KKP ปักธงปี65 โตสินเชื่อ12 % รุกเวลธ์ผ่าน KKP Edge

KKP ปักธงปี65 โตสินเชื่อ12 % รุกเวลธ์ผ่าน KKP Edge

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ตั้งเป้า65ขยายสินเชื่อ 12 % ด้านธุรกิจตลาดทุน ขยายฐานธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน ไปยังลูกค้ากลุ่ม Mass Affluent ผ่านบริการ KKP Edge และรุกธุรกิจบริการทางการเงินแบบดิจิทัลผ่าน Dime ฟินเทคน้องใหม่ภายในกลุ่ม

      นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Mr. Aphinant Klewpatinond, Chief Executive Officer, Kiatnakin Phatra Financial Group) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจประจำปี 2565 ว่ากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรยังคงมุ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีผลการดำเนินงานเป็นเลิศ โดยเน้นเสริมสร้างและพัฒนาธุรกิจหลักไม่ว่าในด้านธุรกิจธนาคารพาณิชย์หรือธุรกิจตลาดทุน เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้และช่วยรักษาโอกาสทางธุรกิจภายใต้ความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตั้งเป้าสำหรับธุรกิจหลักในปี 2565 ดังต่อไปนี้

    ธุรกิจสินเชื่อ ยังคงขยายสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อผู้บริโภค และธุรกิจ Bancassurance ที่ควบคู่ไปกับสินเชื่อ ตั้งเป้าเติบโตร้อยละ 12 นอกจากนั้น ยังพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขาและการให้บริการให้สอดคล้องกับความต้องการในยุคที่ช่องทางดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้น

     ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) มุ่งใช้ประโยชน์แพลตฟอร์ม ผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น บริการการลงทุนต่างประเทศผ่าน Mandate Service หรือกองทุนแฟล็กชิป KKP-SGAA  นอกจากนั้นยังจะรุกขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม Mass Affluent ผ่านบริการ KKP Edge ที่ใช้ระบบและกระบวนงานดิจิทัลเข้ามาช่วยดูแลลูกค้าให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ได้กว้างขวางขึ้น โดยมีเกณฑ์เงินลงทุนขั้นต่ำที่ลดลง

    ธุรกิจบริการทางการเงินแบบดิจิทัลมุ่งใช้ประโยชน์จากระบบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงและนำเสนอบริการให้ลูกค้ารายย่อย ซึ่งจะถูกนำเสนอภายใต้ชื่อ Dime ตลอดจนพัฒนาแอปพลิเคชัน KKP Mobile อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการทางการเงินในยุคดิจิทัล

     สำหรับผลประกอบการปี 2564 ในภาพรวมถือว่าออกมาในระดับที่น่าพอใจ โดยธุรกิจธนาคารสินเชื่อเติบโตร้อยละ 16.5 และลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมีสถานการณ์โดยรวมที่ดีขึ้น

     ด้านธุรกิจตลาดทุน สามารถทำรายได้ดีเป็นประวัติการณ์ มาจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่รักษาส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 14 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) มีจำนวนทรัพย์สินภายใต้คำแนะนำ (Assets under Advice:AUA) เพิ่มเป็น 7.34 แสนล้านบาท

      ในขณะที่ธุรกิจวานิชธนกิจสามารถทำรายได้ดีจากค่าธรรมเนียมของธุรกรรมรายการใหญ่เช่น การไอพีโอของ PTTOR และ TIDLOR

     สำหรับรายละเอียดในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อของธนาคารเติบโตได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่โตขึ้นกว่าร้อยละ 20 หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่โตขึ้นร้อยละ 40 ตลอดจนกลุ่มสินเชื่อบรรษัทที่เติบโตร้อยละ 30

     โดยการดำเนินงานต่อไปยังคงยึดหลักการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ที่มีอยู่ควบคู่ไปกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ โดยไม่ละเลยการให้ความช่วยเหลือสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับมสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละราย ตลอดจนตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตไว้อย่างเพียงพอ” นายอภินันท์กล่าว

      ด้านนายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (Mr. Preecha Techarungchaikul, Head of Finance and Budgeting, Kiatnakin Phatra Bank Public Company Limited) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวข้อมูลทางการเงินของผลการดำเนินงานปี 2564 ว่า

    “กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 6,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 และมีกำไรเบ็ดเสร็จ 7,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.5 จากปี 2563 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,817 ล้านบาทและเป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 2,765 ล้านบาท

    ในส่วนของการตั้งสำรองสำหรับปี 2564 ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 175.1

     นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 15,701ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0

      ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 8,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 จากปี 2563 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio)คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 17.33 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับร้อยละ 13.55”


KKP ชี้โอไมครอนกระทบสั้น คาดฟื้นตัวครึ่งปีหลัง ทั้งปีโตได้ร้อยละ 3.9
   แต่เสี่ยงเงินเฟ้อและบาทผันผวนกระทบปากท้องและธุรกิจ

    ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (Dr. Pipat Luengnaruemitchai, Chief Economist, KKP Research, Kiatnakin Phatra Securities Public Company Limited) เผย บล.เกียรตินาคินภัทร ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น

 อออโดยเศรษฐกิจน่าจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก ความกังวลเรื่องการระบาดของเชื้อโอไมครอนในไตรมาสที่หนึ่ง น่าจะมีผลกระทบในช่วงสั้น ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวล่าช้าออกไป แต่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

   และยังคงการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีที่น่าจะโตได้ที่ระดับร้อยละ 3.9 ภายใต้สมมุติฐานนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 5.8 ล้านคน

    ทั้งนี้ ในภาพรวม ปี 2565 มีแนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ  แนวโน้มแรก คือ สถานการณ์โรคระบาดที่กระทบต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจน่าจะค่อย ๆ เปลี่ยนกลายเป็นโรคประจำถิ่น สัดส่วนของการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ช่วยลดความรุนแรงของโรค และผลกระทบของการระบาด ทำให้เศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น

    แนวโน้มที่สอง คือ สภาพคล่องโลกมีแนวโน้มลดลงและอัตราดอกเบี้ยโลกกำลังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังแรงกดดันเงินเฟ้อโลกที่สูงกว่าคาด กดดันให้ธนาคารกลางใหญ่ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเริ่มถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ต้นทุนทางการเงิน เงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

     แนวโน้มที่สาม คือ เศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงฟื้นตัวได้ช้ากว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยน่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังการกลับสู่ภาวะปกติของอุปสงค์ในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอน และยังไม่ทั่วถึง

    นอกจากนี้ เงินเฟ้อในประเทศไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นถึง 3.5% ในไตรมาสหนึ่ง จากต้นทุนพลังงานและราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพโดยเฉพาะของผู้มีรายได้น้อย  

    ในฝั่งนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังคงให้ความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกือบตลอดทั้งปี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยภายนอกและภายในประเทศ จะทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ยังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

 อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงที่สำคัญสามด้านคือ

    หนึ่ง การระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส อาจจะทำให้การระบาดใหญ่ยังคงมีอยู่ต่อไป กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

   สอง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และการควบคุมวิกฤตโควิด อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกที่มีโอกาสชะลอตัวลง และ

    สาม หากอัตราเงินเฟ้อโลกไม่ปรับตัวลดลงตามคาด อาจทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยและถอนการกระตุ้น มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังต้องจับตาประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกได้