กระทรวงอุตฯ ต้นแบบหน่วยงานรัฐ จับมือ SCGP รีไซเคิลกระดาษคืนสู่สังคม
กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อม 7 หน่วยงานในสังกัด จับมือ SCGP เปิดโครงการ “80 ปี กระทรวงอุตสาหกรรม 8,000 กิโลกรัม รีไซเคิลสู่สังคม” นำร่องภาครัฐขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย BCG Model
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปีนี้ในโอกาสครบรอบ 80 ปีแห่งการสถาปนากระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงฯพร้อมด้วย 7 หน่วยงานในสังกัด จึงร่วมกันเดินหน้าสานต่อการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับ BCG Model ด้วยการร่วมกับ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ในการดำเนินโครงการนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นอีกหนึ่งโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อนำกระดาษเหลือใช้กว่า 8,000 กิโลกรัม รีไซเคิลคืนสู่สังคม
ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และนำกระดาษเหลือใช้ในหน่วยงานมาหมุนเวียนและนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระดาษถ่ายเอกสาร เตียงสนามกระดาษ ชุดโต๊ะเรียน ชุดโต๊ะอาหาร ฯลฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมอบให้เป็นสาธารณประโยชน์กลับคืนสู่สังคม ตามแนวทางการขับเคลื่อน BCG Model
โดยมี 4 เป้าหมายหลัก เพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึง ตามหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุล ได้แก่
1) สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโมเดลธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่
2) สร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ลดของเสียและมลภาวะ
3) สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายตลาดและนวัตกรรมนำอุตสาหกรรมไทย
4) ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน
นายทาวัน ทวีถาวรสวัสดิ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินงานภายใต้ BCG Model โดยมีนโยบายการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยการลดการใช้กระดาษ หรือใช้น้อย ใช้กระดาษสองด้าน หรือใช้ซ้ำ และการส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และพร้อมส่งเสริมทุกภาคส่วนในการดำเนิน
สำหรับโครงการ “80 ปี กระทรวงอุตสาหกรรม 8,000 กิโลกรัม รีไซเคิลสู่สังคม” นี้ กระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานที่มีผู้แทนจาก 7 หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
เพื่อร่วมการดำเนินโครงการดังกล่าว และจะต่อยอดไปยังหน่วยงานส่วนภูมิภาค อีกทั้งจะขยายผลไปสู่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
ด้าน นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า SCGP มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อผู้บริโภคและโลกที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม บนกรอบแนวคิด ESG ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อน BCG Model ของกระทรวงอุตสาหกรรม
บริษัทจึงยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ โดยการนำองค์ความรู้และกิจกรรมการคัดแยกกระดาษเหลือใช้ตั้งแต่ต้นทาง ระบบการจัดการกระดาษรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อประสานพลังความร่วมมือที่แข็งแรงของภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐ ในการดูแลสิ่งแวดล้อม สู่สังคมที่น่าอยู่ และโลกที่ยั่งยืนร่วมกัน
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายในการรับกระดาษเหลือใช้สำหรับโครงการนี้ที่ปริมาณขั้นต่ำ 8,000 กิโลกรัม ซึ่งจะเริ่มโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงสิงหาคม 2565
โดยติดตั้งจุดรับกระดาษเหลือใช้ในระดับกองของทุกหน่วยงาน และจะดำเนินการโดยโซลูชันจัดการวัสดุเหลือใช้ชื่อ SCGP Recycle ช่วยคำนวณปริมาณกระดาษ จัดเก็บ และนำกลับสู่กระบวนการ เพื่อนำกลับไปรีไซเคิลและนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อมอบเป็นสาธารณประโยชน์ต่อไป