“อาคม” ชี้ไทยเร่งสร้างยั่งยืนการคลังรับมือวิกฤติในอนาคต
“อาคม” ชี้ ไทยต้องเร่งสร้างความยั่งยืนทางการคลัง รองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หลังเงินกู้เพื่อเยียวยาโควิด ก่อให้เกิดภาระการคลัง ขณะที่ มอง 8 ประเด็นสำคัญต้องปรับตัวใน 1 ทศวรรษข้างหน้า เพื่อสร้างขีดแข่งขันประเทศ โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ เทคโนโลยีดิจิทัล
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน PostToday Step into the 20th Years Anniversary “Future of Growth Forum: Thailand Vision 2030” โดยเขากล่าวถึงนโยบายการคลังในอนาคตว่า ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ไทยมีภาระด้านการคลังค่อนข้างมาก โดยการจัดหาเงินกู้เพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ฉะนั้น ที่ต้องมองในอนาคตและพูดกันทั่วโลกมี 2 ประเด็น
โดยประเด็นแรกคือ ความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งหมายถึง การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคลัง ซึ่งเราได้ใช้จ่ายเงินไปค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น ประสิทธิภาพการจัดเก็บจึงเป็นเรื่องจำเป็นต้องจัดหารายได้ของภาครัฐ และอีกเรื่องคือ การขยายฐานภาษี ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น และพูดกันทั่วโลก เพราะทั่วโลกนั้น ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงมากใน 2 ปีที่ผ่านมา
ประเด็นที่สอง มาตรการด้านการคลัง ซึ่งกรอบกติกาของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปคือ เรื่องของลดความเหลื่อมล้ำการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ ถือว่า มีความได้เปรียบเสียเปรียบความเหลื่อมล้ำระบบการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศที่ยากจน ประเทศที่มีรายได้กำลังพัฒนากับประเทศที่เจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจนั้น ก็มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่แม้ว่า เราจะมีข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องของการเก็บภาษีซ้อนก็ตาม
ทั้งนี้ กติกาโลกจะสร้างความเท่าเทียมกันให้กับประเทศที่เสียเปรียบมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการกัดกร่อนทางภาษี ยกตัวอย่าง บริษัทข้ามชาติต่างๆ อาจมีการโยกย้ายรายได้ไปจัดเก็บในประเทศของตน แทนที่จะมีการชำระภาษีให้กับประเทศที่ทำธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีกติกาออกมาในปี 2564 ของกลุ่มประเทศOECD ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนทางการคลังในอนาคตและรองรับวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
“เวลานี้ ยังไม่ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจเราไม่ได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้ หากดูในเรื่องดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้นโดยลำดับ ก็ขอให้ความมั่นใจว่า เศรษฐกิจในปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.5-4.5%ให้ได้”
เขายังมอง 8 ประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องปรับตัวในอีก 1 ทศวรรษข้างหน้า เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมองว่า ระยะเวลา 10 ปีไม่ใช่ระยะเวลาที่นาน ดังนั้น เราจำเป็นต้องปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยถดถอย และสามารถปรับตัวได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศมีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และมีการซอยยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นแผนปฏิบัติการ 5 ปี หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จัดทำโดยสภาพัฒน์
สำหรับประเด็นที่ประเทศไทยต้องปรับตัวในอนาคตข้างหน้า ซึ่งมีทั้งหมด 8 ประเด็น คือ 1.ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของโลก ซึ่งโลกกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน ประเทศไทยก็จำเป็นต้องปรับตัว นโยบายหนึ่งที่สอดคล้องกับเป้าหมายนี้ก็คือ การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
2.การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งดิจิทัลถือเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ทั้งนี้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยอย่างมาก ระบบการชำระเงินที่ผ่านระบบดิจิทัล ,การกู้เงินผ่านระบบดิจิทัลในรูปแบบ Peer to Peer Lending และ Cloud funding ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่เราต้องการส่งเสริม แต่ ธปท.และ ก.ล.ต.จะเข้าไปกำกับ เพื่อไม่ให้นวัตกรรมทางการเงินดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
“สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและตัดสินว่า อนาคตจะเป็นอย่างไรคือ เรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีส่วนสำคัญมาก เพราะดิจิทัลจะแทรกซึมต่อชีวิตประจำวันของเราและการทำธุรกิจ”
3.การส่งเสริมอุตสาหกรรมในกลุ่ม Health and wellness ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถทำได้ดี ซึ่งปัจจุบัน มีภาคเอกชน ได้ผนวกเรื่อง Health and wellness เข้าไปในโมเดลธุรกิจของตัวเอง เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างที่อยู่อาศัยรองรับคนสูงอายุจากต่างประเทศที่ต้องการมาพำนักในประเทศไทยในระยะเวลาที่ยาวนาน
4.การส่งเสริม SMEs และ Start up ซึ่งกระทรวงการคลัง กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาแนวทางสนับสนุน Venture Capital ที่ต้องการเข้าไปลงทุนใน Start up
5.ในภาคการท่องเที่ยว ที่ก่อนโควิด-19 ซึ่งเรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทยมากถึง 40 ล้านคน ทำรายได้ให้ประเทศ มากถึง 12% ของจีดีพี แต่ในอนาคตเราต้องเน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการท่องเที่ยว แทนที่จะเน้นปริมาณเป็นหลัก เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากนั้น มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งก็คือต้นทุนประการหนึ่งของประเทศ
6.การสร้าง Social Safety Net เพื่อให้มีระบบการคุ้มครองคนในประเทศ โดยเฉพาะคนในระบบฐานราก ดังนั้น เราจะต้องส่งเสริมระบบการออมเพื่อการเกษียณ โดยเฉพาะในกลุ่มคนแรงงานอาชีพอิสระ ที่ยังไม่มีระบบการออมเพื่อเกษียณ
7.การเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทย ที่เราจำเป็นต้องวางแผนรองรับ และสุดท้าย 8.การสร้างความยั่งยืนให้กับการคลังของประเทศในอนาคต โดยภาครัฐจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี และขยายฐานภาษี ซึ่งขณะนี้ทั้งโลกก็พูดเรื่องนี้ เนื่องจาก ในช่วงสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลในโลกมีการใช้จ่ายในระดับที่สูง เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์