‘ไทยประกันชีวิต’มุ่งผู้นำ ปั้นแบรนด์สู่ระดับสากล
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม “ประกัน” อย่างมีนัยสำคัญ !
สะท้อนผ่าน บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI ผู้ประกอบการธุรกิจประกันชีวิต ที่ดำเนินธุรกิจครบ 80 ปี ต้องเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วดังกล่าว และเพื่อสร้างความแข็งแกร่งรองรับการเติบโตในอนาคต
“ไชย ไชยวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 2,384,318,900 หุ้น คิดเป็น 20% และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไม่เกิน 13.5% ของหุ้นสามัญที่เสนอขายหากมีความต้องการมาก
การเข้าระดมทุนในครั้งนี้ ! ได้ทำการศึกษาและเตรียมพร้อมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เป็นไปตามวิสัยทัศน์การมุ่งสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม เสริมสร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน
สอดรับกับ “Business Landscape” ของธุรกิจประกันชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มองว่า เป็นโอกาสปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อยกระดับการกำกับดูแลและบริหารจัดการองค์กรไปสู่ระดับสากล
รวมถึง ยกระดับแบรนด์ “ไทยประกันชีวิต” ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ซึ่งการระดมทุนดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจของบริษัทฯ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันชีวิตของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การระดมทุนจะนำไปใช้ต่อยอดธุรกิจในด้านต่างๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล-การขยายตลาด การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่าย การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน
“การที่เราจะไปต่อได้ในอนาคต คือ เราต้องปรับตัวให้เร็ว ตัดสินใจให้เร็ว พร้อมที่จะยืดหยุ่น และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในธุรกิจอย่างทันท่วงที"
โดยบริษัทวางเป้าหมายการเติบโต 3-5 ปี (2565-2569) ยังเติบโตต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์การเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ในทุกช่องทางจำหน่ายรวมถึงการนำเสนอช่องทางการขายใหม่ๆ ที่เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น อาทิ ช่องทางดิจิทัล
พร้อมกับการสร้างประสบการณ์แบบ Personalized ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ การขาย และการบริการ ที่ตรงใจกับความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในด้านการออมและความคุ้มครอง ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ สภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน
สำหรับปี 2564 คาดสามารถโตได้ตามหมายทั้งในส่วนเบี้ยประกันรับปีแรกและเบี้ยประกันรับรวมไม่น้อยกว่า 3-4% แม้ครึ่งแรกมีเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 40,400 ล้านบาท หดตัว 2% ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 และกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง แต่ช่วงครึ่งหลังได้ปรับการออกผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคหลากหลายทำให้ผลงานช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.64) กลับมาขยายตัวที่ 68,702 ล้านบาท
ปัจจุบันมีฐานะการเงินแข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฏหมาย ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 อยู่ที่ 334% ซึ่งสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดที่ 120% และยังมีส่วนของผู้ถือหุ้นสูงถึง 82,184 ล้านบาท ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ของธุรกิจประกันชีวิตไทย