รถไฟจีน – ลาว พลิกโอกาส ศก.ไทย
รถไฟจีน – ลาว พลิกโอกาส ศก.ไทย
โครงการรถไฟจีน - ลาว เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา ตามแผนโครงการสายแถบและเส้นทาง (BRI) เชื่อมโครงข่ายคมนาคมระบบรางระหว่างจีนกับชาติอาเซียนเป็นแห่งแรก ซึ่งจะส่งผลต่อนัยสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ ล้วนเป็นโอกาสและความท้าทายต่อเอกชนและเศรษฐกิจไทย
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดเวทีหารือระดับสูงด้านการทูตเศรษฐกิจเรื่องการปรับตัวของไทยต่อโครงการรถไฟจีน-ลาว โดยเชิญผู้แทนกระทรวงคมนาคม และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งหน่วยงานในภาคธุรกิจร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้โอกาสนี้สร้างเศรษฐกิจสัมพันธ์ ในยุคหลังการแพร่ระบาดโควิด-19
"วิชาวัฒน์ อิศรภักดี" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อมองผ่านเลนการทูตเศรษฐกิจจะเห็นโอกาสจากโครงการรถไฟจีน-ลาว ใน 3 ประการได้แก่
1. ส่งเสริมขีดความสามารถภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย และในระยะยาวจะส่งผลต่อการดำเนินเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนานาประเทศ
2. การขยายบทบาทของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะยังมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งโครงการรถไฟจีน-ลาว เป็นเพียงหนึ่งหมุดหมายส่งผลในภาพรวม ขณะที่การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกยังเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย "ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ไทยต้องปรับมุมมองเป้าหมายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้ครอบคลุมในมิติกว้างกว่าตัวชี้วัดเดิม เช่น การค้า การลงทุน และท่องเที่ยว" วิชาวัฒน์กล่าว
3. โครงการรถไฟดังกล่าวเข้ามาประชิดพรมแดนไทย ทำให้จีนและไทยมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น การดำเนินนโยบายแบบรักษาระยะห่างเท่าเทียม และไม่เลือกเข้ากับฝ่ายใดคงไม่เพียงพอ แต่ไทยต้องดำเนินนโยบาย "การทูตเศรษฐกิจแบบเข้าได้กับทุกฝ่าย"เพื่อให้สมดุลและบรรลุเป้าหมายการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มทางเลือกและประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายในระยะยาว”
ด้าน "เชิดชาย ใช้ไววิทย์" อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่าจะต้องจับตามองในแง่การเติบโตของภูมิภาค และมองว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า รถไฟเส้นนี้จะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงสำคัญ เพราะเชื่อมโยงทางรางเส้นแรกที่พาดผ่านมาทางลาวและจะเชื่อมมายังไทยในอนาคต
"ไทยมองตนเองว่าเป็นจุดกลางเชื่อมโยงในภูมิภาคมานับร้อยปี แต่พอมีเส้นทางเชื่อมโยงที่ไม่ได้ออกแบบโดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง จึงต้องมาดูว่าไทยจะอยู่ในภาพการเชื่อมโยงนี้อย่างไร และพร้อมมากแค่ไหน" เชิดชายกล่าวเสริม หลังจากนี้จะเห็นกระบวนการต่อเนื่องได้แก่ นัยทางภูมิศาสตร์ ไทยจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด ทัศนะ และมุมมองในการกำหนดยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงหรือไม่อย่างไร รวมถึงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงในภูมิภาค การเชื่อมต่อจากจีนเกิดขึ้นจริงแล้ว ในประเทศไทยมีกฎระเบียบภายในและกฎหมายต่างๆ แผนพัฒนาพื้นที่ชายแดนพร้อมหรือไม่อย่างไร รวมถึงการจะใช้ประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นปากประตูสู่การเชื่อมโยงของเส้นทางรถไฟดังกล่าว
สิ่งสำคัญคือ ทิศทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่เชิดชายเห็นว่า ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถ้าวันนี้รายได้จากการท่องเที่ยวยังคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เศรษฐกิจของประเทศไทยก็ยังเสี่ยงจะซบเซาซ้ำรอยช่วงโควิด และจะทำให้คนกว่า 4 ล้านคนเสี่ยงต่อภาวะการยกเลิกจ้างงาน
เส้นทางรถไฟนี้จะทำให้การค้าและการขนส่งสินค้าเปลี่ยนแปลงไป สภาอุตสาหกรรมประเมินว่า หากมีการเชื่อมต่อโดยสมบูรณ์มายังไทย จะช่วยลดต้นทุนทางการค้าตลอดเส้นทางได้ถึง 30-50% แต่ภาพเหล่านี้จะยังไม่เกิดจนกว่าเราจะเชื่อมต่อกันได้ ซึ่งภาครัฐก็มีหน้าที่ต้องนำไปดำเนินการต่อ กระทรวงคมนาคมก็มีแผนการชัดเจนที่จะสร้างการเชื่อมต่อ แต่ต้องมีงบประมาณและต้องใช้เวลา รัฐบาลมีแผนว่าใน 3-5 ปีข้างหน้าน่าจะเกิดโครงสร้างพื้นฐานในส่วนนี้ขึ้นได้
โครงการรถไฟจีน - ลาว เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนเพื่อพัฒนาภาคตะวันตก เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่มาก ๆ ที่ต้องขยายพื้นที่ทางเศรษฐกิจของตนออกไป เชิดชายกล่าวในตอนท้ายว่า การปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์ต่อเส้นทางรถไฟสายนี้ จึงเป็นเรื่องของประเทศที่รายล้อมอยู่ต่างหาก และไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะต้องกลับมาดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไร เพราะนี่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เพื่อร่วมกันยกระดับเศรษฐกิจในภูมิภาคให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน