สินทรัพย์ดั้งเดิม-ดิจิทัล ต้องตอบโจทย์พัฒนาเศรษฐกิจ
ตลาดสินทรัพย์แบบดั้งเดิมยังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ เพียงแต่ในอนาคต ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลก็จะมีบทบาทมากขึ้น และในหลายประเทศมีการกำหนดหลักเกณฑ์ออกมาแล้ว หน้าที่ของภาครัฐจึงต้องบริหารให้ตลาดสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเทศ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุด
สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ประเภทใหม่ที่ขยายตัวอย่างมากทั่วโลกในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา โดยสินทรัพย์ดิจิทัลมีการกำหนดนิยามที่หมายถึงสกุลเงินดิจิทัล ที่ใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าได้ ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลที่รู้จักกันดี เช่น บิทคอยน์ อีเธอเรียม รวมทั้งยังรวมถึงโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนหรือโทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ตามที่กำหนด ซึ่งอาจมีการกำหนดสิทธิหรือผลกำไรจากการระดมทุน โดยทั้งหมดถือเป็นเรื่องใหม่ของตลาดทุนไทยและดูเหมือนกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องยังตามไม่ทัน
ช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการคลังมีแนวคิดในการจัดเก็บรายได้กำไรจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยกรมสรรพากรได้รับฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือมีเงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัล พบการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลที่สูงมากในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการซื้อขายจาก 240 ล้านบาท เป็น 4,839 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 9,600 ล้านบาท เป็น 114,539 ล้านบาท รวมทั้งมีบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 170,000 แสนราย เป็น 1.98 ล้านราย
ในเบื้องต้นการคำนวณภาษีคริปโทฯ จะมีการนำผลขาดทุนมาหักลบกำไรในปีภาษีเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขต้องทำการซื้อขายบนกระดานที่อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งจะมีการยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และการคำนวณต้นทุนสามารถใช้วิธี FIFO (เข้าก่อน-ออกก่อน) รวมทั้งภาครัฐกำลังพิจารณายกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดทำ Transactional tax
หลักเกณฑ์การคำนวณภาษีกำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลดูเหมือนจะผ่อนคลายลง และทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพอใจระดับหนึ่งที่กรมสรรพากรรับฟังความเห็น โดยสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยตอบรับการผ่อนคลายของกรมสรรพากร และเห็นความพยายามในการเก็บภาษี รวมทั้งการผลักดันให้อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลขยายตัว ซึ่งหลายฝ่ายยังเชื่อว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงร้อนแรงอีก และจะมีบัญชีผู้ใช้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีกมาก
สิ่งสำคัญในขณะนี้อยู่ที่ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อใช้ในการกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่ไปกับการกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์แบบดั้งเดิม ซึ่งตลาดสินทรัพย์แบบดั้งเดิมยังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ เพียงแต่ในอนาคต ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลก็จะมีบทบาทมากขึ้น และในหลายประเทศมีการกำหนดหลักเกณฑ์ออกมาแล้ว หน้าที่ของภาครัฐจึงต้องบริหารให้ตลาดสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเทศ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุด