“สภาพัฒน์” ยันใช้ “SEA” แก้ปัญหาจะนะ มุ่งเป้าลดขัดแย้ง - พัฒนายั่งยืน
สศช. แถลง แนวทางการจัดทำ SEA สำหรับแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ กรณีอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ยันเดินหน้าต่อใช้ SEA เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง สร้างโมเดลการรับฟังความเห็น และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ รับฟังความคิดเห็น 4 กลุ่มเสร็จในเดือนมี.ค.นี้
วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2565) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดแถลงข่าว เรื่อง แนวทางการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับแผนพัฒนาเชิงพื้นที่: กรณีอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงแนวทางการดำเนินงานในการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในกรณีอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่มอบหมายให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ รวมทั้งให้หน่วยงานของรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรอผล SEA ให้เป็นที่ยุติก่อนการดำเนินการต่อไป
เลขาธิการฯ ชี้แจงว่า SEA เป็นเครื่องมือที่ช่วยในกระบวนการตัดสินใจในการวางแผน โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล ทั้ง 3 ด้าน และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยในหลักการจัดทำ SEA ที่มีประสิทธิภาพ ควรดำเนินการก่อนการพัฒนาในพื้นที่หรือก่อนเกิดความขัดแย้งขึ้น ดังนั้น การจัดทำ SEA ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกรณีที่มีความขัดแย้งขึ้นแล้ว จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
ที่ผ่านมา สศช. ได้หารือร่วมกับนักวิชาการทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ รวมทั้งได้ยกร่างกรอบการดำเนินการจัดทำ SEA (TOR) เพื่อใช้ประกอบการดำเนินงานในระยะต่อไป ดังนี้
1. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในประเด็นสำคัญๆ ที่เป็น Key Success Factors สำหรับการจัดทำ SEA เพื่อนำความเห็นที่ได้มาปรับปรุงร่างกรอบการดำเนินการจัดทำ SEA (TOR) สำหรับใช้ใน
การจ้างที่ปรึกษาที่เหมาะสม ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น จำนวน 5 ครั้งใน 4 กลุ่ม
ประกอบด้วย 1.กลุ่มภาครัฐและเอกชน 2.กลุ่มผู้ห่วงใยผลจากการพัฒนา 3.กลุ่มแนวร่วมการพัฒนา และ 4.กลุ่มนักวิชาการ
โดยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 สศช. ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 สำหรับภาครัฐและเอกชนไปแล้ว และคาดว่าจะจัดการประชุมในอีก 3 กลุ่ม และประชุมร่วมทั้ง 4 กลุ่ม ได้ภายในเดือนมีนาคม 2565
2. เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดทำ SEA สำหรับแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วมกัน รวมทั้งมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และ SEA เพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้ ความเห็นชอบ TOR และกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกที่ปรึกษา ตลอดจนกำกับการจัดทำ SEA
3. จัดทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาในการจัดทำ SEA และ
4. กำกับการจัดทำ SEA ภายใต้คณะกรรมการกำกับ ตามแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง) ที่ สศช. จัดทำขึ้น ซึ่งระยะเวลาดำเนินการขึ้นอยู่กับแผนพัฒนาและขอบเขตของพื้นที่ ที่จะทำการศึกษา จากนั้นจึงจะนำผลการศึกษา SEA กับแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายระดับชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ทั้งนี้ สศช. จะ update ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ และเพจ Facebook การขับเคลื่อน
การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ – SEA
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์