"บีโอไอ" ปลื้มยอดส่งเสริมลงทุนปี 64 ทะลุ 6.4 แสนล้าน เติบโต 59%
"บีโอไอ" เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมปี 4 ทะลุ 6.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% FDI rที่เพิ่มขึ้นกว่า 163 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเป้าหมายเติบโตสูง ทั้งกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ ส่วนอุตสาหกรรม BCG ขยายตัว 1.5 แสนล้านบาท
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ "บีโอไอ" เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ (3 ก.พ.) ว่าสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 642,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
จำนวนโครงการรวม 1,674 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ มีอัตราการขยายตัวสูง จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกสำคัญ
ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 783 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 455,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 163 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น มีมูลค่าเงินลงทุน 80,733 ล้านบาท รองลงมา คือ จีน มีมูลค่าเงินลงทุน 38,567 ล้านบาท และสิงคโปร์ มีมูลค่าเงินลงทุน 29,669 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 340,490 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53 ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม
โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 104,490 ล้านบาท เป็นผลจากการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G และการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ไฮเทค
ต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีที่ใช้ในยานยนไฟฟ้า เป็นต้น
2) อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่าลงทุน 62,170 ล้านบาท
จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและมีความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น
3) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ มูลค่าลงทุน 48,410 ล้านบาท
ฃ
4) อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่าลงทุน 47,660 ล้านบาท
และ 5) อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน มูลค่าลงทุน 24,570 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับการส่งเสริมจำนวน 453 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 220,500 ล้านบาท โดยจังหวัดระยองมีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 112,740 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 74,550 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุนรวม 33,210 ล้านบาท
ด้านคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ในปี 2564 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,732 ล้านบาท จำนวน 180 โครงการ และตั้งแต่ปี 2558 – 2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ มีมูลค่ารวม 99,709 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 999 โครงการ
สำหรับกิจการในกลุ่ม BCG ซึ่งครอบคลุมในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคำขอรับ
การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ในปี 2564 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 152,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 123 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากจำนวนโครงการ 746 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 63
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
และตั้งแต่ปี 2558 – 2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวม 675,781 ล้านบาท รวม 2,996 โครงการ
“คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในกลุ่ม BCG เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่มุ่งให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” นางสาวดวงใจกล่าว
ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนตามแนวทาง BCG ครอบคลุมหลายด้าน เช่น มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ที่มีทั้งมาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน หรือ
ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมาตรการด้านการยกระดับไปสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล เช่น มาตรฐานการรับรองป่าไม้ตามแนวทางขององค์การพิทักษ์ป่าไม้ (Forest Stewardship Council: FSC) เป็นต้น