“TDRI” แนะเพิ่มทักษะแรงงาน - ใช้เทคโนโลยี รับมือประชากรถดถอย

“TDRI” แนะเพิ่มทักษะแรงงาน - ใช้เทคโนโลยี รับมือประชากรถดถอย

"ทีดีอาร์ไอ" แนะรัฐบาลเดินหน้าวางแผนระยะยาวรองรับประชากรถดถอย เพิ่มทักษะแรงงาน ดันผลิตภาพการผลิต เพิ่มการใช้เทคโนโลยี เก็บภาษีบนฐานสินทรัพย์ และเก็บภาษีจากผู้มีรายได้สูงมากขึ้น เพื่อนำมาใช้เพิ่มทักษะ ความรู้ของแรงงานให้มีทักษะสอดคล้องกับอนาคต

ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเข้าสู่ภาวะ "ประชากรถดถอย" โดยคาดว่าประชากรจะลดลง หรือมีประชากรเกิดน้อยกว่าประชากรที่เสียชีวิตทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ประชากรถดถอย” ภายในอีก 30 ปีข้างหน้า

ในรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า จำนวนประชากรไทยจะริ่มลดลงในอัตรา - 0.2% ต่อปี ทำให้ในปี 2583 คาดการณ์โดยประมาณว่าประเทศไทยจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน 

 

ประชากรตามโครงสร้างประชากรแบ่งเป็น

1.วัยเด็ก (แรกเกิด - 14 ปี) มีแนวโน้มลดลง จากจำนวนรวมในปี 2563 มีจำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคนหรือ16.9% ของประชากรทั้งหมดจะลดลงเป็น 8.4 ล้านคน หรือสัดส่วนเหลือแค่ 12.8% ในปี 2583 

2.ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน หรือ18% ของจำนวนประชากรทั้งหมดนั้นจะเพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน หรือ 31.28% ของจำนวนประชากรในปี 2583 

3.ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคนหรือ 65 % ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคนหรือ 56% ในปี 2583 ลดลงประมาณ 6.7 ล้านคน  

ขณะที่อัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน

ในปี 2583 รายงานสศช.ชี้อีกว่าอัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563 เป็น 56.2 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563  

แรงงานที่ลดจำนวนลงทำให้ต้องมีการวางแผนเพิ่มคุณภาพแรงงาน และการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในการบริหารเศรษฐกิจ

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าประเทศไทยต้องมุ่งไปที่แรงงานที่มีผลิตภาพมากขึ้น เนื่องจากสังคมสูงวัย คือ มีคนเกิดน้อย ผู้สูงอายุอายุยืนยาว นั้นจะต้องพยายามให้วัยแรงงานต้องเก่งกว่าเดิม เพราะต้องช่วยดูแลทั้ง 2 วัย คือเด็กและผู้สูงวัย โดยต้องนำเอาเทคโนโลยี เข้ามาช่วยด้วย

ทั้งนี้งานแบบเดิมที่ต้องใช้แรงงานก็ต้องเอาเครื่องจักรมาช่วย หรืออัพเกรดเป็น หุ่นยนต์ หรือ โดรน นั่นคือ ทักษะแรงงานเดิมที่ขายแรงงานก็ต้องเปลี่ยนเป็น ทักษะเทคโนโลยี และทักษะการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐต้องมีบทบาทในหารให้สิทธิพื้นฐานกับประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนที่ปรับตัวไม่ได้ เช่น การเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ นอกจากนั้นการเตรียมแรงงานก็ต้องใช้ งบอุดหนุนในการปรับเปลี่ยนและเพิ่มทักษะให้กับเด็กรุ่นใหม่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพก็ต้องมีเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ทั้งนี้กับรายจ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นแปลว่า

รัฐต้องเก็บภาษีมากขึ้นอย่างน้อยอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ 

1. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องเพิ่มอัตรา และลดเพดานยกเว้น รวมทั้งป้องกันการบิดเบือนเจตนาของกฎหมาย เช่น ที่กลางเมืองไม่ควรเป็นที่เกษตร

2.ภาษีคนรวย โดยต้องเก็บภาษีในส่วนที่เป็นทรัพย์สิน (wealth tax) จัดเก็บกับคนรวยที่รวยเกินไป

3. ภาษีการใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น หุ่นยนต์ และโดรน เพื่อสร้างรายได้

“ประเทศไทยต้องการประชากรที่จะเป็นทั้งผู้บริโภคและกำลังแรงงาน จึงควรเปิดการนำเข้าต่างชาติที่มีฐานะ แรงงานทักษะสูง ผู้สูงอายุที่มาใช้ชีวิตเกษียณในไทย และคนที่ทำงานทางไกล ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีการผลักดันอยู่แล้ว แต่เรื่องยังไม่คืบหน้าครับ เช่นให้ ต่างชาติถือครองอสังหาได้เกิน 49% สำหรับคอนโด และอาจจะให้แนวราบแบบที่เป็นตลาดที่ราคาแพงมากๆ แต่แยกเป็น community ออกไปเลย คล้ายๆ China town, Thai town ของต่างประเทศ”