"จีพีเอสซี" ติดอันดับ Bronze Class กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคไฟฟ้า

"จีพีเอสซี" ติดอันดับ Bronze Class กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคไฟฟ้า

GPSC ติดอันดับ Bronze Class ในกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคไฟฟ้า ขึ้นทำเนียบธุรกิจยั่งยืน “Sustainability Yearbook 2022*" ประเมินดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ต่อเนื่องปีที่ 2 ตอกย้ำความมุ่งมั่นผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรมพลังงานยั่งยืนในระดับสากล

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า นับเป็นความสำเร็จของ GPSC ที่ได้รางวัล S&P Global Sustainability Award ในระดับ Bronze Class และได้คัดเลือกให้อยู่ใน Sustainability Yearbook 2022 จากการประเมินของ S&P Global เป็นปีที่สอง ที่ได้รับการประเมินให้เป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่นในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามเกณฑ์ประเมินดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI)

ด้วยคะแนนรวมในมิติด้านสังคมสูงที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคไฟฟ้า (Electric Utilities) ถือเป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระดับสากล ในด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานเพื่อความยั่งยืน

"เป็นความภาคภูมิใจของบริษัท ที่ได้รับการยอมรับในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนระดับสากลจากรางวัล S&P Global Sustainability Award ระดับ Bronze Class จากการประเมินของ S&P Global สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจของ GPSC ในการจัดการตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) แม้ว่าต้องเผชิญกับปัจจัยต่างๆ ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว  และนโยบายของรัฐบาลในการประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ที่เข้มข้น และเร็วขึ้นกว่าเดิม

โดยที่ผ่านมา GPSC ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในระยะยาวภายใต้กลยุทธ์ 4S ประกอบด้วย S1: การเสริมจุดแข็งและขยายการให้บริการในธุรกิจหลัก (Strengthen and Expand the Core) S2: การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (Scale – up Green Energy) S3: การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และธุรกิจที่เกี่ยวกับแบตเตอรี่ (S-Curve & Batteries) และ S4: การให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Shift to Customer - Centric Solutions) รวมทั้งการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อนำไปสู่ความอย่างยั่งยืน

การจัดทำ Sustainability Yearbook เกิดขึ้นจากการประเมินด้านความยั่งยืนระดับโลกของ S&P Global ที่มีการประเมินบริษัทมากกว่า 7,000 บริษัท จาก 61 อุตสาหกรรมทั่วโลก โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการประเมินจะเรียงตาม Percentile โดยองค์กรที่ได้คะแนนสูงสุด 15% แรกของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะถูกจัดรายชื่อให้อยู่ใน Sustainability Yearbook โดยมีเกณฑ์รางวัลแบ่งเป็น 3 ระดับ

ได้แก่ ระดับ Gold Class (คะแนนอยู่ในช่วง 1% ของบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด) ระดับ Silver Class (คะแนนอยู่ในช่วง 1-5% ของบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด) และระดับ Bronze Class (คะแนนอยู่ในช่วง 5-10% ของบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด) ซึ่งจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์