บีโอไอลงนามความร่วมมือเจโทร ขยายโอกาสการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น
บีโอไอลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOC) เป็นภาคีกับเจโทร ส่งเสริมและขยายโอกาสการลงทุนระหว่างไทย – ญี่ปุ่น สนับสนุนการเชื่อมโยง จับคู่ธุรกิจ ตลอดจนต่อยอดเทคโนโลยีขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา เพื่อมุ่งยกระดับประเทศไทยตามแนวทาง BCG
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOC) เพื่อส่งเสริมการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยแบบภาคี ให้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ในการส่งเสริมให้บริษัทญี่ปุ่นที่ประกอบกิจการในประเทศไทยขยายการลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการเผยแพร่ข่าวสารที่ทันสมัย และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนทั้งสองประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น การจับคู่ธุรกิจ และต่อยอดโครงการลงทุนที่ประสบความสำเร็จในอนาคต
“ความร่วมมือเป็นภาคีในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการบรรลุเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างสองประเทศอย่างใกล้ชิดมากขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมในนโยบายสำคัญในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นระหว่างไทยและญี่ปุ่น รวมทั้งผลักดันนโยบาย BCG ของรัฐบาล เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต” นางสาวดวงใจกล่าว
สำหรับการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOC) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น โดยมีนายฮากิอุดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนาม โดยนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และนายทาเคทานิ อัทสึชิ ประธาน เจโทร กรุงเทพฯ เป็นผู้ลงนามฝ่ายญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรง (FDI) ในประเทศไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 โดยในปี 2564 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 178 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 22.7 จากโครงการลงทุนต่างประเทศทั้งหมด มูลค่าเงินลงทุนรวม 80,733 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด
ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ในช่วงปี 2564 มีมูลค่าขอรับการส่งเสริม 152,434 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.7 จากมูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งหมด สำหรับอุตสาหกรรม BCG ครอบคลุมพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังการระบาดของโควิด-19