มิตรผล 7 ทศวรรษ “ทรานส์ฟอร์ม” ดันสตาร์ทอัพรุก “แพลนท์เบส”
กลุ่มมิตรผลจับมือ "มีท อวตาร" สตาร์ทอัพไทย ผู้ผลิตแพลนท์เบสฟู้ด หนุนการพัฒนาวงการอาหารแห่งอนาคต หนึ่งในอุตสาหกรรม New S-Curve
กลุ่มมิตรผล ที่เริ่มต้นธุรกิจจากการลงทุนผลิตน้ำตาลในแบบอุตสาหกรรมครัวเรือนที่ จ.ราชบุรี เมื่อปี 2489 ได้ทรานส์ฟอร์มธุรกิจต่อเนื่องในรอบ 7 ทศวรรษที่ผ่านมา จนปัจจุบันเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 6 ของโลก รวมทั้งผลิตเอทานอลอันดับ 1 ของอาเซียน ด้วยกำลังการผลิตปีละ 380 ล้านลิตร และมีโรงไฟฟ้าชีวมวล 7 แห่ง รวมกำลังการผลิต 463 เมกะวัตต์
รวมทั้งปัจจุบันกำลังเข้าสู่ธุรกิจใหม่ Plant-based Meat ซึ่งกลุ่มมิตรผลมองแนวโน้มการบริโภคอาหารแห่งอนาคต “เนื้อสัตว์จากพืช” ประกาศจับมือพันธมิตร บริษัท มีทอวตาร จำกัด สตาร์ทอัพไทย หนุนการพัฒนานวัตกรรมอาหาร ทางเลือกใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมอาหารสู่การแข่งขันในเวทีโลก
วรเดช ฉันทศาสตร์โกศล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Energy & New Business บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า เทรนด์การบริโภค Plant-based Food กำลังมาแรงในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงเทรนด์การทานอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) ทำให้ตลาด Plant-based Food ในไทย คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 เติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ทำให้ผู้เล่นใหม่รวมทั้งแบรนด์อาหารรายใหญ่ในไทยเองเข้ามาบุกตลาดดังกล่าวมากขึ้น ยิ่งทำให้ตลาดมีศักยภาพและความสามารถในการเติบโตได้อีกมาก
กลุ่มมิตรผลในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารระดับโลกจับมือกับ “มีท อวตาร” สตาร์ทอัพไทย เพื่อต่อยอดศักยภาพธุรกิจ Food Tech Startup ทั้งยังเป็นโอกาสในการสานต่อการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนตามหลักการ ESG ภายใต้ปรัชญา “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ในการพัฒนาธุรกิจ ไม่สร้างผลกระทบให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้องค์กรสามารถเติบโตยั่งยืน โดยนำการวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาต่อยอดการใช้ทรัพยากรชีวภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม New S-curve
“เราตั้งใจสนับสนุน Startup ไทยโดยคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพอย่างมีท อวตาร ให้เติบโตแข็งแกร่ง พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมอาหารเพื่ออนาคตของไทยสู่การแข่งขันเวทีการค้าโลก ทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชที่ซับซ้อนและเป็นความรู้ใหม่สำหรับมิตรผลที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชเกษตรไทย เช่น ถั่ว เต้าหู้ เห็ด อยู่แล้ว”
ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลมีทิศทางการสนับสนุนแบรนด์ มีท อวตาร ในเชิงธุรกิจ ด้วยการมุ่งเสริมทัพความแข็งแกร่งใน 3 ด้าน ได้แก่
1.การเสริมทัพด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมอาหารที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในอนาคต
2.การเสริมศักยภาพด้านกระบวนการผลิต เพื่อเตรียมรองรับการขยายฐานการเติบโตในอนาคต
3.การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจเพื่อขยายฐานลูกค้า ในฐานะที่กลุ่มมิตรผลอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารมายาวนาน มีฐานการผลิตในหลายประเทศ จึงสามารถช่วยสร้างโอกาสการขยายธุรกิจในต่างประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล
นอกจากนี้ สตาร์ทอัพไทยยังได้รับการสนับสนุนเงินทุนเริ่มต้นจากสำหรับสตาร์ทอัพจากรัฐบาลโดยการประเมินจากโมเดลธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม และการนำเข้าเครื่องจักร
วิภู เลิศสุรพิบูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีท อวตาร จำกัด กล่าวว่า มีท อวตาร เป็น Food Tech Startup ที่ต้องการพัฒนา Plant-based Meat ที่มีคุณภาพให้คนไทยทานอาหาร Plant-based ในราคาไม่แพง พร้อมทั้งสนับสนุนเกษตรกรไทยโดยการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นอุปทานหลักในการผลิต รวมทั้งสร้างความยั่งยืนทางอาหารด้วยการใช้พืชและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“จุดเด่นของมีท อวตาร คือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชเพื่อใช้ในการประกอบอาหารที่คนไทยและชาวเอเชียชอบ ปัจจุบัน วางขาย 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ หมูสับ และหมูกรอบ โดยอนาคตจะเพิ่มความหลากหลายด้วยผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ประเภทอื่น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากขึ้น เช่น ปลา ปลาหมึก ขนม ไอศกรีม รวมถึงเตรียมบุกตลาด Ready to eat โดยร่วมมือกับแบรนด์ร้านอาหารนำความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายมาเสริมทัพกัน เพื่อสร้างสรรค์ไอเดียนวัตกรรม Plant-based Food ออกสู่ตลาด”
สำหรับอุปสรรคสำคัญของตลาด Plant-based ในไทย คือ คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักอาหารจากพืชเป็นวงกว้าง ต่างจากในต่างประเทศที่เป็นเทรนด์การบริโภคมาตั้งแต่ 10-15 ปีที่แล้ว ทำให้มีกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่หันมาบริโภคมากขึ้น รวมทั้งมีการเข้ามาทำตลาดในไทยราว 2-3 แบรนด์ แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากราคาสูง นอกจากนี้ เรื่องรสชาติที่พัฒนาให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงให้ได้มากที่สุด รวมถึงราคาซึ่งยังไม่สามารถทำให้เทียบเท่าเนื้อสัตว์จริงได้
“ขณะที่การบุกตลาดของแบรนด์ใหญ่ในไทยไม่ได้มองว่าเป็นการแย่งส่วนแบ่งการตลาด แต่เป็นการส่งเสริมให้ตลาด Plant-based เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของตลาดอีกด้วย”
มีท อวตาร ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2565 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและโรคระบาด จะมีรายได้เติบโตราว 100 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งในตลาด Plant-based อยู่ที่ 500 ล้านบาท ในอีก 5 ปี รวมทั้งเปิดตัวผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Pant-based Food ในประเภทอาหารที่หลากหลาย อีกราว 10 รายการ โดยช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาเป็นการขายภายในประเทศ 100% และมีการส่งออกเพื่อทดสอบตลาดในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยตั้งเป้าให้มียอดขายภายในประเทศ 80% และส่งออก 20% ซึ่งอาจมีการปรับสัดส่วนอีกในภายหลัง