดเรื่องการซื้อขายหุ้นด้วย เพราะตลาดหุ้นบูมมา 30-40 ปีแล้ว กฎหมายพื้นฐานให้เก็บภาษีจากหุ้นด้วย แต่มีพระราชกฤษฎีกายกเว้น ซึ่งยกเว้นมาถึงปัจจุบันนี้ ทำให้ตลาดหุ้นเติบโตมาได้อย่างแข็งแกร่งและเป็นหนึ่งในผู้นำในภูมิภาคนี้
“ตลาดคริปโทฯเพิ่งเกิดมาได้ 2-3ปี เพราะฉะนั้น คนที่สนใจและลงทุนในคริปโทฯอยู่ ก็อยากเห็นบทเฉพาะกาลแบบเดียวกันออกมา ยกเว้นภาษีตรงนี้”
นายเศรษฐา ยอมรับว่า การที่แสนสิริใช้เงินลงทุนราว 2 พันล้านบาท ซื้อหุ้นในบริษัท เอ็กซ์สปริง จำกัด (มหาชน) ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า เอ็กซ์สปริง คือโลกของอนาคตใหม่ เป็นโลกของคนรุ่นใหม่ สินทรัพย์ดิจิทัลจึงเป็นเครื่องมือของการลงทุนที่ให้ทุกคนเข้าถึงได้ มีความเสมอภาคในการลงทุน
ทั้งนี้กฎหมายการเก็บภาษีจากรายได้สินทรัพย์ดิจิทัล มีผลบังคับใช้เมื่อ 14 พ.ค.2561 หลังจากพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พ.ค.2561 โดยหลักการของกฎหมายจัดเก็บภาษีบนฐานรายได้ทุกประเภทที่เกิดขึ้นจากธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งขาย แลกเปลี่ยน รับโอน ฝากเหรียญ ขุดเหรียญ ดอกเบี้ย เป็นต้น
“บิทคับ” เสนอคริปโทฯเหมือนหุ้น
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ Bitkub เปิดเผยว่า ทางบริษัทพร้อมที่จะให้ความคิดเห็นกับทางกรมสรรพากร ไม่เห็นด้วยหลักการจัดเก็บภาษีคริปโทฯ ทั้งในส่วนของบริษัทและนักลงทุนที่เสนอความคิดเห็นเข้ามา ว่าการกำกับดูแลควรจะมองในหลายมุมมองและมีการพูดคุยให้สอดคล้องกันในหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
ส่วนที่จะเสนอ มีโอกาสที่เปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านความหมายเงินให้สอดคล้องกับปัจจุบัน กฎหมายเก่าเกินไป ด้วยการตีว่าเป็นสินทรัพย์แต่ควรมองว่าเป็นหลักทรัพย์ เพราะตลาดรองซื้อขายรายวันเหมือนหลักทรัพย์เช่นหุ้น จึงไม่สามารถมีภาษีเหมือนทรัพย์สินทั่วไปได้
หวั่นมุดดิน เก็บภาษีไม่ได้
นายจิรายุส กล่าวอีกว่า ที่สำคัญใครที่ซื้อนอกตลาดคือทรัพย์สินภาษีจะสูง แต่อยู่ในตลาดรองที่มีการซื้อขายคือหลักทรัพย์ และได้รับยกเว้น capital gain จะเป็นการดันเข้าสู่ระบบ สามารถเห็นเส้นทางการเงินได้ทำให้ไม่มีใครหลบเลี่ยงไปใต้ดิน
ดังนั้นเมื่อดันเข้าระบบมากขึ้น จะเป็นแรงหนุนให้เกิดธุรกิจการเก็บภาษีที่กรมสรรพากรจะได้มากขึ้นตามธุรกิจที่เติบโต หรือหากกังวลการเข้าถึงที่ไม่เหมาะสมต้องดูแลนักลงทุน ก็มีการตรวจสอบตัวตนก่อนลงทุน หรือ KYC เป็นต้น
“จากการจะเก็บภาษีมีลูกค้าเริ่มจะแปลงบาทไปเป็นคริปโทฯ ยิ่งเก็บภาษีบนพื้นฐานที่ไม่สมเหตุสมผล ยิ่งทำให้นักลงทุนไม่อยากแปลงคริปโทฯ กลับมาเป็นเงินบาท และสุดท้ายทำให้ต้อนให้ผู้ลงทุนไม่อยากใช้เงินบาทอีกต่อไป ซึ่งในอนาคตไม่เกิน 5 ปี จะเห็นการแลกเปลี่ยนคริปโทฯ มากกว่านี้อีกมาก”
ธปท.ย้ำไม่หนุนคริปโทฯชำระสินค้า
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า สำหรับบทบาทและท่าทีของธปท.ที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ธปท.ไม่สนับสนุนให้ใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ(Means of payment) ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.พยายามสื่อสารมาโดยตลอด ในเรื่องความผันผวน และความเสี่ยง ที่มีโอกาสถูกแฮก และไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ระบบการชำระเงินขาดการบูรณาการและขาดเอกภาพ
“เหมือนเราวิ่งตามถนน แต่ถนนบางสายวิ่งไม่ได้ วิ่งได้เฉพาะกลุ่ม ดังนั้นอาจไม่สะดวกในการให้เป็น Means of payment ดังนั้นควรอยู่ในรูปเงินบาทเป็นหลัก”
ห้ามแบงก์ถือครองคริปโทฯ
ในด้านธนาคารพาณิชย์ ธปท.ไม่อนุญาตธนาคารพาณิชย์ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง แต่หากในกรณีบริษัทลูกของธนาคารต้องการถือสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องเข้ามาขออนุญาตจากธปท.เป็นรายกรณี ยกเว้นบริษัทลูกมีหน่วยงานอื่นเป็นผู้กำกับดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นต้น
อย่างไรก็ดีขอบเขตเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัล จะอยู่ภายใต้ Consultation paper ที่ธปท.จะออกมาวันที่ 2 ก.พ.นี้ โดยบางเรื่องอาจมีความยืดหยุ่นขึ้น เพื่อต้องการเห็นการปรับตัวของธนาคาร เพราะถ้าหากมีการล็อกทุกอย่างก็จะไม่ตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนไป ทั้งในมุมผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ และภายใต้ผู้แข่งขันรายใหม่ๆที่เข้ามาแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เหล่านี้ธปท.จึงต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างความเสี่ยงกับเสถียรภาพ
“บางด้านธปท.จะมีการทบทวน เช่นมุมของฟินเทค ที่ธปท.มีการขีดลิมิตการลงทุนอยู่ที่ 3% ของเงินกองทุน ต้องมาทบทวนบริบทนี้ใหม่ เพราะบางฟินเทคมีความเสี่ยงมาก แต่บางกลุ่มเสี่ยงน้อย และหนุนให้เกิดนวัตกรรมมากขึ้น แต่เรื่องที่มีความเสี่ยง เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลก็ยังคงต้องคุมอยู่ จำเป็นต้องมีการ์ดเร็ว เหมือนข้างถนน เพื่อไม่ให้หลุดออกจากถนน จึงต้องมีราวกั้น”
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสการเก็บภาษีหุ้นและภาษีคริปโทเคอร์เรนซี แต่ตลาดหลักทรัพย์ยังเดินหน้าแผนการให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเตรียมเปิดให้บริการ “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย”(Thai Digital Assets Exchange: TDX) เพื่อเป็นตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขอใบอนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตภายในไตรมาส 1 ปี 2565 และคาดว่าในไตรมาส 2 ปี 2565 จะสามารถเปิดให้บริการได้บางส่วน ก่อนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในไตรมาส 3 ปี 2565