เปิดปมต่อสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ค่าโดยสาร ..แพงจริงไหม?

เปิดปมต่อสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ค่าโดยสาร ..แพงจริงไหม?

มหากาพย์การต่อสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2562 โดยฝั่งค้านที่ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญา ให้เหตุผลว่า จะทำให้ค่าโดยสารแพงขึ้น สรุปแล้วเรื่องนี้ความจริงเป็นอย่างไร

กรณีปมมหากาพย์การต่อสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ที่ค้างเติ่งมาเนิ่นนาน ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นแนวคิดการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก 30 ปี ให้กับผู้รับสัมปทาน คือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เพื่อแลกกับภาระหนี้สินกว่า 3 หมื่นล้านบาทที่ กทม. แบกรับอยู่ในตอนนี้ รวมถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายไม่เกิน 65 บาท

โดยในส่วนของฝั่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทาน ที่ชัดเจน ก็คือ พรรคภูมิใจไทย หรือ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมถึง สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ออกมาคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานให้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ให้บริการรถฟ้าสายสีเขียว หรือ BTS นั้น ประเด็นหลักที่ยกมาเป็นเหตุผล ก็คือ หากต่อสัญญาแล้ว จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง

..เรื่องนี้ ความจริงเป็นอย่างไร แล้วรถไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ตอนนี้จำนวนทั้ง 3 สายนั้น ถ้านำมาเทียบกันแล้ว ค่าโดยสารแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

  •  รู้จัก 3 เส้นทาง รถไฟฟ้า ในกทม. 

ก่อนไปเปรียบเทียบราคา เราต้องรู้ก่อนว่า รถไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ในกทม.เวลานี้ มีผู้ให้บริการ 2 เจ้าหลัก ได้แก่

1. รถไฟฟ้าบีทีเอส หรือที่เรียกว่า “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ซึ่งให้บริการมาตั้งแต่ ธ.ค.2542 และแบ่งย่อยออกเป็น สายสีเขียวส่วนหลัก และ สายสีเขียวส่วนต่อขยาย

2. รถไฟฟ้าที่อยู่ในการดูแลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีด้วยกัน 2 สาย ประกอบด้วย

- รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง-ส่วนต่อขยาย)

- รถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-บางใหญ่)

  •  สองผู้ให้บริการ "บีทีเอส - รฟม." เงื่อนไขต่างกันอย่างไร 

ความแตกต่างของรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย 2 ผู้ให้บริการ คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นรถไฟฟ้าที่เอกชนลงทุนด้วยเงินของเอกชนทั้งหมด โดยได้รับสัญญาสัมปทาน 30 ปี (2542 – 2572) และสำหรับส่วนต่อขยาย หากจะมีการขยายสัมปทานทั้งช่วง “หมอชิต-คูคต” และช่วง “อ่อนนุช-เคหะสมุทรปราการ” ให้บีทีเอสรวม 30 ปี (2572-2602) ก็จะต้องมาพร้อมเงื่อนไข คือ บีทีเอสต้องแบ่งค่าโดยสารให้ กทม. รวม 200,000 ล้านบาท และแบ่งรายได้เพิ่มให้หากได้ผลตอบแทนเกิน 9.6%

ที่สำคัญถ้ารายได้ต่ำกว่าประมาณการและเกิดผลขาดทุน เอกชนก็ต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด โดยกทม. ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ ขณะเดียวกัน ก็มีเงื่อนไขด้านค่าโดยสาร กำหนดที่ 15-65 บาท

เมื่อมาดูกันที่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่รัฐลงทุนก่อสร้างติดตั้งระบบด้วยเงินของรัฐมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 70% ของโครงการ เอกชนที่ได้สิทธิ์เดินรถจะลงทุนประมาณ 30% และจะแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว หากรายได้ยังไม่ถึงก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งรายได้ให้กับรัฐ

  • อัตราค่าโดยสาร เปรียบเทียบรถไฟฟ้า 3 สาย

แล้วค่าโดยสารรถไฟฟ้า ที่คำนวณจากระยะทางที่เดินทางได้ไกลสุดและราคาค่าโดยสารสูงสุด เป็นอย่างไร ผลที่ออกมาดังนี้

สายสีเขียว เฉลี่ย  1.23 บาท/กิโลเมตร

สายสีน้ำเงิน 1.62 บาท/กิโลเมตร

สายสีม่วง 1.83 บาท/กิโลเมตร

ตัวเลขที่ออกมาจะเห็นได้ว่า การอ้างว่าต้องคัดค้านการต่อสัมปทาน เพราะหากปล่อยให้สัญญาสัมปทานหมดลง รถไฟฟ้าสายสีเขียวก็จะกลับมาเป็นของรัฐ และจะทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้ เป็นเรื่องที่ทางการเมืองพูดกัน

เพราะความจริงปรากฏอยู่แล้วว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่เป็นระบบรถไฟฟ้าที่อยู่ในการดูแลของรัฐ และรัฐควักเงินลงทุนโครงสร้างเป็นเงินถึง 70% ของการลงทุน ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าในระบบนี้ก็ควรจะต้องถูกกว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่รัฐลงทุนเองทั้งหมด แต่เหตุไฉนกลับเก็บค่าโดยสารแพงกว่าระบบรถไฟฟ้าที่เอกชนลงทุน 100%

การออกมาเรียกร้องให้ค่าโดยสารสายสีเขียวถูกลง (ทั้งๆที่ถูกกว่าอีก 2 สายอยู่แล้ว) ก่อนอื่นต้องไปทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่อยู่ในการดูแลของรัฐบาลมีราคาถูกลง 70% ก่อนจะง่ายกว่าหรือไม่

...อยู่ที่ว่าผู้ถืออำนาจรัฐจะทำตามหรือไม่