Metaverse โลกเสมือนที่อาจเกิดขึ้นจริงในไม่ช้า

Metaverse โลกเสมือนที่อาจเกิดขึ้นจริงในไม่ช้า

แนวทางบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า Metaverse คงไม่ใช่เพียงแค่โลกแห่งความฝัน แต่คือโลกแห่งความจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพราะการใช้ประโยชน์จาก Metaverse ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่อุตสาหกรรมเกมหรือกิจกรรมเพื่อความบันเทิงต่างๆ เท่านั้น

หลัง Meta Platform (Facebook เดิม) รายงานผลประกอบการปี 2021 ออกมาน่าผิดหวัง ทำให้ยังหลีกเลี่ยงข้อสงสัยหนึ่งไม่ได้ในช่วงที่ผ่านมาว่า เส้นทางของ Metaverse ที่ผู้ก่อตั้ง Meta อย่าง Mark Zuckerburg กำลังไปนั้น สามารถเกิดขึ้นจริงได้มากน้อยแค่ไหน และคุ้มค่ากับที่ Meta ยอมลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา เทียบเท่ากับกำไรเฉลี่ยในแต่ละไตรมาสของ Meta เลยทีเดียวหรือไม่

หากพิจารณาถึงนิยามของ Metaverse นั้น Bloomberg Intelligence สรุปนิยามของ Metaverse ไว้ว่า เป็นการจำลองสังคมของโลกจริงสู่โลก 3 มิติ ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยียุคปัจจุบันประมวลผล เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เสมือนโลกจริง ไม่ว่าจะเป็น การซื้อขายสินค้าและบริการ หรือการติดต่อสื่อสารระหว่างกันผ่านตัวตนที่เป็นอวตาร 3 มิติ (Avatar) ซึ่งเป็นพัฒนาการจาก Social Media แบบเดิมๆ ที่ติดต่อกันผ่านตัวหนังสือหรือผ่าน Video Conference เท่านั้น

อันที่จริง แม้ในปัจจุบันยังไม่มี Platform 3 มิติเกิดขึ้นจริง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่สถาบัน Newzoo ที่เป็นหน่วยงานวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมเกมโดยตรงตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้เราอาจอยู่ในช่วง Proto-Metaverse หรือ “ยุคต้นแบบ” ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญหลายอย่างที่สามารถเป็นโครงร่างของ Metaverse ในอนาคตได้ พร้อมยกตัวอย่าง

บริษัทขนาดใหญ่กำลังให้บริการ Platform ต่างๆ ที่เข้าข่ายดังนี้

1. จาก Game-as-a-service สู่ Game-as-a-platform: ผู้เล่นสามารถกำหนดจุดประสงค์หรือเป้าหมายการเล่นเกมที่ต้องการด้วยตัวเองอย่างอิสระ เช่น มีการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตของ Travis Scott ภายในเกม Fortnite ของบริษัท EPIC Games ซึ่งมีผู้ชมสดกว่า 16 ล้านคน และมียอด View ใน Youtube กว่า 181 ล้านครั้ง ทำเงินได้กว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งๆ ที่ เกม Fortnite เป็นเกมแนวต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด แต่สามารถประยุกต์ตัวเกมให้สามารถจัดคอนเสิร์ตเสมือนจริงในช่วงการระบาดของ COVID-19 ได้ ซึ่งแน่นอนว่าประโยชน์ของการจัดกิจกรรมที่มียอดผู้ชมจำนวนมากเป็นแหล่งโปรโมทสินค้าชั้นดีของธุรกิจที่ต้องการขยายตลาดและสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น หรือผู้เล่นสามารถกำหนดรูปแบบของเกมได้เอง (User-Generated Content): เช่น เกม Roblox หรือ Crayta ที่ผู้เล่นสามารถสร้างเกมในรูปแบบใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเอง เปรียบเสมือนกำลังจำลองกิจกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์ ซึ่งมีความยืดหยุ่นต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในโลกเสมือน มากกว่าที่จะเล่นเกมตามแนวทางที่ผู้ผลิตเกมต้องการเท่านั้น เช่น กิจกรรมจำลองสถานการณ์ตามซีรีส์ยอดนิยม Squid Game ผ่านเกม Roblox เป็นต้น

Metaverse โลกเสมือนที่อาจเกิดขึ้นจริงในไม่ช้า 2. การรวมโลกจำลองและโลกจริงเข้าไว้ด้วยกัน: เช่น การใช้เครื่องมือจำลองภาพเป็น 3 มิติ เช่น แว่น VR Oculus ของ Meta เอง หรือโปรแกรมจำลองสถานที่หรือสิ่งของตามสัดส่วนเดียวกับโลกจริง เช่น โครงการ Omniverse ของบริษัท NVIDIA เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยออกแบบ 3 มิติให้เสมือนจริง โดยสามารถลดต้นทุนในการซื้ออุปกรณ์เพื่อออกแบบ หรือจำลองภัยพิบัติต่างๆ เพื่อให้สามารถสร้างประสบการณ์รับมือกับภัยได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการจดจำในตำรา

3. การสร้างอัตลักษณ์หรือตัวตนภายในเกม: เช่นสร้างตัวตนจำลอง (Avatar) ซึ่งสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของคนนั้นๆ ภายในโลกออนไลน์ได้ เช่น แอปพลิเคชัน Zepeto ของบริษัทในกลุ่ม Naver Corp. หรือเจ้าของแอปลิเคชัั่น Line ที่เราคุ้นเคย ที่สามารถออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ใช้กับ Avatar ซึ่งสามารถนำไปขายต่อให้กับผู้เล่นอื่นที่ต้องการได้ เป็นต้น

สังเกตได้ว่า ยุค Proto-Metaverse ผลักดันด้วยบริษัทเกมหรือเจ้าของเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอยู่แล้ว แม้กระทั่งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft เองก็ยอมทุ่มเงินกว่า 6.87 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 40% ของรายได้ทั้งปี 2021 เพื่อซื้อกิจการ Activision Blizzard เพื่อหวังว่า จะครอบครองชุมชนเกมเมอร์ก่อนปูทางสู่ Metaverse ในอนาคต สอดคล้องกับ Bloomberg ที่คาดไว้ว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2024 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 13.1% นับจากปี 2020 เป็นต้นมา

ดังนั้น จากแนวทางของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า Metaverse คงไม่ใช่เพียงแค่โลกแห่งความฝัน แต่คือโลกแห่งความจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าการใช้ประโยชน์จาก Metaverse ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่อุตสาหกรรมเกมหรือกิจกรรมเพื่อความบันเทิงต่างๆ เท่านั้น แต่ Metaverse จะเป็น Ecosystem ที่สามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย หากนักลงทุนท่านไหนกำลังมองหาการลงทุนระยะยาวกับกระแส Metaverse การเลือกลงทุนระยะยาวกับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และมั่นคงที่มุ่งเน้นพัฒนา Metaverse Ecosystem ก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้