“ดาต้า เซ็นเตอร์” บ้านฉาง ปูทางอีอีซี “ซิลิคอน เทคพาร์ค”
เทรนด์อนาคตทั่วโลกรวมถึงไทย จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมมาประยุกต์ใช้มากขึ้น ทำให้ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ยิ่งเติบโตเพื่อรองรับการทำงานในระบบดิจิทัลที่เกิดขึ้น กลุ่มเอกชนไทยจึงร่วมจัดตั้งบริษัทดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นของคนไทยเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นในประเทศ
พล.ต.ท.ปรีดี พงศ์เศรษฐสันต์ ประธานกรรมการบริษัท อีอีซี โกลบอล คลาวด์ จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์มีกลุ่มลูกค้าสำคัญเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve โดยไม่ทิ้งกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม เพราะอุตสาหกรรมเหล่านั้นต่างกำลังพัฒนาและเริ่มนำระบบดิจิทัลและออโตเมชันเข้าไปใช้ในโรงงาน รวมถึงหน่วยราชการในระดับท้องถิ่น มีบริการหลายรูปแบบ
เช่น Infrastructure as a Service การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเพื่อรองรับการให้บริการพื้นที่เก็บข้อมูล การให้บริการแบบ Platform as a Service พัฒนาแอปพลิเคชันหรือ ซอฟต์แวร์ที่ทำงานบนคลาวด์ รวมถึงการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสร้าง Predictive Model สำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับผู้ใช้บริการ โดยบริษัทจะเริ่มเปิดให้บริการในเดือนก.ค. 2565 นี้
จากการบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัทอีอีซี โกลบอล คลาวด์ จำกัด เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2565 เป็นความร่วมมือที่อีอีซี โกลบอลคลาวด์ยินดีเดินหน้าสนับสนุนการทำงานของ สกพอ. อย่างเต็มที่ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและอุตสาหกรรมเดิมในพื้นที่
ซึ่งนอกเหนือจากการออกนโยบายที่จำเป็นแล้วข้อมูลพื้นฐานที่เรียกว่า Common Data Lake เช่น ภาพรวมอุตสาหกรรมไทย ภาพรวมแรงงานระดับการศึกษา และกฎระเบียบของหน่วยงานราชการ ก็มีความสำคัญอย่างมากสำหรับนักลงทุน ซึ่งขณะนี้ยังจัดทำไม่สมบูรณ์ สกพอ. จึงต้องการพันธมิตรที่จะเข้ามาช่วยเรื่องนี้
สำหรับโครงการในเฟสแรกที่เพิ่งลงเสาเอกไปด้วยงบประมาณลงทุน 850 ล้านบาท มีความสามารถในการรองรับข้อมูลได้ 200,000 บีซีพียู ดำเนินงานภายใต้มาตรฐานสากลในระดับ TIER 3 ของสถาบัน Uptime Institute และมาตรฐาน ISO 27001 และ ISO 9001 ซึ่งถ้าเศรษฐกิจเติบโตอย่างมากหลังวิกฤติโควิด-19 ก็จะมีการขยับขยายมากขึ้นในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งขยายตัวเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ที่อาจจัดตั้งขึ้นในประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้เสนอแผนงานในเชิงไม่แสวงหาผลกำไร อาทิ การอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานในพื้นที่ชุมชน หน่วยงานการศึกษา และการแพทย์ สามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากดาต้าเซ็นเตอร์ได้ง่าย อีกทั้งในอีก 1-2 ปี ให้มีการต่อยอดพัฒนาแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษา ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของเยาวชนไทย
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การที่มีระบบ 5G และระบบดิจิทัล สิ่งสำคัญที่สุดคือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการจัดการข้อมูล (Data Business) ที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นมารวมกันเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ โครงการที่กำลังทำนี้คือ การตั้ง ดาต้าเซ็นเตอร์ ของบริษัท อีอีซี โกลบอล คลาวด์ โดยเราให้การสนับสนุนเพราะเป็นบริษัทของคนไทยและตั้งอยู่ในศูนย์เทคพาร์คที่ให้การสนับสนุนอยู่ ก็จะเดินไปด้วยกัน
ทั้งนี้ การก่อตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ จะเป็นการเก็บข้อมูลที่มีฐานอยู่ในประเทศไทยต่างจากรายใหญ่อื่นๆ ที่เก็บไว้ในต่างประเทศ จึงอยากให้ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งในการเก็บข้อมูลของไทย อาทิ ข้อมูลการทำงานของภาครัฐ ข้อมูลของธุรกิจเอกชน ข้อมูลของบ้านฉางสมาร์ทซิตี้ก็เก็บไว้ในนี้
ซึ่งดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับอีอีซีไม่ใช่เพียงที่เก็บข้อมูลเท่านั้น แต่จะก้าวไปสู่การทำธุรกิจเชิงข้อมูลในการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐและเอกชนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เป็นข้อมูลกลางให้นักธุรกิจและคนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลนี้ได้
นอกจากนี้ พื้นที่อำเภอบ้านฉางจะเป็น “ซิลิคอน เทคพาร์ค” ศูนย์รวมนวัตกรรมใหม่ซึ่งกำลังจะก่อสร้างและใช้งานได้ภายใน
1-2 ปีข้างหน้า โดยมีอาคารดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัท อีอีซี โกลบอล คลาวด์ จำกัด เป็นอาคารแรกที่ก่อสร้างในเขตพื้นที่ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มีพื้นที่โครงการรวม 519 ไร่ รองรับงานวิจัยพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ประกอบการ 360 ไร่ รวมเงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท
ด้านศูนย์วิจัยอีไอซีของธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่ามูลค่าตลาด “ดาต้าเซ็นเตอร์” ของไทยมีแนวโน้มเติบโตช้ากว่าตลาดโลกคาดว่าช่วงปี 2563-2565 ตลาดจะปรับตัวขึ้น 20% มาอยู่ที่ราว 3.2 หมื่นล้านบาท แต่ถือเป็นการเร่งตัวขึ้นจากการเติบโตเฉลี่ยช่วงปี 2561-2563 ซึ่งโตประมาณ 19%
โดยจะมาจากการเติบโตของตลาดพับบลิคคลาวด์เป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวถึงราว 24% มาอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาทในปี 2565 เนื่องจากตลาดไพเวทคลาวด์ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางธุรกิจตัดสินใจชะลอลงทุนด้านสินทรัพย์ไอทีลง บางส่วนเปลี่ยนไปใช้งานพับบลิคคลาวด์มากขึ้น เนื่องจากใช้เงินลงทุนเริ่มต้นน้อยกว่า คาดว่า จะเติบโตราว 6% มาอยู่ที่ 6.3 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน