"สุริยะ" เผยแนวโน้มเศรษฐกิจ 65 ฟื้นต่อเนื่อง เร่งบูรณาการ 6 ด้าน รับ New Normal
สุริยะ เผยแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2022 ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวรับ new normal รัฐเร่งสร้างปัจจัยแวดล้อมเอื้ออำนวย อาทิ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ พัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานนวัตกรรม ระบุ 6 ประเด็น กระทรวงอุตฯเร่งบูรณาการ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022 จัดโดยหนังสือพิมพ์ในหัวข้อ สู่ศักยภาพใหม่: Thailand 2022 ว่า คาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจของหลายสำนักชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าปี 2022 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับแรงส่งจากภาคการส่งออก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาคึกคัก
จากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยว่า ในปี 2022 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) จะยังคงขยายตัว 4.0-5.0% เช่นเดียวกับ GDP ภาคอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมที่จะยังคงขยายตัว 2.5-3.5% สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
โดยอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับประโยชน์และเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิคส์และอุปกรณ์ อุตสาหกรรมคลังสินค้า ขนส่งสินค้า และโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมยาและเคมีภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตที่ผ่านมา ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจำต้องเร่งปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงภายหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า New Normal เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ในการนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการการทํางานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านประเด็นการพัฒนาสําคัญ 6 ด้าน ได้แก่
1. การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร โดยการส่งเสริมเทคโนโลยีในการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และนำ IoT เข้ามาประยุกต์ใช้ รวมทั้งพัฒนาการแปรรูปด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร
2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์
3. การพัฒนาผู้ประกอบการและการผลิตสู่ 4.0 ส่งเสริม SME และวิสาหกิจชุมชนให้มีผลิตภาพ ลดต้นทุน ลดของเสียในกระบวนการผลิต รวมทั้งพัฒนาปัจจัยที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) ลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุน
4. พัฒนาอุตสาหกรรมยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดมลพิษภาคอุตสาหกรรม การยกระดับอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการกำจัดกากอุตสาหกรรม
5. การจัดตั้งและส่งเสริมการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการลงทุนที่ยึดโยงการพัฒนาในระดับพื้นที่
6. การยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว โดยการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำเป็น Big Data