“GC” ชูเทคโนโลยี “สีเขียว” สร้างธุรกิจใหม่หนุน “เน็ต ซีโร่”
“GC” ชู เทคโนโลยีดันขยะรีไซเคิล เกิดธุรกิจใหม่นำไทยสู่ Net Zero ดัน 4 ปัจจัยหลัก “ปรับใช้วัตถุดิบ-ผลิตอย่างรู้ค่า-ใช้งานให้คุ้ม-รีไซเคิล” หนุนเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593
“เมกะเทรนด์” หนึ่งที่สำคัญในขณะนี้ คือ สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งทำให้หลายธุรกิจตั้งเป้าธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยต้องมีการดำเนินการจะต้องมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจะตอบสนองความต้องการของลูกค้า
ดร.วีรภัทร ตันตยาคม ผู้จัดการส่วน สายงานกลยุทธ์องค์กร บริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จากัด (มหาชน) หรือ จีซี กล่าวว่า ความสำคัญของนโยบายการขับเคลื่อน BCG ที่สำคัญ คือ พลังงานทดแทนที่บริษัท เห็นความสำคัญต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อช่วยแก้ปัญหาของสังคม ในขณะเดียวกันนำเอามาเป็นโอกาสทางธุรกิจด้วย ซึ่งบริษัท มองโอกาสใน 3 กลุ่มหลัก คือ
1.Smart operation โดยมองภายในองค์กรเป็นหลัก เช่น ลดการใช้น้ำ บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ลดจำนวนการเกิดของเสียหรือขยะ ที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกับภาครัฐและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาบริษัท ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผลักดันการนำขยะหรือของเสียจากโรงงานหนึ่งมาใช้ประโยชน์ในอีกโรงงาน นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้วยังสร้างธุรกิจใหม่ และนำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องนโยบายเป้าหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศเป้าหมายสู่ Net Zero สำเร็จโดยเร็ว
2.การเกิดธุรกิจใหม่ บริษัทได้ศึกษาปัญหาขยะ ซึ่งในอีอีซีได้เก็บข้อมูลและติดตามค่อนข้างมาก โดยร่วมมือกลับกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดหาโซลูชั่นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีโรงกำจัดขยะในเมือง ซึ่งหากมองที่ประเทศไทยก็น่าจะทำได้ อาจส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างสวนสาธารณะให้มีความสวยงาม เป็นต้น
3.การใช้เทคโนโลยีใหม่ ที่ผ่านมาได้ลงทุนกับ บริษัท แอลพลา จำกัด ตั้งบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ที่ จ.ระยอง เพื่อนำขยะพลาสติกมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงเกรดบรรจุภัณฑ์บรรจุอาหารชนิดโพลีเอทิลีน และโพลีเอสเตอร์ ซึ่งแอลพลาเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจรีไซเคิลตลอดห่วงโซ่การบริหารจัดการ และการใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจากออสเตรียรองรับพลาสติกใช้แล้วได้ 6 หมื่นตันต่อปี มีกำลังผลิตเม็ดพลาสติกได้ 4.5 หมื่นตันต่อปี
“เมื่อเรามีข้อมูลว่าในอีอีซีมีขยะอยู่ตรงไหนบ้าง จะพัฒนาแฟลตฟอร์มเพื่อนำขยะในหลายๆ ที่มาให้เป็นสต็อกในธุรกิจใหม่ สอดคล้องกับโลว์ คาร์บอนบิสเนสเทรนด์โลก ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ร่วมกับประเทศที่มีความพร้อมในเชิงนโยบาย เพื่อศึกษาและนำเอาองค์ความรู้กลับมาพัฒนาใช้ในประเทศไทย เพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับโลว์คาร์บอน” ดร.วีรภัทร กล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุดบริษัทดำเนินโครงการลงทุนโรงงานพลาสติกชีวภาพ Polylactic Acid (PLA) แห่งที่ 2 ที่โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นโรงงานนอกอีอีซีที่ใช้น้ำตาลจากอ้อยเป็นวัตถุดิบหลักผลิต Lactic Acid และนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต PLA 75,000 ตันต่อปี อีกทั้งมีหลายเรื่องที่ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อนำองค์ความรู้ที่เป็นความรู้เฉพาะด้านของบริษัท เข้าไปช่วยในกิจการของภาครัฐ โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สนับสนุนทั้งกฎระเบียบ ส่งเสริมการลงทุนให้สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้ให้เกิดขึ้นได้
รายงานข่าวจาก บริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จากัด (มหาชน) ระบุว่า ที่ผ่านมา ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและตั้งเป้าการปรับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
ทั้งนี้ บริษัทนำแนวเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความยั่งยืน โดยเน้นบริหารองค์กรโดยสร้างสมดุลเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมเพื่ออนาคตโดยเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ
1.การปรับการใช้วัตถุดิบ โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ง่ายต่อการรีไซเคิล อาทิ พลาสติก แก้ว อะลูมิเนียม รวมไปถึงวัตถุดิบฐานชีวภาพ เช่น อ้อย ปาล์ม มันสำปะหลัง
2.การผลิตอย่างรู้คุณค่า โดยทรัพยากรที่มาเป็นส่วนผสมจะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด
3.การใช้งานให้คุ้มค่า โดยลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิตควบคู่กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด
4.การคัดแยกและรีไซเคิล โดยนำทรัพยากรกลับมาสู่ระบบเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ในการใช้พลาสติกด้วย Linear Economy ปัจจุบันสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมา เช่น ปัญหาขยะพลาสติก การรั่วไหลลงสู่ทะเล และนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้แค่ 6-7% และทิ้งกลายเป็นขยะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 55%
ดังนั้นต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุดด้วยการใช้แล้วนำมารีไซเคิล บริษัทได้หาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำรูปแบบใหม่เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพราะน้ำก็เป็นทรัพยากรที่สำคัญและนำกลับมาบำบัดใช้ใหม่ได้ถึง 30% ดังนั้น เรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องทำได้ให้ยั่งยืน และย่อยสลายได้หรือนำกลับมาใช้ใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ
รวมทั้ง จีซี จะประกาศความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่ Net Zero ซึ่งให้ความสำคัญต่อการสร้างความสมดุลระหว่างกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจและผลลัพธ์ที่ยั่งยืนโดยได้กำหนดแผนงานที่ชัดเจนและตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 20% ภายในปี 2573 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ ได้วางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่าลง 50% เพื่อให้คู่ค้าและลูกค้าเข้ามีส่วนในความมุ่งมั่นร่วมกัน ในฐานะพลเมืองโลกเราต้องการส่งต่อโลกใบนี้ที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นต่อไปจึงไม่สามารถทำคนเดียวได้