พาณิชย์ ยันคู่ค้ายังมั่นใจนำเข้า “หมู” ไทย หลังพบโรคASF
พาณิชย์ สั่งทูตพาณิชย์ ติดตามผลกระทบการส่งออกหมู หลังพบโรคASF เผยคู่ค้า ยังมั่นใจนำเข้า”หมูไทย” แต่อาจเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบมากขึ้น
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ไทยพบโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF) ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กำชับทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดหลักส่งออกหมูและผลิตภัณฑ์ของไทย ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ล่าสุด ได้รับรายงานว่า คู่ค้าอาจเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบมากขึ้น แต่ในตลาดสำคัญยังไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการนำเข้า โดยเฉพาะ ฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดเดียวของจีนที่อนุญาตนำเข้าเนื้อหมู รายงานว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุข ยังไม่มีมาตรการห้ามนำเข้า และขณะนี้ ยังนำเข้าไปตามปกติ
ส่วนลาว ยังสามารถนำเข้าและขายเนื้อหมูแช่เย็นแช่แข็งได้ตามปกติ เพราะโรคASF ไม่มีการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน แต่เฝ้าระวังการนำเข้าหมูมีชีวิต ที่ต้องได้รับการตรวจคัดกรองโรคก่อนข้ามแดนอย่างเข้มงวด และจากการสอบถามภาคเอกชนไทย ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ที่เข้าไปลงทุนในลาว พบว่า มีการนำเข้าพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์หมูจากไทยบางส่วน และมีกำหนดนำเข้าอีกครั้งช่วงเดือนมิ.ย.65 จึงยังไม่ได้รับผลกระทบในขณะนี้
ขณะที่เมียนมา โดยปกติแล้วมีความเข้มงวดอยู่แล้ว การนำเข้าหมูจากไทยต้องขอใบอนุญาตนำเข้า และต้องผ่านการตรวจรับรองจากกรมปศุสัตว์เมียนมา จึงสามารถนำเข้าได้ ส่วนกัมพูชา รัฐบาลมีนโยบายลดการนำเข้าหมูมีชีวิตจากไทยมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงในประเทศ
“นอกจากให้ทูตพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์ผลกระทบของโรคASF ต่อการนำเข้าหมูจากไทย โดยเฉพาะในตลาดที่สำคัญอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังให้เร่งประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมภาพลักษณ์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยของหมูและผลิตภัณฑ์จากไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ด้วย ขณะเดียวกัน กรมจะจัดทำคลิปวีดีโอสั้นเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงและดูแลสุขอนามัยหมูในไทย เผยแพร่ทางสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้ออีกทาง”
ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ คงต้องพิจารณาร่วมกับหลายฝ่าย แต่ในข้อเท็จจริง ที่ผ่านมา ไทยไม่ได้นำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ เพราะบางประเทศใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยง ซึ่งไทยมีกฎหมายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในกระบวนการเลี้ยงโดยเด็ดขาด และไม่ให้มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างในเนื้อหมูที่วางขายในท้องตลาด เพราะจะเป็นอันตรายกับผู้บริโภค และหากมีการนำเข้าจริง อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมหมูของไทยในระยะยาว เพราะหมูในต่างประเทศ มีราคาถูกกว่าประมาณ 30% เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่า เพราะใช้เครื่องจักรเป็นหลัก แต่ไทยยังใช้แรงงานคน
สำหรับการส่งออกหมูของไทย มีการส่งออก 5 ประเภท คือ หมูมีชีวิต, เนื้อหมูสดแช่เย็นแช่แข็ง, เนื้อหมูแปรรูป, เครื่องใน และเนื้อหมูแช่เกลือ โดยช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 64 ส่งออกหมูมีชีวิต 1.04 ล้านตัว มูลค่า 7,186.6 ล้านบาท ตลาดหลักคือ กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา ลาว, เนื้อหมูแช่เย็นแช่แข็ง 13,615.8 ตัน มูลค่า 1,657 ล้านบาท ตลาดหลัก คือ ฮ่องกง, เนื้อหมูแปรรูป 4,479.2 ตัน มูลค่า 1,018 ล้านบาท ตลาดหลัก คือ ญี่ปุ่น