บลจ.ทาลิส จ่ายปันผล 2 กองทุนหุ้นไทย มองปี 65 ยังคงเป็นปีที่ดีของตลาดหุ้นไทย
บลจ.ทาลิส จ่ายปันผล 2 กองทุนหุ้นไทย กองทุน TLDIVLTF-D ที่ 0.125 บาทต่อหน่วย และกองทุน TLDIVEQ-D 0.30 บาทต่อหน่วย ที่ 0.30 บาทต่อหน่วย 18 ก.พ.นี้ มองทิศทางตลาดหุ้นไทยปี 65 ยังเป็นปีที่ดี เศรษฐกิจฟื้นตัว และดอกเบี้ยไทยยังต่ำ ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าหนุนดัชนี
นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ทาลิส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจ่ายเงินปันผล 2 กองทุนหุ้นไทย ได้แก่ กองทุนเปิดทาลิส Dividend Stock หุ้นระยะยาวปันผล (TLDIVLTF-D) ในอัตรา 0.125 บาทต่อหน่วย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 พ.ย.2564 - 31 ม.ค.2565 และ กองทุนเปิดทาลิส Dividend Stock หุ้นทุนปันผล (TLDIVEQ-D) ในอัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 ก.พ 2564-31 ม.ค.2565
โดยปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุนในวันที่ 10 ก.พ.2565 เวลา 08.00 น. และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนพร้อมกันในวันที่ 18 ก.พ.2565
กองทุนเปิดทาลิส Dividend Stock หุ้นทุนปันผล (TLDIVEQ-D) มีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี รวมถึงมีแนวโน้มที่จ่ายเงินปันผลโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้ บริษัทจัดการมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ ดังนี้ (1) ผลประกอบการทั้งในปัจจุบันและอนาคตของบริษัทผู้ออกตราสาร (2) การคาดการณ์การจ่ายเงินปันผลของบริษัทผู้ออกตราสาร
โดยผู้จัดการกองทุนจะพิจารณาปรับเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะการลงทุน โดยจะวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานหรือฐานะการเงินของบริษัทผู้ออกตราสารเพื่อพิจารณาความสามารถในการจ่ายปันผลในอนาคตอย่างน้อยทุกครั้งที่มีการประกาศงบการเงิน ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงผลการดำเนินงานหรือฐานะทางการเงินของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ ผู้จัดการกองทุนก็จะปรับเปลี่ยนการลงทุนให้เหมาะสม
สำหรับทิศทางการลงทุนในปี 2565 ยังคงเป็นปีที่ดีของตลาดหุ้นไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มฟื้นตัวดี ประกอบกับสภาพคล่องในระบบการเงินยังมีอยู่สูง และดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ยังมีโอกาสที่เงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติจะไหลเข้าตลาดหุ้น Emerging Market มากขึ้น
"อย่างไรก็ตามปี 2565 มีโอกาสจะมีความผันผวนมากกว่าปี 2564 จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตในปี 2565 สูงกว่าปีที่ผ่านๆ มามาก ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้น และผู้ประกอบการต้องผลักภาระให้ผู้บริโภค ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยภายนอก เช่น การขึ้นดอกเบี้ยของ US และการทำ Quantitative Tightening (QT) อย่างไรก็ดีการทำ QT ในปี 2565 อยู่ในช่วงที่ตลาดยังมีสภาพคล่องสูง และดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ความกังวลว่าเมื่อ US10Y Bond Yield ขึ้น เงินจะไหลออกจากตลาดหุ้นไปตลาดตราสารหนี้แต่ผลกระทบอาจจะไม่มาก ทิศทางการลงทุนในกลุ่ม Emerging Market รวมถึงไทย ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว เทียบกับกลุ่ม Developed Market ที่มีการฟื้นตัวไปแล้ว ทำให้ตลาด Emerging Market มีความน่าสนใจ"
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์