ล้วงกลยุทธ์เคลื่อนอาณาจักร “เจมาร์ท” โตไม่หยุด !
เมื่อการขับเครืออาณาจักร “เจมาร์ท” ของ “ตระกูลสุขุมวิทยา” เดินเกมธุรกิจด้วย “กลยุทธ์ผนึกกำลัง” (Synergy) ทั้งในและเพื่อนใหม่ ดัน “ความมั่งคั่ง” ทั้งเครือแตะระดับ “2.02 แสนล้าน” ขึ้นแท่นธุรกิจ “เติบโตไม่หยุด !”
เป็นอีกหนึ่ง “อาณาธุรกิจ!” ที่กำลังถูกจับตามองในช่วงที่ผ่านมา สำหรับ บมจ. เจ มาร์ท หรือ JMART ของ “ตระกูลสุขุมวิทยา” ถือหุ้นใหญ่จำนวน 46.59% หลังหัวเรือใหญ่อย่าง “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แห่ง “เจมาร์ท” ตัดสินใจเดินหน้า “การสร้างความมั่งคั่ง” (Wealth Creation)
เพื่อต่อยอดความมั่งคั่งให้ "4 ธุรกิจหลัก" 1.ธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ 2. ธุรกิจติดตามหนี้ 3. ธุรกิจบริหารพื้นที่เช่า ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ 4. ธุรกิจเช่าซื้อส่วนบุคคล โดยแต่ละธุรกิจถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆของฐานลูกค้ารีเทล (ค้าปลีก) และมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะ "ธุรกิจการเงิน"
จาก “ธุรกิจห้องแถว” จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน กลายเป็นเจ้าของ “ธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ” โดยปี 2552 บริษัทสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ก่อนจะสร้างความมั่งคั่งด้วยการนำ บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ธุรกิจติดตามหนี้ติดนามสกุลมหาชนได้ และปัจจุบันกลายเป็น “หุ้นห่านทองคำ” ของกลุ่มที่สร้างผลตอบแทนโดดเด่นสุด
และสร้างความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเมื่อเข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย หรือ SINGER ด้วยการประกาศซื้อหุ้น SINGER กว่า 67 ล้านหุ้น คิดเป็น 24.99% มูลค่า 945 ล้านบาท จากกลุ่ม SINGER (THAILAND) B.V. ของสหรัฐอเมริกา บริษัทแม่ของซิงเกอร์ประเทศไทย และทำให้ “เจ มาร์ท” กลายเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ของ “ซิงเกอร์ประเทศไทย” ในปี 2558 พร้อมกับการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม จนนำไปสู่การประกาศปรับโครงสร้างองค์กรเป็น “Holding Company” ในปีถัดมา
และด้วยกลยุทธ์การ “แตกลูกโต” ทำให้นิยามของกลุ่มเจมาร์ท อาจจะพูดได้ว่าเป็นการ “เติบโตไม่หยุด” เพราะบริษัทลูกที่เจมาร์ทแตกธุรกิจออกสามารถสร้างความแข็งแกร่งก่อนนำเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้น ! ซึ่งบริษัทลูกทุกตัวธุรกิจล้วนขยายตัวทั้งหมด !
ทั้งกลุ่มเติบโตด้วยศักยภาพและหลายธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT เป็นผู้ให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินทั้งในส่วนที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพและรับจ้างติดตามหนี้ครอบคลุมทุกประเภท และ บมจ. เจเอเอส แอสเซ็ท หรือ J ดำเนินธุรกิจด้านการบริหารจัดการพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้าในส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าเทคโนโลยี
ทำให้ปัจจุบัน กลุ่มเจ มาร์ท มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทังหมด “4 บริษัท” โดยมี “มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด” (มาร์เกตแคป) แตะระดับ “2.02 แสนล้านบาท” (ตัวเลข 20 ม.ค. 2565) แบ่งเป็น JMART อยู่ที่ระดับ 76,401.92 ล้านบาท ถัดมา JMT มีมาร์เกตแคป 84,262.81 ล้านบาท SINGER มีมาร์เกตแคป 37,308.50 ล้านบาท และ J มีมาร์เกตแคป 4,236.55 ล้านบาท
แต่ปัจจุบัน ธุรกิจที่ตัดสินใจเดินหน้าล้วนเติบโตอย่างมีนัยสำคัญต่ออนาคตของกลุ่ม โดยเฉพาะข่าวการร่วมมือทางธุรกิจกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และกลุ่มทุนจากตลาดประเทศ ในการดำเนิน “ธุรกิจการเงิน” ถือเป็นธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนอนาคตของกลุ่มเจมาร์ทให้เปลี่ยนไปจากปัจจุบัน ?
และอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญจากการเติบโตผ่านกลยุทธ์ “ผนึกกำลัง” (Synergy) ครบวงจรของบริษัทในเครือ จากการมีหลายธุรกิจ ครบถ้วนทั้งค้าปลีก, การเงิน และเทคโนโลยี ทำให้บริษัทนำธุรกิจต่าง ๆ มาเชื่อมต่อกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งมากขึ้น ทว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วการ Synergy ในเครืออาจจะไม่เพียงพอ !
ดังนั้น จึงเห็นกลยุทธ์ Synergy ของกลุ่มเจมาร์ทออกไปหา “เพื่อนใหม่” เพื่อให้การเติบโตทันใจโดยหนึ่งใน “ดีลใหญ่” ในปี 2564 ที่หลายฝ่ายจับตาหนีไม่พ้น ดีลระหว่าง เจมาร์ท กับ บมจ. วีจีไอ หรือ VGI และ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) (U) ซึ่งถือเป็นบริษัทในเครือของ “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ที่มีหลากหลายธุรกิจสามารถร่วมกันต่อยอดสร้างการเติบโตทั้งสองฝ่าย โดยกลุ่มบีทีเอสมีทั้ง ธุรกิจรถไฟฟ้า , อสังหาริมทรัพย์ (ที่ดินจำนวนมาก) ธุรกิจขนส่ง , ธุรกิจโฆษณา ซึ่งการสองกลุ่มธุรกิจใหญ่ Synergy ร่วมกันจะช่วยต่อยอดธุรกิจของ JMART เติบโตได้ในอีกหลากหลายช่อง
โดยกลุ่มบีทีเอสเข้าลงทุนในบริษัทของกลุ่ม JMART จำนวนทั้งสิ้น 17,500 ล้านบาท แบ่งเป็น “ยู ซิตี้” จะเข้าลงทุน 24.9% ใน SINGER เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้กลายเป็นหน่วยธุรกิจทางการเงินของกลุ่มบีทีเอส นอกจากนี้ “ยู ซิตี้” และ VGI ยังเข้าร่วมลงทุนใน JMART เป็นจำนวนรวมกว่า 10,400 ล้านบาท โดย U ถือหุ้นในสัดส่วน 9.9% และ VGI ถือหุ้นในสัดส่วน 15.0% อีกด้วย
เปิดแผนธุรกิจปี 2565 !
เริ่มต้นปี 2565 “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART เปิดแถลงแผนดำเนินงานปี 2565 ว่า บริษัทมั่นใจผลประกอบการจะเติบโตระดับมากกว่า 50% หรือ ทำผลงานสูงสุด (All Time High) ได้ต่อเนื่อง โดยจะรุกทั้งในธุรกิจ Commerce และ Finance ควบคู่ โดยมีเป้าหมายที่จะเติบโตแบบ Exponential Growth หรือ J Curve ฃ
ขณะเดียวกันในปี 65 บริษัทยังวางกลยุทธ์ “ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ” เป็น Technology Invesment Holding Company (T-IHC) จาก Invesment Holding Company (IHC) ซึ่งมองว่า การขับเคลื่อนด้วยพลัง Synergy ในกลุ่ม “ธุรกิจค้าปลีก” และ “การเงินที่มีเทคโนโลยีและบล็อกเชน และ Big Data” จะเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันการเติบโต
โดยแผนในปี 2565 กลุ่มเจมาร์ทจะเติบโตแบบยกกำลัง 2 จากการร่วมกับกลุ่มบริษัทพันธมิตร โดยเฉพาะ “บีทีเอส” ที่คาดจะเห็นเมกะโปรเจคร่วมกันมากขึ้น และเตรียมนำเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุน 30,000 ล้านบาทในการขยายธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เป็น Platform ทางด้านค้าปลีกและการเงิน โดยคาดจะได้เห็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นในปีนี้อีก 2-3 ดีล โดยโปรเจกต์แรกคาดประกาศเร็วๆ นี้ จะเป็นพันธมิตรในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านค้าปลีก และการเงินที่ต่อยอดการเติบโตของบริษัท
เขา แจกแจงว่า บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด (JAYMART MOBILE) ผู้ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายมือถือและอุปกรณ์เสริม กล่าวว่า ในปี 65 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 50% หรือ 12,500 ล้านบาท และกำไรเติบโตเท่าตัว จากการบริหารจัดการภายในที่ดีต่อเนื่อง รวมทั้งการปรับเกมธุรกิจภายใต้สถานการณ์โควิด
โดยบริษัทได้ขยายสาขาผ่านการเปิดร้านเจมาร์ทซินเนอร์ยี่กับ SINGER และในพื้นที่ของบริษัทในเครือ รวมถึงการขายสินค้าผ่านช่องทาง Synergy ด้วยสินเชื่อจาก KB J Capital และ SINGER
สำหรับกลยุทธ์หลักปี 65 บริษัทวาง 4 กลยุทธ์หลัก คือ Gadget Destination มุ่งเน้นสินค้าด้านเทคโนโลยี สร้างประสบการณ์ใหม่ผู้บริโภค , Financial Destination การตอบโจทย์บริการด้านสินเชื่อ ไม่มีบัตรก็ผ่อนได้, Digital Transformation การขยายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และ Power of Synergy การมีเครือข่ายการขายที่แข็งแกร่ง ผ่านช่องทางของ SINGER และ BTS Group
ทั้งนี้ มองว่านโยบายภาครัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ช้อปดีมีคืน จะสนับสนุนให้ภาพรวมการจับจ่ายใช้สอยในช่วงต้นปี 65 คึกคัก ขณะที่ประโยชน์ระยะยาวจากเทรนด์ Digital และ Metaverse เพิ่มโอกาสสินค้าเทคโนโลยีเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ผู้นำในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพภาคเอกชนรายใหญ่ของประเทศ กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพรวม 10,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้ากำไรเติบโต 45% โดยทำนิวไฮต่อจากการซื้อหนี้เข้ามาบริหาร และการเก็บเงินสดสูงขึ้น
“ภาพรวมธุรกิจบริหารหนี้มีการเติบโตชัดเจน ในปี 65 มองว่าสถาบันการเงินจะมีการขายหนี้ออกมาจำนวนมาก หลังลูกค้าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด จึงวางงบซื้อหนี้ด้อยคุณภาพในปี 65 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท”
ส่วนการเข้าร่วมลงทุนกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ในการตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อประกอบธุรกิจร่วมกันในธุรกิจให้บริการงานติดตามหนี้ และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/65 และทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ในไตรมาส 3 เป็นต้นไป และในปี 66 คาดว่าจะรับรู้รายได้ได้เต็มปี
บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท หรือ J กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ากำไรสุทธิเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% โดยบริษัทจะเดินหน้าเติบโตไปทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจ IT Junction ที่เริ่มกลับมาคึกคัก 2.ธุรกิจ JAS Property โดยจะเน้นบ้านมือสองพร้อมอยู่ โดยตั้งเป้ายอดขายปีนี้ที่ 100 ล้านบาท
3.ธุรกิจศูนย์การค้าคอมมูนิตี้มอลล์ โดยในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะขยายในอีกหลายสาขาที่มีศักยภาพ และ 4.กลุ่มธุรกิจที่เป็น Mega เทรนด์ของประเทศ คือ Health Care and Service สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ภายใต้แบรนด์ SENERA โดยจะเปิดให้บริการที่ศูนย์การค้าชุมชน JAS GREEN VILLAGE-KUBON ที่แรกภายในไตรมาส 4/65 และตั้งเป้า 10 แห่งใน 3 ปี
และบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย หรือ SINGER กล่าวว่า ในปี 65 มั่นใจจะสามารถทำผลงาน All Time High ได้ต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายการเติบโตของกำไรสุทธิเติบโต 75% จากปี 64 โดยจะมีการขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase : HP) และพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) โดยในปี 65 คาดพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 15,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผลประกอบการที่ดี ยังมาจากการบริหารจัดการต้นทุนการเงินที่ดี จุดแข็งที่มีทีมขายกระจายทั่วประเทศ โดยในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าขยายแฟรนไชส์รวม 7,000 แห่ง เพื่อเป็นฐานกำลังสำคัญในการบุกตลาดค้าปลีกที่แข็งแกร่ง และการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มเติมร่วมกับ BTS Group และพันธมิตร
ส่วนไฮไลท์ของ SINGER ในปี 65 เดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อ ด้วยข้อจำกัดต้นทุนทางการเงินที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากการเพิ่มทุนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ บริษัท เอสจี แคปปิตอล (SGC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SINGER จะเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 65 นี้
บริษัท เคบีเจ แคปปิตอล จำกัด (KB J) ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัท จะขยายการปล่อยสินเชื่อให้ได้มากกว่า 2 เท่าของปี 64 ที่ผ่านมา โดยได้เปิดตัว Cash Card “KashJoy Easy Card” ซึ่งจะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคในประเทศไทยได้มากขึ้น
โดยจะนำเอาเทคโนโลยีในการดำเนินงานทางด้านการเงินจากประเทศเกาหลีใต้ เข้ามาปรับใช้ในธุรกิจให้ได้มากที่สุด และตั้งเป้าจะเติบโตผลการดำเนินงานให้เติบโตได้ 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา