ปี 2565 “ปีเสือดิจิทัล” ยุทธศาสตร์เคลื่อนธุรกิจไทย !
ริมถนนนักลงทุน เสิร์ฟความเคลื่อนไหวแวดวงตลาดหุ้น หนึ่งความเคลื่อนไหวน่าสนใจ ยกให้การขับเคลื่อนธุรกิจของภาคเอกชนไทย เพื่อฝ่าวิกฤติโควิด ผ่านลงทุน “สินทรัพย์ดิจิทัล” งานนี้ฮือฮาสุด ยกให้ “อาร์เอส” ลุยออกเหรียญ “ป็อปคอยน์” ดึง “แบมแบม” และ“มาร์ก ต้วน” แห่งวง GOT7
๐ เปิดศักราช “ปีเสือ” (2565) ยังเป็นอีกปีที่ “ท้าทายนักธุรกิจ” ที่ต้องหาทางขับเคลื่อนองค์กรฝ่าวิกฤติโรคระบาด ผ่านไปครึ่งเดือน บริษัทต่างๆ ยังเดินหน้าสร้างความ “คึกคัก” ให้ตลาด หนึ่งในนั้นต้องยกให้ “เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” แม่ทัพใหญ่แห่ง บมจ. อาร์เอส หรือ RS ที่นำทัพลุยสินทรัพย์ดิจิทัล ออกเหรียญ “ป็อปคอยน์” (Popcoin) เพราะออกตัวทีหลัง การโปรโมทจึงจัดอาวุธเต็มแบบอลังการ เพื่อให้โทเคนหรือเหรียญ Mass เร็วๆ
๐ สำหรับอาวุธที่ “เฮียฮ้อ” ใช้ดึงสินค้าและบริการ รวมถึง “ติ่ง” มาลงทะเบียนเป็นชาว “ป็อปสเตอร์” คือการใช้ซุปตาร์ K-Pop สายเลือดไทยอย่าง “แบมแบม แห่งวง GOT7” และหนุ่ม “มาร์ก ต้วน GOT7” อีกคน งานนี้จะรอแค่นักลงทุนที่สนใจโทเคนต่างๆ ไม่พอ การพึ่งพลังติ่งนี่แหละชนะเลิศ เพราะเพียงแค่กระแสออกไป บรรดาแฟนคลับต่างแสดงความเห็นผ่านสื่อออนไลน์ถึงความสนใจ แต่จะชนะได้ได้ ต้องยกมาทั้งวง..ว่างั้น ส่วน “เฮียฮ้อ” จะสนใจไหม ต้องติดตา ที่แน่ๆ ยังมีเซอร์ไพรส์อีกเยอะ เพื่อสร้างกระแสให้ Popcoin
๐ “เฮียฮ้อ สุรชัย” คร่ำหวอดในวงการเพลง ธุรกิจสื่อมานาน ล่าสุด กำลังจะมีการประมูลคลื่นวิทยุความถี่ FM ซึ่งจะมีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตวันที่ 17-25 ม.ค. นี้ เพื่อประมูลในเดือนก.พ. และเริ่มคิกออฟใช้ใบอนุญาตใหม่เพื่อประกอบการกิจการวิทยุฯ เดือนเม.ย. นี้ เลยถือโอกาสถาม “เฮียฮ้อ” จะเข้าประมูลหรือไม่ คำตอบที่ได้รับเสียงดังฟังชัดและหนักแน่น “ไม่ประมูล” พอขอขยายความถึงเหตุผลไม่ร่วม “เฮียฮ้อ” ยังย้ำประโยคเดิม ไม่ประมูล ไม่ร่วม..อื้อหือ! เฉียบ!
๐ ประเดิมเปลี่ยนแปลงรับปีเสืออีกหนึ่ง สำหรับนักบริหาร นักการตลาดมือฉมังอย่าง “ประพัฒน์ เสียงจันทร์” อดีตนั่งเป็นแม่ทัพธุรกิจอาหารให้กับกลุ่มไมเนอร์ ฯ ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ. ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ทว่า เบิกฤกษ์ต้นปี เจ้าตัวได้ย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่อย่าง บมจ. เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX ซึ่งเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกส์ ส่งพัสดุ จากนี้ต้องติดตามดูว่า “ประพัฒน์” จะนำประสบการณ์จากธุรกิจอาหารไปต่อยอดให้กับเคอร์รี่ฯ ในการส่งพัสดุข้ามประเทศอย่างไรบ้าง
ประพัฒน์ เสียงจันทร์
๐ ทว่า ที่แน่ๆ การคร่ำหวอดในบ้านหลังเก่านานถึง 15 ปี อย่างธุรกิจอาหาร ดูจะเป็นองค์ความรู้สำคัญที่ช่วยต่อจิ๊กซอว์ให้เคอร์รี่ฯ ซึ่งหนึ่งในหมากรบธุรกิจ คือผนึกกับ “เบทาโกร” เพื่อลุยการขนส่งสินค้าภายใต้การควบคุมอุณหภูมิ ในชื่อ “Kerry Cool” ยิ่งกว่านั้น เคอร์รี่ฯ ยังมีโปรเจคอื่นตามมา การได้ผู้บริหารมากประสบการณ์จึงช่วยสานภารกิจเติบโตในอนาคต
๐ “พังพินาศ” เป็นนิยามธุรกิจอีเวนท์ที่ “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” แม่ทัพแห่ง บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ปิ๊งไอเดียตั้งชื่อให้ เพราะตลอด 2 ปีที่เจอวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาดนั้น งานอีเวนท์ต่างๆแทบไม่ได้จัด หายวับไปจากตลาด จะจัดก็ต้องเจอข้อจำกัดการ “ห้าม” จากภาครัฐ จำกัดจำนวนเข้า จนธุรกิจขยับตัวลำบาก ส่วนปี 2565 เจ้าตัวยังมองบวกว่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวได้ ทำให้ลุยเต็มสูบระดมจัดอีเวนท์ โปรเจคใหม่ๆ ถึง 20 งาน หวังดึงผู้คนเข้าร่วมงาน ปลุกรายได้ให้เติบโต
๐ เมื่อธุรกิจอีเวนท์แทบไม่ได้จัด และอินเด็กซ์ฯ ก็มีสินทรัพย์มากมายไม่ได้ใช้งาน จึงเกิดการใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่หรือ Utilization ผสมผสานกับความเป็นเจ้าพ่อไอเดีย จึงลุยธุรกิจร้านอาหารในชื่อ “หูกระจงเฮ้าส์” ซึ่งร้านนี้ “เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน” หนึ่งในแม่ทัพร่วมของอินเด็กซ์ฯ ภูมิใจนำเสนออย่างมาก เพราะตั้งแต่คิดโปรเจค ได้หาเชฟดังอย่าง เชฟแอ้ม แห่ง Iron Chef มารังสรรค์เมนูประจำร้านหรือซิกเนเจอร์ นำถ้วยโถโอชามที่มีมาใช้ ดูแลร้านเองตลอดด้วย เพื่อให้บริการตอบโจทย์ผู้บริโภค
๐ ตอนนี้ร้าน “หูกระจงเฮ้าส์” ทยอยเปิดให้บริการ แต่ยังไม่เป็นทางการ เพราะยังต้องสร้างสรรค์เมนูอาหารเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีค่อนข้างน้อย การตกแต่งสถานที่ภายในบริษัท อินเด็กซ์ฯ ซอยปรีดีพนมยงค์ 42 แยก 12 เพิ่มเติม รวมถึงการทำตลาดด้วยการดึงอินฟลูเอ็นเซอร์ KOLs สายกินดื่มไปช่วยรีวิว ก่อนลุยเต็มสูบ
๐ จากเจ้าพ่ออีเวนท์ระดับโลก สู่ธุรกิจอาหาร ถามว่าถ้าร้านประสบความสำเร็จจนขายดี วางแผนยังไงต่อ “เกรียงกานต์” ตอบว่า “ขอให้สำเร็จก่อนดีกว่า” พร้อมหัวเราะเบาๆ แต่หากใครมีโอกาสไปรับประทานอาหาร บอกเลยได้ว่า วัตถุดิบและรสชาติ..ให้ผ่าน!! ซึ่งเมนูเด็ด ได้แก่ ข้าวผัดกิมจิคอหมูย่าง สเต๊กเนื้อวากิว สปาเก็ตตี้เบคอนพริกแห้ง และเกี๊ยวปลาหูกระจง เป็นต้น