คุยกับ ”นักวิชาการ" แก้ "เงินเฟ้อ" อย่างไร? ปัญหาในไทยไม่เหมือนต่างประเทศ
"นักวิชาการ" ระบุสาเหตุเงินเฟ้อในไทยซัพพายตึงตัว ราคาพลังงานขาขึ้น แนะรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่งเสริมการแข่งขัน ลดการผลักภาระสินค้าให้ประชาชน เชื่อขึ้้นดอกเบี้ยตอนนี้ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แต่คาดแรงกดดันจากเฟดส่งผลแบงก์ชาติขยับดอกเบี้ยช่วงปลายปีนี้
"เงินเฟ้อ" ถือว่าเป็นปัญหาทางทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเกิดปัญหาโดยเฉพาะในประเทศไทยที่ค่าจ้างแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจพึ่งจะเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจึงเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องรีบเข้ามาดูแลแก้ไข
อย่างไรก็ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อแต่ละประเทศก็มีแนวทางที่แตกต่างกัน เนื่องจากสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน จึงต้องเข้าใจสาเหตุให้ถ่องแท้ก่อนจึงสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง
"กรุงเทพธุรกิจ" พูดคุยกับ นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ถึงสถานการณ์เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นและแนวทางในการแก้ไขปัญหา
นายมนตรีกล่าวว่าหลายประเทศมีปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงมาก เช่น สหรัฐฯประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.ปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 7.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี โดยสาเหตุที่เงินเฟ้อสูงขึ้นมากในขณะนี้เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากโควิด-19 ความต้องการสินค้าต่างๆมีมากทำให้ซัพพายตรึงตัว ประกอบกับการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ยังมีปัญหาไม่สามารถขนส่งได้ตามภาวะปกติ
ในสถานการณ์เช่นนี้จะเห็นว่าค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้นในบางช่วงเวลาปรับเพิ่มถึง 10 เท่า ขณะที่ต้นทุนสำคัญในการขนส่ง และการผลิตคือน้ำมันเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80 - 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าในช่วงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากความตรึงตัวของซัพพายที่ยังมีน้อยจากการที่ประเทศในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) ยังไม่ยอมเพิ่มกำลังการผลิตมากนัก ซึ่งในภาวะปกติราคาน้ำมันไม่ควรเพิ่มขึ้นจนมาอยู่ในระดับนี้
ต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงทำให้การคำนวณตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศไทยซึ่งมีการใช้เงินเฟ้อ 2 แบบ โดยในส่วนของเงินเฟ้อที่เรียกว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ที่มีการคำนวณจากราคาสินค้าเฉลี่ย 430 รายการที่รวมราคาพลังงานและราคาอาหารสดที่มีความผันผวนซึ่งต่างจากเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งในการคำนวณ จะไม่รวมการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานและอาหารสด จึงทำให้ Core Inflation มีความผันผวนน้อยกว่า แต่เงินเฟ้อที่ใกล้เคียงกับค่าครองชีพของประชาชนมากกว่าคือ Headline Inflation
แต่ก็มีสินค้าหลายตัวมาคำนวณรวมกันจึงเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้อที่ภาครัฐประกาศและบอกว่าจะคุมให้อยู่ในกรอบ 1 - 3% นั้นในความเป็นจริงประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่ากรอบเงินเฟ้อดังกล่าวไปแล้ว
นายมนตรีกล่าวว่าในทางเศรษฐศาสตร์เงินเฟ้อนั้นมีสาเหตุ 2 ด้าน คือ Demand Pull คือเงินเฟ้อที่เกิดจากดีมานต์ความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งในสาเหตุนี้เราเห็นจากในต่างประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19
ส่วนในประเทศไทยเกิดจากภาวะต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Cost Push) โดยเฉพาะราคาพลังงาน น้ำมันแพง ซึ่งภาระของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอาจถูกผลักมาให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยมีปัญหาทับซ้อนในเรื่องของการผูกขาดทางการค้า ซึ่งทำให้ภาระจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นถูกผลักมาให้ผู้บริโภคได้ง่าย
"ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดจาก Cost Push ในประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ผูกขาดภาระจะยิ่งถูกส่งต่อไปให้ผู้บริโภค หากสามารถสร้างกลไกการแข่งขันเพิ่มขึ้นได้ การลดค่าครองชีพของประชาชนจะทำได้ง่ายขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องมีการแข่งขันกันทำให้ราคาลดลง" นายมนตรี กล่าว
เขากล่าวต่อว่าประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทย ก็คือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในปีนี้อย่างน้อย 3 ครั้ง หรืออาจะจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อลดความร้อนแรงเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งขึ้น และค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเมื่อค่าเงินบาทอ่อนการนำเข้าสินค้าอย่างน้ำมัน หรือสินค้าทุุนจากภายนอกจะต้องใช้เงินบาทไปแลกมาเพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูง แน่นอนว่าต้นทุนเหล่านั้นจะถูกส่งต่อมายังผู้บริโภคด้วย
การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในประเทศไทยขณะนี้ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากเป็นภาวะเงินเฟ้อที่ไม่ได้เกิดจากความร้อนแรงของเศรษฐกิจ แต่เกิดจากการขาดแคลนสินค้าบางชนิดและการตึงตัวของซัพพายซึ่งรัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ก็คือต้องประคองสถานการณ์ และหาทางเพิ่มซัพพายสินค้าต่างๆให้เพิ่มขึ้นในลักษณะของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร็วที่สุด
"สถานการณ์ในขณะนี้เงินเฟ้อกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่สาเหตุของเงินเฟ้อในไทยส่วนหนึ่งมาจากสินค้าที่ต้นทุนสูงขึ้น และซัพพายสินค้าลดลง การขึ้นดอกบี้ยนโยบายไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี แต่เชื่อว่าเครื่องมือเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยแบงก์ชาติจะนำมาใช้ในช่วงปลายปีเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาทอ่อน"