ปี65จังหวะทองส่งออกข้าวไทย ดีมานด์โตหนุนราคาพุ่ง

ปี65จังหวะทองส่งออกข้าวไทย     ดีมานด์โตหนุนราคาพุ่ง

หลังโควิด เริ่มคลี่คลาย การขนส่งเริ่มคึกคัก ค่าระวางเรือปรับลดลง การส่งออกข้าวของไทยเริ่มแต่งขันได้อีกครั้ง ซึ่งข่าวดีรับปีใหม่ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยยอดส่งออกข้าวทั้งปี 2564 เป็นไปตามเป้าหมาย ที่ 6 ล้านตัน

 โดยสถิติการส่งออกข้าวในช่วงเดือนม.ค.-ธ.ค. 2564  มีปริมาณรวม 6,117,346 ตัน มูลค่า 107,756.9 ล้านบาท หรือ 3,400.3 ล้านดอลลาร์ โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 6.7% แต่มูลค่าส่งออกลดลง 7.14% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีการส่งออกปริมาณ 5,734,024 ตัน มูลค่า 116,042.9 ล้านบาท

 

ด้านราคาข้าวเปลือกในประเทศก็มีราคาดีดตัวขึ้นใน ช่วง 1สัปดาห์เฉลี่ยตันละ 200-300 บาท สอดคล้องกับราคาส่งออกที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นตันละ 10 ดอลลาร์ แม้ข้าวบางชนิดจะเพิ่มสูงอย่างน่าจับตามองอย่าง ข้าวหอมมะลิ เพิ่มขึ้น 30 ดอลลาร์ ขณะที่ข้าวขาว 5% เพิ่มขึ้นเพียง 3 ดอลลาร์ แต่โดยรวมแล้วข้าวไทยทุกชนิดราคาปรับเพิ่มขึ้น

 

ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวปี 2564 ที่ได้สูงกว่าเป้าหมายมาจากปัจจัยความต้องการตลาดที่ฟื้นตัวขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ปัจจัยเงินบาทอ่อนค่าเฉลี่ยที่ 33 บาทต่อดอลลาร์  แม้ช่วงครึ่งปีแรกจะประเมินว่าการส่งออกข้าวปี2564 จะจบแค่ 5.2-5.3 ล้านตัน เพราะการส่งออก 3-4 เดือนแรกปีที่ผ่านมา ค่อนข้างฝืด ทั้งจากปัจจัยราคาที่แข่งขันยากและอุปสรรคจากโรคระบาด

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกและโรงสีประเมินว่าความต้องการและโอกาสการส่งออกข้าวปี 2565 น่าจะดีขึ้นจึงแย่งซื้อข้าวเพื่อสต็อกไว้ขายทั้งปี โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีผลผลิตปีละ 1 ครั้ง เมื่อผลผลิตออกมาช่วงนี้จึงมีการแย่งซื้อจนราคาเพิ่มขึ้น

ปี65จังหวะทองส่งออกข้าวไทย     ดีมานด์โตหนุนราคาพุ่ง

ส่วนข้าวขาว ปัจจัยปริมาณน้ำมากในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปีนี้ ทำให้ผลผลิตคาดว่าจะมีมาก แม้ราคาจะไม่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากแต่ก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากราคาข้าวเปลือกที่ปรับเพิ่มขึ้น

“ชาวนาจะทยอยขายข้าวโดยต้นฤดูกาลจะขายเพื่อรับส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้  และเก็บไว้บางส่วนเพื่อขายทำกำไรในช่วงปลายฤดูซึ่งจะได้ราคาที่ดีกว่า ทำให้ช่วงก่อนหน้านี้ราคาข้าวไม่ได้สูงมากแต่ขณะนี้ราคาค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้น”

 

สำหรับสถานการณ์ส่งออกข้าวปี 2565 ประเมินว่าจะส่งออกได้ที่ 7 ล้านตัน ภายใต้เงื่อนไขค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ปริมาณน้ำฝนเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกข้าวในฤดูนาปรัง และผลผลิตโดยรวมดี

 

ทั้งนี้ปี 2565 ยังมีปัจจัยเสี่ยงการส่งออกข้าวเรื่องของเรือขนส่งมีไม่เพียงพอความต้องการ เนื่องจากท่าเรือปลายทางเช่นสหรัฐ ระบบการจัดการเพื่อนำสินค้าออกจากท่าเรือยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังมีการหยุดงานเพราะโควิดอยู่บ้าง ทำให้เรือสินค้าลอยลำเพื่อรอโหลดสินค้านานนับเดือนทำให้เรือสินค้าเองต้องเพิ่มค่าขนส่งเพื่อชดเชยช่วงเวลาที่ต้องรอนานขึ้นและทำให้ตู้สินค้าก็จะไม่ไหลเวียนเพราะต้องตกค้างอยู่ที่ท่าเรือปลายทาง

 

ค่าขนส่งตอนนี้จะแพงกว่าราคาข้าวแล้ว  เช่นไปสหรัฐ ที่เป็นตลาดใหญ่ข้าวหอมมะลิ ส่งออกเฉลี่ยปีละ 5-6 แสนตัน ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเป็น 18,000 ดอลลาร์ต่อ21 ตันหรือเฉลี่ยค่าขนส่งตันละ 800-900 ดอลลาร์ ซึ่งแพงกว่าราคาข้าว  ไม่ใช่แค่ไม่มีเรือขนส่งสินค้า แต่ยังมีปัญหาไม่มีตู้ให้ใส่สินค้าด้วยและยังมีเรื่องของเวลาการขนส่งที่เป็นปัญหา  จากเดิม ใช้เวลาไปสหรัฐ 30-45 วัน ตอนนี้เพิ่มเป็น 90 วัน ทำให้ออร์เดอร์ไม่ไหลเวียนเท่าที่ควร หากเป็นอย่างนี้อาจเป็นอุปสรรคสำคัญของการส่งออกข้าวปีนี้ได้แม้ดีมานด์จะเพิ่มขึ้นก็ตาม   ”

ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า จากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับภาวะแล้งที่เกิดขึ้นกับประเทศผู้ผลิตข้าว ทำให้มีปริมาณผลผลิตน้อย ราคาในตลาดปรับเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับราคาของไทย ในขณะที่ข้าวของไทยมีคุณภาพที่ดีกว่า ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อข้าวของไทยมากขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวไทยสามารถแข่งขันในตลาดได้

 

“ ช่วงนี้ความชื้นในอากาศมีน้อย ทำให้น้ำหนักข้าวถูกหักไม่มาก ซึ่งเกษตรกรอยากให้ราคาอยู่ในระดับนี้ต่อไป โดยเป็นราคาที่สามารถอยู่ได้ และพอมีกำไร จากข้าวขาวเกี่ยวสด ไม่ควรต่ำกว่าตันละ 8,000 บาท ข้าวหอมปทุม ตันละ 9,000 บาท ข้าวหอมมะลิ ที่ตันละ 11,000-12,000 บาท และข้าวเหนียวที่ราคาตันละ 12,000 บาท “

 

ทั้งนี้ แนวโน้มราคาที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะจูงใจให้เกษตรกรทำนาปรังมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องระวังเนื่องจากในขณะนี้น้ำในแหล่งธรรมชาติเริ่มลดลงเหลือน้อยมาก ปริมาณน้ำในเขื่อนจะไม่เพียงพอ เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำช่วงข้าวตั้งท้อง และเกษตรกรจะขาดทุน

 

ดังนั้นขอให้ชาวนาวิเคราะห์สถานการณ์ และตัดสินใจอย่างรอบคอบ ส่วนหนึ่งแม้ราคาข้าวจะสูงขึ้นแล้ว แต่ปัจจัยการผลิตอื่นๆ ก็สูงตามไปด้วย โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี และสารกำจัดวัชพืช จะทำให้ต้นทุการผลิตข้าวสูงตามไปด้วย

 

ระวี รุ่งเรือง อดีตนายกสมาคมการค้าเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวว่า ปัจจุบันค่าระวางเรือปรับลดลงแล้วเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ราคาสูงมาก ทำให้ข้าวไทยส่งออกได้น้อย ในขณะเดียวกัน ผลผลิตข้าวของต่างประเทศลดลง ราคาในตลาดปรับตัวสูงขึ้นให้เคียงกับราคาของไทย ทำให้ผู้ซื้อหันมาสั่งซื้อข้าวของไทยมากขึ้น ราคาข้าวในประเทศจึงขยับตาม

 

อย่างไรก็ตาม ราคาที่ปรับขึ้นดังกล่าวไม่มีประโยชน์ใดๆ กับเกษตรกร เนื่องจากข้าวส่วนใหญ่อยู่ในมือของโรงสีและผู้ประกอบการ มีเพียงกลุ่มนาปรังเท่านั้นที่ได้ประโยชน์กับเรื่องนี้แต่ก็ไม่มากนัก เพราะข้าวนาปรังมีต้นทุนสูง โดยราคาข้าวจะมีวงจรจะปรับขึ้นในปลายเดือน ม.ค. ของทุกปี และลดลงตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป เพราะผู้ซื้อรอผลผลิตข้าวใหม่ที่ออกสู่ตลาด ในช่วง ต.ค.- ธ.ค. เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ชี้ว่าภาพรวมการส่งออกปี 2565 มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ,เงินบาทช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง ,ราคาสินค้าอาหาร ขยายตัวตามอุปสงค์ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และจำนวนตู้คอนเทรนเนอร์ และเรือ ขนส่งจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565