"เอ็กซิบิชั่น" หัวหอกกู้รายได้ไมซ์! เอกชนคาดตลาดต่างชาติฟื้นครึ่งปีหลัง
ภาคธุรกิจต่างคาดการณ์ในทิศทางเดียวกันว่าปี 2565-2566 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัว! ของอุตสาหกรรมการเดินทางและท่องเที่ยว หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 มายาวนานกว่า 2 ปี ส่งสัญญาณที่ดีต่อตลาด “ไมซ์” (MICE: งานจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ของประเทศไทย
ซึ่งพึ่งพาตลาดนักเดินทางไมซ์ต่างชาติในการสร้างรายได้
ย้อนไปเมื่อปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 จะเกิดขึ้น พบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากค่าใช้จ่ายจากการจัดงานไมซ์ในไทยอยู่ที่ 559,840 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาด “งานแสดงสินค้า” (Exhibition) มากอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 54.95% รองลงมาคือตลาดงานสัมมนา 18.41% งานประชุม 16.07% และงานท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล 10.57%
ทั้งนี้ในปีดังกล่าว การจัดงานไมซ์ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านรายได้ประชาชาติที่ 550,200 ล้านบาท คิดเป็น 3.27% ของจีดีพีประเทศไทย เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 818,176 อัตรา และภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้จากการจัดงานไมซ์ที่ 39,130 ล้านบาท
นิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมตลาดไมซ์ในปี 2564 ยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แต่ทางทีเส็บได้สนับสนุนการจัดงานไมซ์ในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ ส่งผลให้มีรายได้จากการใช้จ่าย 33,230 ล้านบาท โดยเป็นรายได้ฯจากการจัดงานแสดงสินค้า 31,131 ล้านบาท ถือเป็นเครื่องมือที่สร้างรายได้มากที่สุดอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 93.69% ดึงนักลงทุนและตอบโจทย์ “12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย” ของประเทศได้โดยตรง ตามมาด้วยงานสัมมนา 4.04% งานท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล 1.17% และงานจัดประชุม 1.10%
การจัดงานไมซ์ตลอดปี 2564 ยังสามารถสร้างจีดีพีให้แก่ประเทศได้ 29,749 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 46,718 ตำแหน่ง และเพิ่มรายได้ภาษีให้แก่ภาครัฐ 2,089 ล้านบาท
และในช่วง 2 ปีที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทีเส็บมุ่งดึงงานไมซ์มาจัดที่ประเทศไทยเพื่อตอบโจทย์อนาคตหลังสถานการณ์คลี่คลายซึ่งจำเป็นต้องมีงานไมซ์มาจ่อที่หน้าประตู และสามารถจัดงานได้ทันทีที่มีการเปิดประเทศ! โดยในฐานะผู้ดึงงานไมซ์ระดับโลกมาจัดในไทย ทีเส็บสามารถไปประมูลสิทธิ์การจัดงานไมซ์มาได้จำนวน 74 งานใหม่ กระจายใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของภาครัฐ
“ทั้งนี้ในปี 2566 ตามกลยุทธ์ของทีเส็บ คาดการณ์ว่าจำนวนนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น 45% สร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ 12,900 ล้านบาท”
นิชาภา เล่าเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันทีเส็บได้ยื่นประมูลสิทธิ์ “เมกะอีเวนท์” 3 งานระดับโลก ได้แก่ งานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี 2569, งานมหกรรมพืชสวนโลก จ.นครราชสีมา 2572 และงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ จ.ภูเก็ต 2571 (Specialised Expo) ภายใต้ชื่องาน Expo 2028 Phuket – Thailand
ด้านการจัด “งานสัมมนา” ปีที่แล้วทีเส็บประมูลสิทธิ์การจัดงานได้ 12 งาน โดยปัจจุบันจะไปประมูลสิทธิ์อีก 15 งาน กระจายไปใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยเช่นเดิม เพื่อเป็นการพัฒนาสมาคมวิชาชีพต่างๆ ซึ่งจะต้องเสนอตัวเป็นเจ้าภาพดึงงานสัมมนาระดับโลก (Global Convention) เข้าสู่ประเทศไทย
“นอกจากนี้ทีเส็บมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดงานระดับ Global Agenda ได้ เช่น งานเวิลด์แบงก์ โดยทีเส็บได้หารือกับกระทรวงการคลังว่าหลังจากประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์แบงก์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถึงเวลาที่จะต้องเวียนกลับมาจัดที่ประเทศไทยอีกครั้ง”
ด้านพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดการณ์ว่า ภาพรวมการจัดงานไมซ์ในอิมแพ็คฯช่วงครึ่งปีแรกจะยังเป็นงานในประเทศ แม้ปัจจุบันรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทย กลับมาเปิดระบบลงทะเบียนนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากบางประเทศต้นทางยังมีนโยบายต้องกักตัวขากลับ ทำให้มองว่ากว่า “ตลาดไมซ์ต่างชาติ” จะฟื้นตัว น่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปีนี้มากกว่า!
ขณะเดียวกันสถานการณ์โควิด-19 ยังทุบธุรกิจ “เอสเอ็มอี” หายไปจำนวนมาก ส่งผลต่อจำนวนธุรกิจที่มาออกงานแสดงสินค้าต่างๆ และขนาดพื้นที่จัดงานลดลงไปด้วย
ยกเว้นเพียงบางงานเท่านั้นที่ไม่ลดขนาดพื้นที่งาน เช่น งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 ระหว่างวันที่ 24 - 28 พ.ค.นี้ มีขนาดงานใหญ่ที่สุด ใช้พื้นที่เท่าเดิม ทั้งฝั่งชาเลนเจอร์และเอ็กซิบิชั่นเซ็นเตอร์ รวมกว่า 1.07 แสนตารางเมตร และงาน Thailand Coffee Fest เดือน ก.ค. เดิมใช้พื้นที่ 1.5 หมื่นตารางเมตร แต่ปีนี้เพิ่มขนาดเป็น 2.5 หมื่นตารางเมตร
งานไฮไลต์อื่นๆ มีงาน Motor Show จัดเดือน มี.ค., งาน Architect เดือน เม.ย., งานแข่งขันแบดมินตันทีมชาย-ทีมหญิงชิงแชมป์โลก Thomas-Uber Cup 2022 เดือน พ.ค. ซึ่งกลับมาจัดที่อิมแพ็คฯอีกครั้งหลังประสบความสำเร็จจากการจัดเมื่อปี 2018, งาน Money Expo เดือน พ.ค., และงาน Motor Expo เดือน ธ.ค.
ทั้งนี้ในช่วงโควิด-19 อิมแพ็คได้ปรับตัวเพื่อสอดรับกับเทรนด์การจัดงานไมซ์ใหม่ๆ เช่น การจัดงานเจรจาซื้อขายแบบออนไลน์ (Online Business Matching) ซึ่งเป็นบริการใหม่รองรับความต้องการของลูกค้า เริ่มต้นจัดได้หลาย 10 งาน รวมถึงการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ในพื้นที่อิมแพ็คฯ