แผนจัดการขยะชุมชน-อุตฯ ชี้ชะตาอนาคตการพัฒนา “อีอีซี”
การผลักดันนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นการต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด โดยไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพพร้อมรองรับยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การพัฒนาอีอีซีให้เป็นที่ยอมรับสิ่งสำคัญหลัก คือ สังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ซึ่งการจะให้ทั้ง 3 สิ่งเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอยู่ที่ความเป็นอยู่ของประชาชนใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล นำเอาแพลฟอร์มนวัตกรรม Actionable Intelligence Polity (AIP) ที่จิสด้าได้พัฒนาโดยนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีอื่นมาสร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ พัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์
ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนภาคตะวันออก” พร้อมเปิดตัว “รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนภาคตะวันออก ปี พ.ศ.2564” เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 ว่า อีสเทิร์นซีบอร์ด ได้ถูกคัดเลือกเป็นฐานรองรับอุตสาหกรรมที่ย้ายมาจากญี่ปุ่น เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์และปิโตรเคมี ซึ่งเป็นจุดเด่นของไทยที่รองรับอุตสาหกรรมต่างประเทศและนำมาพัฒนาในไทย
รวมทั้งการจะสร้างความยั่งยืนและสมดุลในอีอีซีต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจพอเพียงด้วย การรักษาสิ่งแวดล้อมที่ใช้ต้องรักษาควบคู่กัน ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจต้องมั่งคั่งและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยกระจายความเจริญและทำให้คุณภาพชีวิตดีในด้านสุขภาพที่ต้องมาก่อนจึงมุ่งไปพื้นที่สีเขียวให้มนุษย์อยู่ร่วมธรรมชาติ พร้อมกับได้รับการศึกษาเพื่อพัฒนาด้านสังคม
อย่างไรก็ตาม ได้แบ่งกรอบแนวคิด Dashboard ในอีอีซีเป็น 8 ด้าน คือ 1.การจัดการน้ำ 2.มลพิษทางอากาศ 3.การจัดการขยะ 4.ความยากจน 5.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 6.สุขภาพ 7.คุณภาพชีวิต และ 8.ความเท่าเทียมกับรายได้
ทั้งนี้ เพื่อสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจึงเห็นว่าการจัดการขยะเป็นส่วนสำคัญทั้งขยะในชุมชนและขยะอุตสาหกรรม
รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมในไทยมีประมาณ 60 แห่ง ครึ่งหนึ่งอยู่ในระยองและชลบุรี รวมโรงงานกว่า 1 หมื่นโรงงาน ความสำเร็จในเศรษฐกิจพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด พบว่าเกิดการสร้างรายได้ อัตราการจ้างงาน และเม็ดเงินที่จากเป็นภาษีให้กับภาครัฐ
“อีอีซีพบว่าขยะเป็นปัญหามากสุด ผลิตขยะมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 1 เท่า สร้างรายได้มากกว่าพื้นที่อื่น 2 เท่า แต่กลับมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีนัก โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวน้อยลงประมาณครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยของไทย อีกทั้งอัตราการเกิดอาชญากรรมพื้นที่ระยอง ชลบุรีสูงกว่าจังหวัดอื่น 40%” รศ.ดร.อดิศร์ กล่าว
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนนั้น ชลบุรีและระยองมีแนวโน้มปริมาณเพิ่มขึ้น ส่วนฉะเชิงเทรามีแนวโน้มลดลง ซึ่งการนำแพลตฟอร์ม AIP มาวิเคราะห์ความหนาแน่นของพื้นที่ประชากรและสถานที่กำจัดขยะ จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายได้วางงานรองรับพื้นที่และประชากรให้สอดคล้องมากขึ้น
สำหรับภาพรวมการจัดการขยะมูลฝอยในอีอีซี โดยต้นทางจะเน้นการบริหารจัดการที่มาจากครัวเรือน โดยนำแนวคิด 3R คือ 1.Reduce 2.Reuse และ 3.Recycle มาใช้ ส่วนกลางทางใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการนำมาใช้ใหม่สร้างมูลค่า ในขณะที่ปลายทางเน้นการจัดการขยะมูลฝอยแบบรวมกลุ่มคลัสเตอร์ คือ ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างแหล่งกำจัดขยะร่วมกัน
ปัจจุบันระยองเริ่มดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าอาร์ดีเอฟ ส่วนชลบุรีอยู่ระหว่างรวมกลุ่มคลัสเตอร์ คาดว่าจะดำเนินโรงไฟฟ้าจากขยะปี 2565 ส่วนฉะเชิงเทราอยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่เหมาะสม เมื่อนำแบบจําลองเกรย์ (Grey Model) มองไป 20 ปีข้างหน้าจนถึงปี 2583 ขยะมูลฝอยในอีอีซีหากเทียบกับปี 2563 จะเพิ่มขึ้น 63% ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายต้องเตรียมพร้อมในการบริหารจัดการปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ส่วนขยะอุตสาหกรรม ระยองมีศักยภาพรองรับต่ำกว่าปริมาณขยะที่เกิดขึ้น แม้ตัวโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นแต่มีจำนวนไม่เพียงพอ อีกทั้งขยะอุตสาหกรรมอันตรายมีต้นทุนสูงจึงเกิดการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณะ
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนและขยะอุตสาหกรรม โดยขยะมูลฝอยชุมชนต้องเร่งสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมภาคประชาชน การคัดแยกขยะรีไซเคิล อำนวยความสะดวก ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่ต้องการทิ้งและผู้รับซื้อขยะรีไซเคิล ช่วยลดต้นทุนทางธุรกรรม เช่น ดิจิทัลแพลตฟอร์ม อาจตั้งจัดรับซื้อเพื่ออำนวยความสะดวกให้ชุมชน พร้อมส่งเสริมให้เก็บค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการขยะให้สอดคล้องต้นทุน
ขณะที่ขยะอุตสาหกรรม มีความจำเป็นมากที่ต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องว่าช่วยลดขยะอุตสาหกรรมได้ โดยจะสนับสนุนเป้าหมายของไทยเพื่อบรรลุ Net Zero โดยพิจารณาข้อบังคับใช้กฎหมายเพิ่ม เช่น กฎหมายการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ
รวมทั้งส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีมาใช้ในการนำขยะที่ยังใช้ประโยชน์สร้างมูลค่า เช่น การแลกเปลี่ยนขยะระหว่างอุตสาหกรรม และคำนึงถึงศักยภาพพื้นที่รองรับที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และมีมาตรการเข้มข้นป้องกันไม่ให้ขยะอุตสาหกรรมรั่วไหลลงสิ่งแวดล้อมและชุมชน สนับสนุนการลงทุนเพื่อให้อุตสาหกรรมมีแรงจูงใจมาช่วยกำจัดขยะอุตสาหกรรม
ส่วนข้อมูลกรมควบคุมมลพิษปี 2562 พบว่าไทยมีขยะปีละ 28.71 ล้านตัน นำขยะกลับมาใช้ใหม่ 12.52 ล้านตัน (43.6%) ของปริมาณขยะทั้งประเทศ และมีปริมาณที่ได้รับการจัดการถูกต้อง 9.81 ล้านตัน (34.2%) ของปริมาณขนะทั้งประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 6.38 ล้านตัน (22.2%) ของปริมาณขยะทั้งประเทศเป็นขยะที่มีการจัดการไม่ถูกต้อง