ส่องโอกาสใช้รถไฟจีน-ลาว ขนผลไม้สดสู่ตลาดจีน
“จุรินทร์” เปิด "ยุทธศาสตร์ค้าชายแดน " เล็งปลดล็อคอุปสรรคปัญหา สร้างโอกาสการค้าไทยผ่านรถไฟจีน-ลาว สั่งลุยเจรจานำผลไม้สดขึ้นรถไฟไปจีนให้ทันฤดูกาลผลไม้ไทย หวังดันยอดส่งออก ด้านทูตพาณิชย์ แนะผู้ประกอบการศึกษาความพร้อมในการใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาว
การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยถือว่ามีความสำคัญมากต่อการส่งออกของไทย โดยมูลค่าการค้าของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าลดลง เนื่องจากการปิดด่านชายแดน จากนโยบายการควบคุมการติดเชื้อของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การค้าชายแดนและผ่านแดนก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ปัจจุบัน ไทยและประเทศเพื่อนบ้านเปิดจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนทั้งหมด 97 จุด ส่วนการค้าสินค้าผ่านแดนของไทยไปยังเวียดนาม และจีนตอนใต้ มีเส้นทางที่สินค้าไทยผ่าน 23 เส้นทาง แต่ไทยได้เจรจาให้เวียดนาม และจีนเปิดเส้นทางเพื่อขนส่งสินค้าจากไทยแล้ว 19 เส้นทาง เช่น เส้นทาง R8 บึงกาฬ, R9 มุกดาหาร, R12 นครพนม เป็นต้น
ทั้งนี้ด่านชายแดนไทย-ลาว ถือว่ามีความสำคัญด่านหนึ่งของไทย เพราะเป็นด่านที่มีมูลการส่งออกเป็นอันดับ 3 ของไทย โดยเฉพาะด่านศุลกากรสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จังหวัดหนองคาย ยิ่งมีการเปิดเดินรถไฟจีน-ลาว ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดเส้นทางการขนส่งและคมนาคมสำคัญเพราะรถไฟจีน-ลาวจะช่วยส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยวและการลงทุนในเขตที่รถไฟตัดผ่าน โดยเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เริ่มจาก เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาที่บ่อเต็น สปป.ลาว ปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากจ.หนองคายเพียง 24 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะใช้ประโยชน์จากรถไฟจีน-ลาว
ด้วยเหตุนี้เอง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงได้นำผู้บริหารจากกระทรวงพาณิชย์ติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนและตรวจเยี่ยม พื้นที่บริเวณด่านศุลกากรสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จังหวัดหนองคาย จากตัวเลขล่าสุดการค้าชายแดนไทย-ลาว มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเกือบ 200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.58% ไทยส่งออกไปลาว 112,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.13% ประเทศไทยได้ดุลประมาณ 31,000 ล้านบาท
“มองว่า ไทยจะใช้ประโยชน์จากรถไฟจีน-ลาว ในการขนส่งสินค้าของไทยไปยังลาวและจีนเพื่อเพิ่มตัวเลขการส่งออก และตัวเลขการค้าชายแดนไทย-ลาวได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ซึ่งยังไม่สามารถส่งออกไปได้ เพราะปัจจุบันเส้นทางรถไฟนี้อนุญาตให้ส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินแร่ ยางพาราและมันสำปะหลังเท่านั้น ”
นายจุรินทร์ ย้ำว่า จะต้องเร่งเจรจาให้เสร็จให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันต่อผลไม้ไทยที่กำลังจะออกในฤดูกาลผลิตหน้าช่วง มี.ค.-พ.ค. หากประสบความสำเร็จสามารถส่งผ่านเส้นทางนี้ได้ก็จะเพิ่มยอดการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนเพิ่มมากขึ้นเพราะผลไม้ไทยเป็นที่นิยมบริโภคของชาวจีน
สำหรับตัวเลขการส่งออกผลไม้สดไทยไปประเทศจีน นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ในปี 2564 ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ย. หรือ11 เดือน ไทยส่งออกผลไม้สดไปจีนปริมาณ 1,461,735 ตัน มูลค่า 128,562.26 ล้านบาท เติบโต 85.80 % ซึ่งตัวเลขการส่งออกผลไม้สดไปจีนเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2561 เติบโต 42.07 % ปี 2562 เติบโต115.28% และปี 2563 เติบโต 47.91% โดยปัจจุบัน จีนเป็นตลาดผลไม้อันดับหนึ่งของไทย มีสัดส่วนตลาด 84.94%
จากข้อมูลพบว่า การขนส่งรถไฟจีน-ลาวจะช่วยลดต้นทุนเวลาและการขนส่งได้ โดยจะใช้เวลาเดินทางจากคุณหมิงมาจังหวัดหนองคายไม่เกิน 15 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามทางรถไฟจีน-ลาวมาถึงเวียงจันทน์ใต้ยังขาดอีกเกือบ 3 กิโลเมตร ที่จะมาจ่อที่ริมแม่น้ำฝั่งลาว ซึ่งจะมีการจัดตั้ง Dry Port ขึ้นมา เป็นท่าทำการบริหารจัดการทุกอย่างทั้งวิธีการศุลกากร การขนถ่ายตู้สินค้าต่างๆ เพื่อขึ้นรถไฟลาว-จีน คาดว่าเดือน ก.พ.นี้จะเสร็จ ถ้าเสร็จไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยการขนสินค้าจากฝั่งไทยข้ามผ่านสะพานหนองคายและไปลงที่ฝั่งลาว ผ่านจุด Dry Port เปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าขึ้นรถไฟไปจีนได้ต่อไป
อย่างไรก็ตามแม้ว่าเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการค้าไทย แต่ยังคงมีปัญหาที่ต้องแก้ไข โดย “กวิน วิริยพานิชย์” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ วิเคราะห์ว่า ปัญหาและอุปสรรคของการขนส่งสินค้าทางรถไฟลาว-จีน สำหรับผู้ประกอบการไทย คือ ผู้ให้บริการขนส่งทางรถไฟลาวจีน คือใคร ในลาวคือใคร ในจีนคือใคร ขั้นตอนการส่งออก และกฎระเบียบการขนส่งสินค้าทางรถไฟลาว-จีนเป็นอย่างไร
ปัจจุบันยังไม่มีกำหนดกฏเกณฑ์ มาตรฐานที่แน่ชัดตายตัว ทั้งราคาค่าระวางที่แท้จริง ค่าบริการจัดเก็บ และยกตู้ รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆ ในช่วงเริ่มต้น จึงทำให้ภาระความเสี่ยงรับผิดชอบด้านค่าขนส่งตลอดเส้นทาง ลาว - จีน ตกมาอยู่ที่ผู้ส่งออกของไทย จึงทำให้เงื่อนไขไม่ชักจูงใจให้ผู้ส่งออกกล้าเข้ามาใช้เส้นทางดังกล่าว เมื่อเทียบกับการขนส่งทางถนน ทางเรือที่เราขนส่งจนคุ้นเคยอย่างดี
ขณะนี้ผู้ส่งออกของไทย ยังคงต้องศึกษาและเตรียมตัวให้พร้อมไว้กับเส้นทางรถไฟ จนเมื่อสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมกว่านี้ ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่ ทั้งจากฝ่ายลาวและจีนเองก็ดีมีความชัดเจนขึ้น โอกาสการขนส่งทางรถไฟลาว-จีนก็จะกลับมาเป็นปกติ ระหว่างนี้คงต้องพิจารณาเส้นทางขนส่งอื่นๆ เป็นทางเลือกเพิ่มเติมนอกจากการขนส่งทางรถไฟและทางถนนอย่างเดียว ซึ่งหลีกเลี่ยงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ ตราบใดที่จีนยังคงยึดนโยบายการควบคุมโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ ซึ่งคู่ค้าต่างๆ ของจีนควรเข้าใจท่าทีของจีนด้วยเช่นกัน
รถไฟจีน-ลาว มีทั้งโอกาสและความท้าทายของไทยในด้านเศรษฐกิจทั้งการขนส่ง การค้า การลงทุน โดยเฉพาะการขนส่งผลไม้สดที่ย่นระยะทางได้มากกว่าเดิม แต่ไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรับมือในสิ่งที่จะเกิดขึ้น