‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ที่32.16บาทต่อดอลลาร์
“กรุงไทย” จับตาเงินบาทยังได้รับแรงหนุนแรงขายทองทำกำไร จับตาฟันด์โฟลว์ต่างชาติเริ่มขายทำกำไรหุ้นมากขึ้น ส่วนเงินดอลลาร์ยังแรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ระดับ 32.19-32.20บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(21ก.พ.) ที่ระดับ32.16บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 32.18 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.00-32.40 บาทต่อดอลลาร์และกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.10-32.20 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก แม้ตลาดจะปิดรับความเสี่ยง เนื่องจากเงินบาทยังคงได้แรงหนุนด้านแข็งค่าจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ อย่างไรก็ดี ต้องติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะเริ่มขายทำกำไรหุ้นไทยมากขึ้นหรือไม่ หลังจากในช่วงที่ผ่านมาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้ไหลเข้าสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
ทั้งนี้ ในระยะสั้น เรามองว่า แนวรับสำคัญยังคงเป็นโซน 32.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้นำเข้าก็ต่างรอซื้อเงินดอลลาร์และนักลงทุนต่างชาติบางส่วนก็อยากขายทำกำไร ณ โซนดังกล่าว ส่วนแนวต้านที่สำคัญนั้น เราคาดว่าผู้ส่งออกจะรอขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงใกล้ช่วง 32.40-32.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้โซนดังกล่าวจะเป็นแนวต้านสำคัญในระยะนี้
ส่วนเงินดอลลาร์ยังคงมีแรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนโดยเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและพร้อมปิดรับความเสี่ยงอย่างรวดเร็ว หากรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน ซึ่งจะหนุนให้สินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับราคาทองคำที่อาจปรับตัวขึ้นต่อได้
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนหนักและปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลว่ารัสเซียจะบุกโจมตียูเครน
สำหรับสัปดาห์นี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดโดยทิศทางของความขัดแย้งดังกล่าวอาจส่งผลต่อแนวโน้มตลาดการเงินในระยะสั้นได้
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป PCE สหรัฐฯ ในเดือนมกราคมมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 6.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงานก็เร่งขึ้นแตะระดับ 5.1% เช่นกัน ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นและอาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จะส่งผลให้เฟดสามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเรามองว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ราว 0.25% ในการประชุม FOMC เดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ(Markit Manufacturing & Services PMIs) เดือนกุมภาพันธ์ ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56 จุด และ 53 จุด (ดัชนีเกินระดับ 50 จุด หมายถึงภาวะขยายตัว)
ฝั่งยุโรป – ความเสี่ยงสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดโดยตลาดการเงินพร้อมปิดรับความเสี่ยงอย่างรวดเร็ว หากทั้งสองฝ่ายเปิดฉากโจมตี ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและถือสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ เงินดอลลาร์ เงินเยน (JPY) รวมถึงทองคำและพันธบัตรรัฐบาลได้ สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ตลาดประเมินว่า สถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในยุโรปที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนักจะทำให้ทั้งภาคการผลิตและการบริการกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นได้ โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนกุมภาพันธ์จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.7 จุด และ 52 จุด ตามลำดับ นอกจากนี้ ตลาดยังมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (Ifo Business Climate) เดือนกุมภาพันธ์ยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นแตะระดับ 96.5 จุด สะท้อนมุมมองของภาคธุรกิจต่อทิศทางสภาวะธุรกิจที่เป็นบวกมากขึ้น หลังการระบาดโอมิครอนเริ่มคลี่คลายลง ทว่าปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามยังคงเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงครามได้
ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่าผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนในญี่ปุ่นอาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคการบริการญี่ปุ่นยังคงหดตัวอยู่ โดย ดัชนี PMI ภาคการบริการในเดือนกุมภาพันธ์จะยังอยู่ที่ระดับ 48 จุด ทั้งนี้ แนวโน้มสถานการณ์การระบาดที่อาจผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว กอปรกับการที่รัฐบาลไม่ได้ประกาศใช้ State of Emergency จะช่วยหนุนให้ภาคการบริการของญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวได้ อนึ่ง แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจนิวซีแลนด์และเกาหลีใต้ รวมถึงแรงกดดันจากเงินเฟ้อ อาจหนุนให้ธนาคารกลางทั้งสองประเทศสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ โดยตลาดมองว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางเกาหลีใต้(BOK) อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 1.00% และ 1.50% ตามลำดับ ส่วนในฝั่งประเทศจีน แนวโน้มการบริโภคที่ยังคงซบเซาอยู่ สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลง อาจหนุนให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) คงอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้ชั้นดี (Loan Prime Rate) ประเภท 1 ปี และ 5 ปี ไว้ที่ระดับ 3.70% และ 4.60% ตามลำดับ และอาจปรับลดลงได้ในอนาคตเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
ฝั่งไทย – ตลาดมองว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมาอาจโตได้ +0.7%y/y ตามการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ตลอดทั้งปี 2021 เศรษฐกิจอาจโตได้ราว+1.0%y/y ส่วนยอดการส่งออกในเดือนมกราคมมีแนวโน้มขยายตัวราว +18%y/y ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกหลังการระบาดโอมิครอนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก อย่างไรก็ดี ยอดการนำเข้าอาจพุ่งขึ้นกว่า+21%y/y จากราคาสินค้าพลังงานที่เร่งตัวสูงขึ้น ทำให้ดุลการค้าในเดือนมกราคมอาจขาดดุลเล็กน้อย อนึ่ง ควรติดตามสถานการณ์การระบาดโอมิครอนในประเทศหลังยอดผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงขึ้นและอาจสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขได้ หากอัตราครองเตียงเริ่มพุ่งขึ้น