หุ้นแม่ลูก “STA-STGT” ยังมีเสน่ห์อยู่หรือไม่?
หากนึกถึงหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากการระบาดของโควิด-19 ต้องมีชื่อหุ้นแม่ลูก บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA และ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ติดโผล่เข้ามาด้วยแน่นอน
เพราะตั้งแต่เกิดโรคระบาด “ถุงมือยาง” ขายดิบขายดี ยอดขายทั่วโลกเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันเพื่อใช้ป้องกันเชื้อโรค จนสินค้าขาดตลาดเนื่องจากผลิตไม่ทัน ส่งผลให้ราคาถุงมือยางเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดหนักๆ ส่งผลให้ STGT ในฐานะผู้ผลิตถุงมือยางยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของโลก และเบอร์ 1 ของไทย ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ
STGT กลายเป็นหุ้นที่นักลงทุนเฝ้าจับตามองตั้งแต่ยังไม่เข้าตลาด และเมื่อถึงวันลงสนามไม่ทำให้ผิดหวัง เปิดเทรดวันแรก 2 ก.ค. 2563 ที่ 55.25 บาท เพิ่มขึ้น 62.5% จากราคไอพีโอ 34 บาท
จากนั้นราคาค่อยๆ ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง โดยขึ้นไปทำจุดสูงสุดของปี 2563 ที่ 94.50 บาท เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 ต่อมาบริษัทตัดสินใจแตกพาร์จากหุ้นละ 1 บาท เป็น 0.50 บาท เริ่มเทรดพาร์ใหม่เมื่อต้นปี 2564
และอีกไม่นานเริ่มมีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง กลายเป็นปัจจัยบวกรอบใหม่ ดันราคาหุ้นขึ้นไปทำออลไทม์ไฮที่ราคาพาร์ใหม่ 49 บาท เมื่อช่วงเดือนพ.ค. 2564
แต่หลังจากนั้นราคาหุ้นเปลี่ยนทิศเป็นขาลงทันที หลังประชาชนเริ่มปรับตัวอยู่กับโรคระบาดได้มากขึ้น มีการฉีดวัคซีน มีการพัฒนายาออกมารักษาผู้ป่วย ส่วนเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่ขณะนี้กลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลก ไม่ได้รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์เดลตา ทำให้สถานการณ์โรคระบาดผ่อนคลายลงไปมาก จนกดดันราคาหุ้น STGT ร่วงหนัก ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2564
ด้านหุ้นแม่ STA ไม่ต่างกับหุ้นลูก ราคาเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมาโดยตลอด ช่วงไหนถ้าลูกดีขายถุงมือยางได้เยอะก็จะส่งผลบวกกลับมาที่หุ้นแม่ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยราคาหุ้น STA ขึ้นไปทำออลไทม์ไฮที่ 56.75 บาท เมื่อต้นเดือนมี.ค. 2564 ก่อนค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาจนถึงปัจจุบัน
โดยล่าสุดในการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 ก.พ.) หุ้นแม่ลูก STA-STGT ถูกถล่มขายหนัก หลังประกาศผลประกอบการปี 2564 แม้ภาพรวมกำไรสุทธิของทั้งคู่จะกอดคอทำสถิติใหม่ได้สำเสร็จ โดย STA มีกำไรสุทธิ 15,846.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.26% จากปีก่อน และ STGT มีกำไรสุทธิ 23,704.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.60%
แต่หากเจาะดูเป็นรายไตรมาสแล้วค่อนข้างน่าผิดหวัง แม้ตลาดคาดการณ์ไว้แล้วว่างบฯ ไตรมาส 4 ปี 2564 จะชะลอตัวจากราคาขายเฉลี่ยถุงมือยางที่ปรับตัวลดลง แต่กำไรที่ออกมาจริงกลับต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้
โดย STGT มีกำไรสุทธิ 1,839.70 ลดลง 59.4% จากไตรมาสก่อน และลดลง 78.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน STA มีกำไรสุทธิ 2,419.70 ล้านบาท ลดลง 53.4% จากไตรมาสก่อน และลดลง 73.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ผลประกอบการที่อ่อนแอกลายเป็นปัจจัยถ่วงราคาหุ้น โดย STA และ STGT ติดอันดับ 10 หลักทรัพย์ที่ราคาปรับตัวลดลงมากที่สุด STA ดิ่งแรง 5.71% ลงมาปิดที่ 30.25 บาท ส่วน STGT ร่วง 5.04% ปิดที่ 28.25 บาท
เห็นราคาหุ้นดิ่งแรง ประกอบกับแนวโน้มผลประกอบการที่คงไม่หวือหวาดังเช่นในอดีต นักลงทุนคงมีคำถามเหมือนกันว่า อดีตหุ้นแม่ลูกดาวเด่นคู่นี้จะยังน่าสนใจอยู่อีกหรือไม่? ผลประกอบการได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปหรือยัง? หรือจะมีสตอรี่อะไรใหม่ๆ เข้ามาดันราคาหุ้น?
เชื่อว่าทั้ง 2 บริษัทย่อมมีการประเมินสถานการณ์และเตรียมแผนรับมือไว้แล้ว โดย STA มั่นใจว่ายอดขายยางธรรมชาติปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ ประกอบกับราคายางยังทรงตัวในระดับสูง รวมทั้งมีการรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ปลูกกัญชง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจถุงมือยางของ STGT ยังกดดัน เพราะกำไรคงไม่ได้ร้อนแรงเหมือนในอดีตจากราคาขายที่ลดลง อย่างไรก็ตามในช่วงสั้นนี้คงต้องรอติดตามว่าแผนซื้อหุ้นคืนวงเงิน 3.6 พันล้านบาท ระหว่างวันที่ 7 มี.ค.-6 ก.ย. นี้ จะช่วงดึงราคาหุ้น STGT กลับมาผงาดได้อีกครั้งหรือไม่?