สกพอ.เร่งเครื่องดึง 5 กลุ่ม ลงทุนรับเทรนด์ "เน็กซ์นอร์มอล”
การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ได้ผลักดันกฎหมายอีอีซี รวมถึงเร่งประมูลหาผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งให้ปี 2565 จะเริ่มเห็นภาพการลงทุนตามเข้ามาในอีอีซี เพื่อให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้
เพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สายงานการลงทุนและการต่างประเทศ กล่าวว่า ปี 2565 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซีในรูปแบบการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP) ได้ลงนามสัญญาครบ 4 โครงการ และเริ่มลงเสาเข็มเพื่อให้ทันกำหนดเปิดบริการปี 2569 ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3
ทั้งนี้มีมูลค่าลงทุน 654,921 ล้านบาท เป็นการลงทุนภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท (64%) และการลงทุนภาครัฐ 238,841 ล้านบาท (36%)
ดังนั้น ระหว่างนี้เป็นช่วงรีบเปิดตลาดเปิดใหม่ดึงนักลงทุน โดย สกพอ.จะเป็นด่านหน้ารับการลงทุนใหม่ และประสานงานหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจได้เร็วในรูปแบบ One Stop Service
“ได้เจรจาสถาบันการเงินต่างประเทศ เช่น ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น, ธนาคารมิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพฯ และธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เพื่อหานักลงทุนที่สนใจขยายฐานการผลิตในอีอีซี โดยประเมินผลการลงทุน 3 เดือน ว่าเป็นอย่างไรเพื่อปรับแผนให้สอดรับสถานการณ์”
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองและสนใจดึงมาลงทุนจะเป็นกลุ่มที่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ รวมทั้งหลังโควิด-19 จะเกิด Next Normal ในภาคการผลิตและตลาดผู้บริโภค และได้กำหนด 5 กลุ่มธุรกิจที่จะขยายตัวโดดเด่นใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้เอกชนไทยพร้อมรับความท้าทายและต่อยอดธุรกิจ ประกอบด้วย
1.การวางระบบอัตโนมัติ (System Integrator) เมื่อภาคการผลิตและบริการเกิดดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม มีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อทดแทนแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับ SI ผู้พัฒนาระบบการทำงานของหุ่นยนต์ให้เชื่อมโยงกันมีประสิทธิภาพ และช่วยให้การสั่งการการทำงานของหุ่นยนต์สอดคล้องกัน รวมทั้งใช้มอนิเตอร์การทำงานแบบเรียลไทม์ที่จะแก้ไขปัญหาการผลิตโดยไม่ต้องหยุดสายการผลิตจึงมีศักยภาพเติบโตมาก
รวมทั้งในอีอีซีได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั้งการพัฒนาเครือข่าย 5G ครอบคลุม 100% ในพื้นที่ส่งเสริมและพื้นที่เศรษฐกิจ และตั้ง EEC Automation Park เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้และการพัฒนาระบบรองรับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
2.ระบบจัดการข้อมูล (Data Management) ครอบคลุมตั้งแต่ Data Center, Cloud Service และ Data Analytic ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจด้านสมาร์ทลิฟวิ่ง การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ และการจัดการข้อมูลภาครัฐ ทำให้เกิดเป็นข้อมูลจำนวนมหาศาล ดังนั้น การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลเป็นกุญแจสำคัญในการต่อยอดธุรกิจ
ทั้งนี้ ในอีอีซีได้พัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุน ได้แก่ EECd และ Silicon Tech Park บ้านฉาง ที่เริ่มเห็นความร่วมมือการลงทุนของภาคเอกชน
3.ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ที่จะมีมาตรการส่งเสริมอีวีทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน เช่น การส่งเสริมการผลิตอีวีในเป้าหมายผลิตให้ได้ 30% ของกำลังการผลิตรถทั้งหมด ภายในปี 2030 รวมทั้งมีมาตรการลดภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตให้ผู้ซื้อรถที่กำลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นอกจากนี้ เมื่อความต้องการอีวีเพิ่มขึ้นจะทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องโอกาสด้วย เช่น แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับอัดประจุไฟฟ้า สถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า
รวมทั้งในอีอีซีได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุน เช่น ศูนย์การทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยสถาบันยานยนต์ การพัฒนาสนามทดสอบยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติใน EECi ที่เริ่มก่อสร้างในปี 2565
4.การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ถูกเร่งนำออกมาใช้ เช่น วัคซีน mRNA ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุทั่วโลกทำให้คาดการณ์ได้ว่าความต้องการกระบวนการรักษาที่เฉพาะเจาะจงรายบุคคลและเฉพาะโรคจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่
อีกทั้งไทยมีศักยภาพเป็นประเทศชั้นนำของภูมิภาคด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้านการแพทย์ โดยอีอีซีเป็นพื้นที่นำร่องภายใต้แผนบูรณาการการแพทย์จีโนมิกส์ ซึ่งตั้งศูนย์วิเคราะห์จีโนม หรือ EECg และเริ่มดำเนินการวิเคราะห์ในปี 2565 เพื่อสร้างฐานข้อมูลจีโนมของประชากรไทย และศูนย์แปลงผลจีโนมสำหรับการบริการทางการแพทย์จีโนมิกส์
5.การลงทุนเพื่อลดปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) จากการประชุม COP26 ทำให้การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นวาระระดับโลก และส่งผลให้ประเทศชั้นนำของโลกออกมาตรการและกฎระเบียบเป็นบรรทัดฐานใหม่ด้านเศรษฐกิจ เช่น CBAM ที่สหภาพยุโรปประกาศ
นอกจากนี้ ภาคเอกชนรายใหญ่ประกาศนโยบายบรรลุเน็ตซีโร่ส่งผลให้ภาคการผลิตที่เหลือต้องปรับตัวลดผลกระทบจากการกีดกันการค้า ดังนั้นธุรกิจ Solution Provider สำหรับการลงทุนเพื่อลดปล่อยคาร์บอนจึงมีโอกาสเติบโตสูงในอีอีซี โดยเฉพาะสำหรับภาคการผลิตเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสีเขียว และสนับสนุนการยกระดับเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ซึ่งได้พัฒนา Biopolis เป็นฐานการวิจัยและพัฒนาสำหรับเอสเอ็มอีให้ต่อยอดเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำได้