ปีทองรีสตาร์ทเครื่องยนต์ท่องเที่ยว "อุตตม" ถก สทท.ดันตั้งกองทุน 2 หมื่นล้าน
วานนี้ (10 ก.พ.) อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะแกนนำและผู้ร่วมก่อตั้ง “พรรคสร้างอนาคตไทย” พร้อมคณะทำงานพรรคฯ ได้ร่วมประชุมหารือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทน 13 สาขาอาชีพ
ตลอดจนนำเสนอแนวทางในประเด็น “ฝ่าวิกฤติ...สร้างอนาคตธุรกิจท่องเที่ยวไทย” ซึ่งเคยสร้างรายได้รวมด้านการท่องเที่ยวทั้งตลาดในและต่างประเทศสูงสุดถึง 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19
นับเป็นการเดินสายพบปะภาคเอกชนครั้งที่ 2 หลังจากก่อนหน้านี้ อุตตม ได้นำทีมพรรคสร้างอนาคตไทยเข้าพบผู้บริหารสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา
อุตตม สาวนายน แกนนำและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวว่า ภาคท่องเที่ยวถือเป็น “เครื่องยนต์หลัก” ของเศรษฐกิจไทย ถ้าเครื่องยนต์ท่องเที่ยวยังสะดุด วิ่งไม่เต็มสูบ การฟื้นเศรษฐกิจไทยทำได้ยากมาก! ต้องอาศัยมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาให้ครอบคลุมและยึดโยงทุกสาขาอาชีพตลอดห่วงโซ่ภาคท่องเที่ยว เพราะเห็นว่าแม้ภาคท่องเที่ยวจะยังเผชิญผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ในปัจจุบัน แต่ก็ยังมี “โอกาส” ที่ไม่ควรปล่อยผ่าน
ทางพรรคสร้างอนาคตไทยได้เสนอยุทธศาสตร์ภายใต้แนวคิด “รีสตาร์ทท่องเที่ยวไทย” เพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตแก่ภาคท่องเที่ยว ซึ่งต้องพร้อมด้วยปัจจัยหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน รวมถึงการมีเครื่องมือพิเศษเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าถึง “แหล่งเงินทุน” พรรคฯจึงเสนอให้มีการจัดตั้ง “กองทุนสร้างอนาคตท่องเที่ยวไทย” วงเงินเบื้องต้น 20,000 ล้านบาท
โดยอาจแบ่งจากกองทุนสร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งได้เสนอต่อสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากภาคท่องเที่ยวมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ในระบบจำนวนมาก ประกอบกับข้อเท็จจริงของกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ธนาคาร ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับมือหรือจัดการกับวิกฤติโดยตรง
“กองทุนสร้างอนาคตท่องเที่ยวไทยจะเข้ามาเป็นกลไกพิเศษช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้สามารถเข้าถึงทุนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจอย่างครบวงจร พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาซ่อมสร้างสถานที่ท่องเที่ยว เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงด้านเทคโนโลยี ด้านคน และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม”
ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ปี 2565 จะเป็น “ปีทองของการรีสตาร์ทท่องเที่ยวไทย” โดยภาคท่องเที่ยวไทยจำเป็นต้องมี “ทัวริสซึ่ม คลินิก” ตั้งอยู่ทุกจังหวัด เพื่อผลักดันให้ภาคท่องเที่ยวไทยก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกหลังวิกฤติโควิด-19 ผ่านการรับฟัง รักษา และพัฒนาด้านการเงิน การตลาด บุคลากร และเทคโนโลยี ภายใต้กลยุทธ์ “3 เติม 2 ลด” ได้แก่ เติมทุน ผ่านการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยว, เติมลูกค้า, เติมความรู้ เพื่อรับมือกับทิศทางการท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มอล รวมถึงลดต้นทุน และลดความยุ่งยาก ด้วยการพัฒนา “แพลตฟอร์ม” ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือการตลาด การบริหาร และการบริการ
“ปัจจุบันทั่วโลกต่างประสบปัญหาโควิด-19 แต่วันนี้ประเทศไหนเตรียมความพร้อมได้ดีกว่า เร็วกว่า ย่อมมีโอกาสในการแย่งชิงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ”
วิชิต ประกอบโกศล รองประธาน สทท. ฝ่ายการตลาด กล่าวเสริมว่า สทท.ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ “เปิดประเทศ” อย่างจริงจังและเร่งด่วน! หลังภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ฉุดภาคแรงงานท่องเที่ยวและบริการที่เคยมีมากถึง 7 ล้านคนอ่อนแอตามไปด้วย
โดยเมื่อปี 2562 ประเทศไทยเคยสร้างสถิติทำนิวไฮ ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนได้มากถึง 39.91 ล้านคน สร้างรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2 ล้านล้านบาท กระทั่งโควิด-19 ทุบการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้ปี 2563 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือ 6.7 ล้านคน สร้างรายได้ 4 แสนล้านบาท และในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 4.27 แสนคนเท่านั้น สร้างรายได้เพียง 3 หมื่นล้านบาท ตกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์!
ทั้งนี้ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา บางประเทศได้เดินหน้าเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยเงื่อนไขไม่ซับซ้อน อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่มีใบรับรองการฉีดวัคซีนครบตามกำหนดและมีผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบ ระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางจากประเทศต้นทาง สามารถเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ยกตัวอย่างประเทศคู่แข่ง 3 ประเทศของไทย อาทิ ประเทศมัลดีฟส์ ซึ่งมีประชากร 5.4 แสนคน ใกล้เคียง จ.ภูเก็ต เมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.7 ล้านคน ปี 2563 ลดลงเหลือ 5.55 แสนคน ปี 2564 ฟื้นตัวเป็น 1.32 ล้านคน โดยล่าสุดพบผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ 1,502 คน และมีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดส 68.12% ของประชากร
ขณะที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีประชากร 9.89 ล้านคน ใกล้เคียงกรุงเทพฯ เมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16.73 ล้านคน ปี 2563 ลดลงเหลือ 5.5 ล้านคน และในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย.ที่ผ่านมา ฟื้นตัวเป็น 6.02 ล้านคน โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ที่ 1,615 คน และมีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสสูงถึง 94.7% ของประชากรแล้ว
ฟากประเทศตุรกี ซึ่งมีประชากร 84.34 ล้านคน เมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 42.35 ล้านคน ปี 2563 ลดลงเหลือ 12.7 ล้านคน ปี 2564 ในช่วง 10 เดือนแรกตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. มีจำนวน 8.6 ล้านคน โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ที่ 111,096 คน และมีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดส 62.3% ของประชากร