ศาลปกครอง วินิจฉัย รฟม.แก้เกณฑ์ประมูล "สายสีส้ม" ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดี รฟม.เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้ ดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ความเสียหายต่อบีทีเอสยังไม่เกิดขึ้น
วันนี้ (9 ก.พ.) เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยคดีข้อพิพาทดังกล่าวสืบเนื่องจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ส่วนตะวันตก การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS กล่าวภายหลังการฟังคำพิพากษาว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง และ ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เหตุดังกล่าวไม่ได้ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับบริษัทฯ
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในศาล3 คดี ประกอบด้วย
1.ศาลปกครอง คดีที่ภาครัฐออกประกาศยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม
2.คดีเรียกร้องค่าเสียหาย จากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประกวดราคา
3.คดีตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172
ส่วนกรณี การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียวออกไปอีก30ปี นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เราเป็นบริษัทเอกชนมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งตอนนี้มีสัญญาว่าจ้างให้เดินรถอยู่ เราได้ปฏิบัติตามสัญญาอย่างครบถ้วนมาโดยตลอด แม้ตอนนี้ยังไม่ได้รับการชำระเงินค่าจ้างเรื่องของสัมปทานเป็นเรื่องที่บริษัทให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ปัญหาอย่างดีที่สุด หนี้มูลค่า30,000ล้านบาทที่เกิดขึ้น มาจากการให้บริการจริงกับประชาชนทั้งการเดินรถและการติดตั้งระบบการต่อสัมปทานเป็นเรื่องที่รัฐพยายามจะแก้ปัญหาหนี้ที่ กทม.รับภาระค่าก่อสร้างโยธามาจาก รฟม.มูลค่า60,000ล้านบาท