ธปท.หวั่นราคาสินค้าแพง ซ้ำเติมผู้มีรายได้น้อย เปราะบางเพิ่ม

ธปท.หวั่นราคาสินค้าแพง ซ้ำเติมผู้มีรายได้น้อย เปราะบางเพิ่ม

ธปท.หวั่นราคาสินค้าแพง ซ้ำเติมผู้บริโภค ผู้มีรายได้น้อย เปราะบางเพิ่ม ฉุดเศรษฐกิจยิ่งฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ยันเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ พร้อมมอนิเตอร์พัฒนาการใกล้ชิด ฟากกสิกรไทยชี้ ราคาสินค้าแพง ฉุดบริโภค กดเศรษฐกิจต่ำกว่าคาด

       

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ธปท. ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะโจทย์ใหญ่ของ ธปท.คือ การดูแลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นแบบไม่สะดุด เรื่อง “เงินเฟ้อ” ถือเป็นหนึ่งใน 4 ปัจจัย ที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทำให้ต้องเฝ้าระวังพัฒนาการเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง 
     

สำหรับคำถามที่ว่า เงินเฟ้อในเดือน ธ.ค. ที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.17% มองว่าเป็นปัญหาเงินเฟ้อแล้วหรือไม่ ต้องมองว่าอัตราเงินเฟ้อ เป็นการวัดเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของระดับราคา ซึ่งตัวเลขนี้ดูยังไม่สูงมาก และยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ก็ต้องดูจากหลายจุด เพื่อให้เห็นว่ามีปัญหาหรือไม่ หากมีต้นเหตุที่แท้จริงคืออะไร 
 

ชี้ราคาสินค้าแพงซ้ำผู้บริโภค - ผู้มีรายได้น้อย
     

อย่างไรก็ตาม มองว่าในระยะสั้น ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นนี้กระทบต่อผู้บริโภคแน่นอน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เพราะสินค้าที่บริโภคจะมีสัดส่วนของกลุ่มอาหารเยอะ อีกทั้งวันนี้เศรษฐกิจไทย ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม หรือเป็น K shape ดังนั้น คนที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ซ้ำเติมลงไปอีก ทำให้ K ขาล่างแยกลงไปต่ำกว่าเดิม 
     

ธปท. มองว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข เพื่อไม่ให้ส่งผลซ้ำเติมรุนแรงต่อปัญหาที่มีอยู่เดิม อย่างหนี้ครัวเรือน เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นแบบไม่เท่าเทียม และหลุมรายได้ที่ยังไม่หายไป 

      ซึ่งล่าสุดการที่ภาครัฐพิจารณาเร่งเอาโครงการคนละครึ่งมาช่วยลดภาระตรงนี้มาสนับสนุนให้เร็วขึ้น ถือเป็นนโยบายที่ตรงจุดนโยบายหนึ่ง เพราะปัญหานี้ มองว่าต้องร่วมกันช่วยแก้ไข เป็นปัญหาที่ต้องอาศัยนโยบายทั้งระยะสั้น ที่ตรงจุด

     

โดยทางนโยบายการเงินต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และดูให้เงินเฟ้อไม่ทำให้เศรษฐกิจสะดุด“เป้าหมายของแบงก์ชาติในระยะนี้คือ การทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ รายได้ฟื้นตัวได้ ไม่สะดุด ปัญหานี้ จึงต้องมองให้รอบด้าน ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าที่วันนี้เราพบว่าราคาสินค้าแม้ยังไม่ได้ขึ้นทุกตัว มีราคาพลังงาน หมู ที่แพงขึ้น ซึ่งต้องเร่งแก้ที่อุปทาน หรือการผลิต เพื่อเพิ่มปริมาณที่ขาดแคลนไป ซึ่งหากไม่สามารถแก้ได้เร็ว ก็ต้องเร่งเพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งการนำคนละครึ่งเข้ามาช่วยลดภาระประชาชนก็ถือว่าเป็นมาตรการที่ตรงจุดนโยบายหนึ่ง”

 กสิกรไทยชี้ราคาสินค้าแพงฉุดกำลังซื้อคนดิ่ง - ฉุดศก.ฮวบ
     นายเชาว์ เก่งชน  ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย ราคาสินค้าที่แพงขึ้น มีผลกระทบแน่นอน ต่อกำลังซื้อของคน เพราะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่การเริ่มฟื้นตัว แต่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ การท่องเที่ยวก็ยังไม่ฟื้นตัว และใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะกลับเข้าไปสู่ภาวะปกติ ดังนั้นจากผลกระทบสินค้า อาหารที่แพงขึ้น สินค้าแพง จะทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจฟื้นอย่างไม่ราบรื่น ไปได้ไม่เต็มกำลังมากขึ้น
     

โดยเฉพาะกับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ให้ยิ่งเปราะบางมากขึ้น ดังนั้นปัญหาสินค้าแพง ถือเป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติม ซึ่งปัญหาจากสินค้าแพง หมูแพง ไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้นๆ 3-4 เดือนแล้วจะขยายไป แต่ต้องใช้เวลานาน ตามอายุการเลี้ยงหมู กว่าปัญหาจะคลี่คลาย

    ดังนั้นเชื่อว่ามีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยแน่นอน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจไม่ดีอย่างที่คาดการณ์ แต่ขอประเมินตัวเลขให้ชัดเจนในกลางก.พ.ก่อนมีการปรับประมาณการอีกครั้ง 
    “เงินเฟ้อเราคาดว่าจะไม่เกิน 4% ปีนี้ในค่าเฉลี่ย ซึ่งถือว่าไม่ได้แย่ และไม่ได้สูงเกินไป และมองว่าไม่น่าจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจไทยถดถอย แต่มาเกิดในช่วงที่เราเจอวิกฤตอยู่แล้ว

   ดังนั้นอาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยกว่าที่คาด จากเดิมที่เคยมองว่าเศรษฐกิจไทยในแง่ดีอาจไปถึง 4% แต่โควิดวันนี้ยังรุนแรง นักท่องเที่ยวก็มีความไม่แน่นอน ว่าจะเข้ามาได้กี่ล้านคน ดังนั้นความไม่แน่นอนตรงนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเข้ามาซ้ำเติม บวกกับกำลังซื้อที่หายไปจะทำให้ตัวเลขคต่ำกว่าที่คาดไว้” 

     ส่วนกรณีจะเกิดภาวะ เศรษฐกิจชะลอตัวร่วมกับเงินเฟ้อสูง (stagflation) หรือไม่นั้น มองว่า ไม่น่าเข้าสู่ภาวะนี้ เนื่องจากหากจะเกิดสถานการณ์นี้ได้ เศรษฐกิจต้องไม่โต หรือติดลบ แต่เศรษฐกิจไทยปีนี้แม้จะปรับประมาณการณ์ลง แต่เชื่อว่าจีดีพียังสามารถโตได้ระดับ 3-4% ไม่น่าจะขยายตัว 0% หรือติดลบ
 

    เช่นเดียวกันราคาน้ำมัน ที่ต้องปรับตัวขึ้นสูงเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อเนื่องไม่มีท่าทีว่าจะหยุด ถึงทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่การชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูง แต่ปัจจุบันราคาน้ำมัน แม้จะสูง แต่ยังขึ้นแรงมากนัก แต่อย่างไรก็ตามในด้านราคาน้ำมันต้องจับตาใกล้ชิด เพราะหากปรับขึ้นต่อเนื่อง อาจกระทบต่อกำลังซื้อและการปรับขึ้นของราคาสินค้าอื่นๆตามมาต่อเนื่อง 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์